นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ วธ.ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณารายละเอียดปรับเนื้อหาของการจัดการเรียนการสอนด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของไทยเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติในแต่ละช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม ที่ผ่านมา วธ.ได้มีการหารือกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และ ศธ.อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาศิลปวัฒนธรรม ศาสนา คุณธรรมจริยธรรมและประวัติศาสตร์ในระดับชั้นต่างๆ กลับมาอีกครั้ง เดิมเคยมีวิชานี้อยู่ แต่ภายหลังได้มีการปรับเรื่องของกลุ่มสาระวิชารวมกันให้อยู่ในวิชาสังคมศึกษา ทำให้เด็กและเยาวชนอาจไม่ได้มีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นการเฉพาะ
นายอิทธิพล กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการบรรจุหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จะทำให้เด็กได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กได้เข้าใจบริบทของการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ล่าสุด อยู่ระหว่างการดำเนินงานตรวจสอบ และปรับรายละเอียดของเนื้อหาที่ขาดหายไป และให้แยกออกจากวิชาสังคมศึกษา เป็นวิชาประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา โดยจะดำเนินการร่วมกับ ศธ.อย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากจะต้องมีการปรับหนังสือแบบเรียนด้วย คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีการศึกษาที่ 2 ของปี 2563 เพื่อให้ทันการใช้ในการเปิดภาคเรียนปีการศึกษาที่ 1 ของปี 2564
“ นอกจากนี้ วธ. ยังได้ดำเนินการจัดทำชุดองค์ความรู้เกี่ยวกับงานประเพณีวัฒนธรรม และมรดกของชาติ ข้อปฎิบัติและบริบทการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย ผ่านทางสื่อโซเลียลมากขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ภาคภูมิใจความเป็นไทย โดยจะใช้กิจกรรมวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทยเหล่านี้เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์อันดี ตั้งแต่คนในครอบครัว ชุมชน สังคม และคนในประเทศ มีกิจกรรมทำร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจกับคนทุกช่วงวัย ไม่ให้รู้สึกห่างไกลกันออกไป เรื่องของงานทำบุญ งานประเพณีต่างๆ อยู่เหนือความคิดเห็นทางการเมืองและความคิดที่แตกต่าง ไม่มีสีเสื้อ ทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมได้และยังได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน สร้างความปรองดอง ช่วยลดความตึงเครียดจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นลงได้” นายอิทธิพล กล่าว