ใกล้เดินถึงจุดแตกหัก! 'จตุพร' ชี้เปรี้ยงเข้าทางทุนผูกขาด-มหาอำนาจ เล็งสูบโกยประเทศไทย


เพิ่มเพื่อน    

จตุพร-ประธานนปช. จวกยับคณะกรรมการปรองดองฯ แค่ซื้อเวลา สิ้นเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์  เชื่อขัดแย้งใกล้เดินถึงจุดแตกหัก เพราะต่างฝ่ายต่างหมดความอดทน คาดภาวะโกลาหลอีกไม่ไกล เข้าทางทุนผูกขาด-มหาอำนาจ เป็นภัยสูบโกยทำประเทศล่มจม

30 ต.ค.63 - ​ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊กไลฟ์ peace talk วานนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ส่งเสียงให้เชื่ออีกครั้งในเรื่องการแก้ รธน. ทั้งแก้ ม.256 และแก้ ม.272 เรื่องอำนาจวุฒิสภาโหวตเลือกนายกฯ รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการ (คกก.) สมานฉันท์ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การเปล่งวาจาให้เชื่ออีกครั้งนั้น มีนัยสำคัญว่า เราเดินมาถึงจุดที่ความเชื่อไม่มีเหลือในแผ่นดินกันอีกแล้ว คือ เดินมาถึงจุดที่ไม่มีใครฟังใครอีกต่อไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ ผู้นำออกมาพูด คงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำว่า "ขอให้เชื่ออีกสักครั้ง" เพราะสิ่งนี้มีนัยว่า ความน่าเชื่อถือไม่เหลืออีกแล้ว

"บทเรียนตั้ง คกก.สมานฉันท์นั้น ตลอดเวลากว่า 10 ปีมานี้ คำว่าสมานฉันท์เป็นคำล้มละลาย คำว่าปรองดอง แปลความว่าเป็นรื่องหลอกลวงกัน เพราะไม่เคยมีอยู่จริง ปัญหาของชาติที่ผ่านมา การตั้ง คกก.สมานฉันท์กี่ยุคสมัยนั้น ไม่เคยนำมาแก้ไขปัญหาชาติได้แม้แต่เพียงครั้งเดียว”

อีกอย่าง หากการตั้ง คกก.สมานฉันท์มีผลรูปธรรมแล้ว ประเทศนี้สมานฉันท์กันมานานแล้ว แต่ตลอดเวลาประเทศไทยกลับอยู่ในวังวน อยู่กับการตั้งกรรมการสมานฉันท์ เมื่อศึกษาครบถ้วนแล้วไม่มีใครเอามาทำแม้แต่รายเดียว แต่อาจมีเหตุกล่าวอ้างไปว่า หลังจากศึกษาเสร็จก็พ้นจากวาระหรือถูกยึดอำนาจ

ดังนั้น ถ้าประเทศยังอยู่ในสภาพเช่นนี้อีกต่อไปนั้น เราไม่มีวันแก้ไขปัญหาชาติได้ ตนไม่เคยปฏิเสธคำชวนไปคุยเรื่องปรองดองและสมานฉันท์แม้แต่ครั้งเดียว ให้ความร่วมมือมาตลอด ทั้งที่รู้ว่าถูกหลอกอีกแล้ว แต่เรามีความปรารถนาว่า ประเทศจะอยู่ท่ามกลางความเกลียดชังไม่ได้ เพราะประเทศใดถ้าประชาชนอยู่ด้วยความเกลียดชังระหว่างกัน ประเทศนั้นไม่มีโอกาสพัฒนา เพราะต่างฝ่ายมุ่งทำลายล้างกันและกัน ดังนั้น คำว่าขอให้เชื่ออีกครั้ง แปลความว่า ที่ผ่านมามันคืออะไร

นายจตุพร อธิบายว่า การศึกษาเรื่องสมานฉันท์ ถ้ารื้อค้นการศึกษาในอดีตแล้ว พบว่าทำได้ครบถ้วน และไม่ต้องศึกษาใหม่อีก สอิ่งที่เหลืออยู่มีอย่างเดียวคือ การปฏิบัติเท่านั้น อีกทั้งเมื่อศึกษาแล้วส่งไปให้รัฐบาล ก็ไม่มีผลต่อการปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น และวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องการศึกษาอีก แต่เป็นการลงมือกระทำ แล้วท้ายที่สุดตัวละครเดิมก็ถูกชวนมานั่งประธานสมานฉันท์ ศึกษาเสร็จก็ส่งให้ผู้มีอำนาจเก็บไว้ในลิ้นชักเหมือนทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา

“ดังนั้น อย่าได้สงสัยอะไรเลยว่า ทำไมประชาชนไม่เชื่อ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ แต่มีมาหลายรัฐบาลแล้ว เนื่องจากระบบคิดทางอำนาจ คือ ความขัดแย้งเป็นช่องว่างของการครองอำนาจ และยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาชาติ”

ส่วนการแก้ไข รธน.นั้น ความจริงคำถามพ่วงให้ สว.โหวตเลือกนายกฯ แต่คนแต่งตั้งวุฒิสภาคือผู้เสนอตัวเป็นนายกฯของพรรคการเมือง จึงกลายเป็นปัญหามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ทั้งที่รู้ว่าไม่มีความจำเป็น ถ้าเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงครึ่งมันก็ไม่มีความหมาย เนื่องจากสิ่งสำคัญคือ มันได้ทำลายอารมณ์ความรู้สึกเรื่องประชาธิปไตย

รวมทั้ง คนเสนอให้ สว. 250 คนมาโหวตนายกฯนั้น เขาพยายามถอน ยังเรียกร้องให้แก้ไขในทุกวันนี้ เพราะมันเป็นรอยตำหนิด่างพร้อยทางการเมือง จะมาอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ทั้งที่ไม่มีผลอะไรหากไม่สามารถมีเสียง สส. เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่การเสนอเช่นนั้นเป็นแค่อยากเอาเปรียบ เอาความสะใจเป็นเบื้องต้นเท่านั้น แต่กลายเป็นที่มาของปัญหาถึงปัจจุบัน

"วันนี้ ผมเชื่อว่า ไม่มีทาง สว.จะได้โหวตเลือกนายกฯอีกครั้งหนึ่ง แม้ รธน.มาตรา 272 ไม่ได้แก้ไขก็ตาม ลองสิว่าใครมันจะกล้าโหวตกันอีก เพราะบ้านเมืองเดินมาถึงจุดปัจจุบันนี้ เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบไม่ใช่หรือ"

นายจตุพร เชื่อว่า การแก้ รธน.นั้น เป็นเรื่องของความพยายามจะแก้ปัญหาชาติจากความขัดแย้งเดิม แต่กลับกลายเป็นความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะหลักคิดที่ไม่ต้องการแก้ไขปัญหาและสร้างความสมานสามัคคีคนในชาติอย่างจริงจังนั้น แล้วเราเดินมาถึงจุดเดิมอีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดมีความเสี่ยงที่สุด และน่าเป็นห่วงกว่าสถานการณ์ในห้วง 15 ปีมานี้

นอกจากนี้ แม้ไม่มีความพยายามหาทางยุติความขัดแย้งอย่างจริงจัง แต่กลับตั้ง คกก.สมานฉันท์ ซึ่งตนเชื่อว่า ไม่มีความหมาย และพล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องรู้ คกก.ชุดนี้ทำอะไรบ้างในการสมานฉันท์ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองเงินในการจัดการประชุมอีก เพราะประเทศนี้หมดเงินกับการตั้งกรรมการศึกษาปัญหาแบบนี้กันมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติ

"อีกอย่างสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้เดินมาไกล โดยมีภัยคุกคามมากมาย ดังนั้น วันนี้สิ่งต้องพิสูจน์อันสำคัญคือ การกระทำ เพราะคนไม่เชื่อคำพูดกันอีกแล้ว จนไม่มีใครฟังใครกันอีกต่อไป ถ้าการดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ประกาศไม่ลาออก ท่านก็ต้องเผชิญวิบากกันต่อไป"

อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ของประเทศไทย ยังมีเรื่องสำคัญเข้ามาแทรกซ้อน คือต้องจับตาเผด็จการทางเศรษฐกิจ ทุนผูกขาดและภัยคุกคามจากมหาอำนาจจ้องทำลาย ซึ่งเป็นภัยที่ร้ายที่สุด

ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มทุนผูกขาดในประเทศไทย เอาเปรียบประชาชนคนส่วนใหญ่ของชาติมายาวนาน ไม่มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นอภิสิทธิ์ชน ปิดหนทางการทำมาค้าขายอย่างสุจริต ภูมิปัญญาชาวบ้านถูกสกัดโดยกลุ่มทุนใหญ่

“กลุ่มทุนผูกขาดพวกนี้ได้ผลประโยชน์เสมอทั้งในยามบ้านเมื่องเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ล้วนได้ประโยชน์ทุกการปกครอง เพราะทุนผูกขาดได้วางระบบ วางการจัดการในทุกขบวนการของประเทศไทย และไม่มีใครไปต่อสู้อะไรได้ ประชาชนมองตาพริบๆ แล้วท้ายที่สุดทุนที่ได้จากการผูกขาดโดยมิชอบ ก็ไปซื้อกระดานทางการเมืองหมด ยึดอำนาจพวกนี้ก็มีหน้าที่สนับสนุน แต่ประชาชนกลับเป็นผู้รับชะตากรรม ดังนั้น พวกนี้จึงเป็นภัยเผด็จการทางเศรษฐกิจ และทุนผูกขาดทั้งหลาย ร้ายกาจที่สุด โดยหาประโยชน์จากประเทศที่มีความขัดแย้ง"

นายจตุพร กล่าวว่า ประเทศที่อยู่ในสภาพแบบนี้ และกำลังเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยาวนาน แต่ยังปล่อยให้มีการผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการกระจายรายได้ ทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แล้วผลประโยชน์ของประเทสก็ถูกสูบไปรวมอยู่กับคนไม่กี่คนในแผ่นดินนี้

ส่วนภัยคุกคามจากมหาอำนาจนั้น พิจารณาได้จากโรคแทรกในความแตกแยก เพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในไทย เมื่อพิจารณาจากปรากฎการณ์โลกแล้ว เราจะพบว่า โลกเสรีประชาธิปไตยไม่เคยมีอยู่จริง การรัฐประหารที่เกิดขึ้น โลกเสรีไม่ได้ใส่ใจสิ่งเหล่านี้ ดูจากยึดอำนาจเสร็จก็ซื้ออาวุธและรับรองรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้น จึงไม่มีประเทศเสรีประชาธิปไตยจริง นอกจากเอาประโยช์ของประเทศตัวเองเท่านั้น

นายจตุพร เสนอว่า ฝ่ายความมั่นคงควรทำวิจัยคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในไทยทุกตารางนิ้ว อีกทั้งฝ่ายมีหน้าที่รับผิดชอบควรอธิบายการสร้างความไม่สบายใจระหว่างมหาอำนาจแต่ละชาติบนผื้นดินไทยในลักษณะชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

"หลายสถานการณ์ที่ปรากฎในทุกวันนี้ ประเทศไทยถึงจุดมีความเสี่ยง และถ้าเราเดินถึงจุดนั้นจะรับผิดชอบกันไหวหรือไม่ สิ่งสำคัญคือ สถานการณ์ที่เปราะบางนี้ เมื่อเดินมาถึงจุดทั้งสองฝ่ายต่างหมดความอดทน ผมว่าน่ากังวล แปลความว่าไม่พร้อมจะทนกันทั้งสองฝ่าย และผมเห็นว่ากำลังจะเดินไปถึงจุดใกล้เต็มทีแล้วเหมือนกัน เพราะการเดินของแต่ละฝ่ายกำลังไปบรรจบกันในการหมดความอดทน ไม่รู้ใครเป็นใคร บ้านเมืองจะมีความโกลาหล"

ดังนั้น คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องคิดว่า จะช่วยถอดสลักภัยที่เป็นปัญหาในชาติ และภัยคุกคามจากต่างชาติหรือไม่ และเอาประเทศให้อยู่รอดได้อย่างไร ส่วนตนยังยืนในจุดยืนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลับถูกกล่าวหาจากคนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตนไม่กังวลอะไร ยังเป็นคนตามแบบฉบับนี้เช่นเดิม คือไม่แสวงหาความชื่นชม ชื่นชอบ และเกียรติยศทางการเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"