อานันท์:ผิดมา7ปีแล้ว ชี้'ประยุทธ์-ม็อบเด็ก'พูดคนละภาษา/'พระปกเกล้า'หนักใจ


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กป้อม" ปัดข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ พูดชัดไม่มีปฏิวัติ "ชวน" ยัน กก.สมานฉันท์ไม่ใช่ซื้อเวลา วอนทุกฝ่ายเข้าร่วม "พปชร.-ปชป." หนุนตั้ง กก.สมานฉันท์ "เพื่อไทย" ย้อนถามรายงาน กก.ปรองดองชุด คสช.อยู่ที่ไหน "ก้าวไกล" ย้ำเงื่อนไข "ประยุทธ์" ลาออก สถาบันพระปกเกล้าคาดส่งโครงสร้าง กก.ปรองดองให้ประธานรัฐสภาได้ 2 พ.ย.นี้ รับหนักใจหวั่นซ้ำรอยเดิม มีเรื่องสถาบันหลักเข้ามาเกี่ยวข้อง “อานันท์” โผล่ชี้ม็อบเด็กเทียบไม่ได้กับยุคตุลา แค่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ซัดรัฐบาลผิดมา 7 ปีแล้ว
    ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) วันที่ 29 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสนอทางออกประเทศให้ปฏิวัติ ถวายคืนพระราชอำนาจ เปิดทางตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าไม่มีการปฏิวัติ เมื่อถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่มีข้อเสนอดังกล่าวมาออกมาช่วงนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่ทราบ
    พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการเดินทางมากระทรวงดีอีเอสว่า ไม่ได้มามอบหมายอะไรเป็นพิเศษกับดีอีเอส เป็นเพียงการตรวจการปฏิบัติงาน ส่วนผู้ชุมนุมใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นสื่อหลักรวมพล จะกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาติดตามอยู่แล้ว และเมื่อถามถึงที่หลายกระแสระบุว่าภาครัฐยังเข้าถึงโซเชียลไม่เท่ากับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น พล.อ.ประวิตรย้อนถามสื่อมวลชนว่า “คุณรู้ได้อย่างไร ผมเข้าถึง เข้าถึงมากกว่า”
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอนายสนธิ โดยหัวเราะแล้วกล่าวว่า "ไม่กล้ามองเรื่องนี้ และไม่ทราบเรื่องว่ามีข้อเสนออย่างไร ถ้าเขาพูดให้ไปถามเขา เพิ่งทราบจากคำถามนี้แหละ และไม่เคยได้ยินข้อเสนอนั้น
    นายวิษณุยังกล่าวถึงข้อเสนอการตั้งกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อหาทางออกร่วมกันผ่านกลไกรัฐสภาว่า ไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่วนการเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามาเป็นตัวกลาง และให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าร่วมด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่นายชวนจะกำหนดรายละเอียด ซึ่งต้องมาจากข้อเสนอแนะของ ส.ส. และ ส.ว. และเห็นพ้องกันทุกฝ่าย ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการโยนให้ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะดำเนินการ เนื่องจากเคยทำแล้วสมัยนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา และตั้งนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานมาแล้ว
วอนทุกฝ่ายร่วม กก.สมานฉันท์
    ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้มอบให้ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ประสานไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสอบถามถึงการบรรจุระเบียบวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติในวาระรับหลักการ ว่าจะให้รอพิจารณาไปพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์หรือไม่ เท่าที่ทราบบางพรรคบอกว่าสมควรรอ บางพรรคบอกว่าขอนำกลับไปหารือในพรรคก่อน แต่ยังไม่มีพรรคใดปฏิเสธว่าไม่สมควรรอร่างไอลอว์ ขณะนี้ยังมีเวลาประสานงานอยู่ เพราะสภากว่าจะเปิดประชุมจริงๆ คือวันที่ 4 พ.ย. แต่ถ้าจะรอพิจารณาไปพร้อมกับร่างของไอลอว์ต้องรอหลังจากวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งคาดว่าน่าจะชัดเจนออกมาในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย.
    นายชวนกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกประเทศ ที่นายกฯ มอบให้รัฐสภาเป็นผู้รับผิดชอบว่า ได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพื่อให้ไปศึกษาและกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยสถาบันต้องไปคุยกับผู้ที่เสนอให้ตั้งกรรมการว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร จะได้รู้แนวทางในการตั้งว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง ส่วนตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธานค่อยว่ากันทีหลัง ขอให้ได้รูปแบบก่อน แต่เรามีคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์อยู่แล้ว
    เมื่อถามถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเป็นการซื้อเวลานั้น นายชวนย้อนถามกลับว่า ใครซื้อ ใครเป็นคนขาย เรื่องนี้ไม่ขอวิจารณ์อะไร แต่ทุกคนต้องทำหน้าที่ภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง และอยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด อย่าเพิ่งไปมองว่าเป็นฝ่ายค้านหรือนักศึกษา อยากให้มองภาพรวมว่าทุกคนที่มีบทบาท มีความรู้ความสามารถ และมีประโยชน์ก็ควรเข้ามาร่วมด้วย
    น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร รวมทั้งคณะรัฐมนตรี มีความจริงใจที่จะร่วมแก้ปัญหากับทุกฝ่าย ทั้งนี้ขอให้ฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นถึงความตั้งใจจริงนี้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ขอให้ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อหาทางออกร่วมกันผ่านกลไกรัฐสภา ฝ่าวิกฤติประเทศ
    "พปชร.พร้อมสนับสนุนแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาดว่ารัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วนในเดือน พ.ย.นี้" น.ส.พัชรินทร์กล่าว
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เรื่องตั้ง กก.สมานฉันท์ว่า ได้รับเสียงตอบรับเห็นพ้องจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี มีเจตนารมณ์คือ ต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ การพูดคุยเพื่อแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันจากทุกฝ่ายจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศ
เชื่อหาทางออก ปท.ได้
    ส่วนที่ห่วงว่าฝ่ายค้านและฝ่ายผู้ชุมนุมจะไม่เข้าร่วมใน กก.ชุดดังกล่าว นายราเมศกล่าวว่า ไม่อยากให้คิดไปก่อนล่วงหน้า เพราะจากการพูดคุยกับหลายคนที่อยู่ฝ่ายค้าน ก็เห็นด้วยที่จะเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อว่าตัวแทนผู้ชุมนุมจะส่งตัวแทนมาร่วมด้วย การตั้งต้นด้วยการยึดประโยชน์ของประเทศเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ มาช่วยกันคิด ร่วมกันทำ เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กล่าวว่า ถ้าแนวความคิดการตั้ง กก.สมานฉันท์ได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย จะเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศ แต่เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีแล้วว่าไม่เห็นด้วย เป้าหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการ คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งสถานเดียว จึงทำให้หนทางความสำเร็จของ กก.สมานฉันท์เพื่อหาทางออกให้ประเทศดูริบหรี่และเลือนรางขึ้นมาทันที
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การตั้ง กก.สมานฉันท์เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรืองอำนาจ มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรเรียกทุกกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนในหลายพื้นที่มาให้ข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานสร้างความสามัคคีปรองดองก่อนจะสรุปความคิดเห็นร่างสัญญาประชาคม อยากทราบว่ารายงานฉบับนั้นอยู่ที่ไหน เพราะครั้งนั้นใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดทำ จึงเป็นการใช้งบประมาณที่สูญเปล่ามาก
    "การจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ครั้งนี้ก็ไม่น่าจะต่างกัน เพราะหลักเกณฑ์อะไรก็ไม่มี จะไปเชิญกลุ่มไหนมาก็ไม่ชัด แล้วจะใช้อะไรเป็นแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้ง" นายสมคิดกล่าว
    นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ปัญหาของประเทศในขณะนี้เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศ คือตัวนายกฯ หนทางเดียวในขณะนี้คือต้องยอมรับถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศ การแก้ไขปัญหาต้องแก้ให้ถูกจุด ตัวนายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
ย้ำนายกฯ ต้องลาออก
    นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงข้อเสนอการตั้ง กก.สมานฉันท์ว่า ต้องขอดูรายละเอียดกรรมการ สัดส่วน จุดประสงค์ เนื้อหาเป็นอย่างไร ต้องพูดคุยกันเยอะ ทำด้วยความระมัดระวัง ต้องดูองค์ประกอบ แก้ปัญหาให้บ้านเมืองจริงหรือไม่ หรือเพิ่มความขัดแย้งประวิงเวลาอย่างที่เคยมีมา ถ้ายื้อเวลาหรือยื้ออำนาจเราก็ไม่ต้องการให้คณะกรรมการนี้เป็นเครื่องมือ ต้องพิจารณาอย่างประณีตถี่ถ้วน
    น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ ครม.ไม่ควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ผูกติดของการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดความชอบธรรมในการเข้ามีส่วนการปรองดองไปแล้ว การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ อันดับแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก และเปิดทางการสรรหาคนที่จะมาเป็นนายกฯ ต่อไป
    นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวว่า การตั้ง กก.สมานฉันท์ชุดนี้ต้องไม่ใช่การตั้งเพื่อยืดอายุและซื้อเวลาให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ต้องเป็นไปเพื่อปลดล็อกความขัดแย้งในสังคม ขั้นตอนแรกจำเป็นต้องปลดล็อก พล.อ.ประยุทธ์ออกจากการเป็นนายกฯ ก่อน เพราะหากไม่ปลดล็อกจะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมขณะนี้ได้เลย
    นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการกลัดกระดุมเม็ดแรกต้องกลัดให้ถูกจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ที่นายพิธานำเสนอ แต่เป็นการเสนอการกลัดกระดุมด้วยมือข้างเดียว ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การให้ พล.อ. ประยุทธ์ลาออกยังมีเหตุผลไม่เพียงพอ ประชาชนส่วนข้างมากทั่วประเทศอาจยังไม่เห็นด้วย การกลัดกระดุมเม็ดแรกที่จะแก้ไขปัญหาได้ต้องใช้สองมือช่วยกัน
    "ต้องเริ่มจากการที่รัฐสภาร่วมกันหาวิธีทำประชามติขอความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้อย่างไร แก้แค่ไหนก่อน เมื่อมีประชามติออกมาแล้ว ทุกฝ่ายต้องยอมรับตามระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งหลักในสังคมไทยจึงจะลดลงได้ กระดุมเม็ดที่ 2 คือรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามผลประชามติของคนไทยทั่วประเทศ และกระดุมเม็ดที่ 3 เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นายกฯ ยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ ให้ได้นายกฯ ใหม่ตามรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง" นพ.ระวีกล่าว
พระปกเกล้ารับหนักใจ
    ทางด้านนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรณีที่ประธานรัฐสภามอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า พิจารณาโครงสร้าง กก.ปรองดองสมานฉันท์ว่า เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน ซึ่งได้รับมอบหมายหลัง จากนี้จะพิจารณาทำโครงสร้างเสนอกลับไปให้นายชวนพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเสนอได้ภายในวันจันทร์ที่ 2 พ.ย. ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างไร ต้องรอเสนอให้กับประธานรัฐสภาพิจารณาก่อน
    นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า วันที่ 30 ต.ค. เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้านัดหารือเป็นการภายในก่อน เบื้องต้นจะเตรียมความพร้อมและข้อมูล รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง โดยรูปแบบไม่ควรซ้ำกับกรรมการชุดต่างๆ ที่ผ่านมา เพราะไม่เคยมีฝ่ายใดนำไปปฏิบัติ แนวทางที่ทำได้คือการทำหน้าที่คนกลาง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุม พูดคุยเพื่อตกลงและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งรูปแบบคล้ายกับการพูดคุยสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และเชิญแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พูดคุย แต่รอบนั้นไม่ได้ข้อเสนอ เพราะเกิดการเผชิญหน้ากัน สิ่งที่ต้องพิจารณาคือการออกแบบ รูปแบบการทำงาน และกำหนดองค์คณะ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม
    ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธการร่วมวง กก.สมานฉันท์ เพราะมองว่าซื้อเวลาให้รัฐบาลปัจจุบัน นายสติธรกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยควรฟังและพิจารณาถึงรูปแบบการทำงานก่อนประกาศจุดยืน เพราะอาจตกขบวนได้ ซึ่งยอมรับถึงความหนักใจที่สถาบันได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สนับสนุน เพราะประเด็นที่ต้องหาทางออกไปไกลกว่าการขัดแย้งหรือปัญหาทางการเมือง แต่มีเรื่องของการปฏิรูปสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ กรรมการที่เกิดขึ้นต้องร่วมออกแบบ และคิดว่าจะนำปัญหาใดพูดคุยกันก่อน ส่วนเรื่องละเอียดอ่อนนั้นจะพิจารณาภายหลัง  
    วันเดียวกัน มีการจัดเวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 13 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้หลายคนเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองเราอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่คนในรุ่นตนมองว่าไม่ได้ผิดปกติอะไร เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งในระยะ 88 ปีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
    “ในสายตาของผม พูดได้เลยว่าอันนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น สำหรับผมนั้นเป็นดิจิทัล อิกนอแรนท์ เพราะไม่ได้ต้องการและไม่มีความอยากเข้าสู่ดิจิทัลเลย ถ้าเปรียบเทียบประวัติศาสตร์โลก ข้อขัดแย้งของเมืองไทยทุกสมัยเป็นข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่ไม่ใช่ระหว่าง 2 ฝ่าย จริงๆ แล้วระหว่างคน 2 กลุ่มเท่านั้น เป็นข้อพิพาททางการเมืองโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง เป็นเรื่องส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ความวุ่นวายในปัจจุบันจะไม่พูดถึงข้อเรียกร้องของเขา ความวุ่นวายในปัจจุบันมันอ่อนดีกรีมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ต.ค.16 หรือ 6 ต.ค.19 ซึ่งเป็นข้อพิพาททางด้านการเมือง ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์จบด้วยการปะทะกัน”
ผิดมา 7 ปีแล้ว
     นายอานันท์ยังตอบคำถามผู้ร่วมสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า การเขียนรัฐธรรมนูญต้องเขียนหลักการสำคัญ  แต่ของเรามีปัญหาคือเริ่มต้นจากนักกฎหมายก่อน โดยไม่ได้เน้นที่ประชาชน หมกมุ่นอยู่กับแบบฉบับหรือวิธีการเลือกตั้ง เขียนยาวละเอียดมากเกินไป และหมกเม็ดในเรื่องต่างๆ มีผลใช้เมื่อมีกฎหมายลูก โดยให้นักการเมืองเขียน ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกฎหมายลูกเองมันจะสอดคล้องกันได้อย่างไร การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราต้องวางหลักเกณฑ์ว่าควรให้สั้น ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป และต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอนคือการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกฯ อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการเดินขบวนเป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และเยาวชนรุ่นเก่าอย่างตนเองอยากที่จะเห็นว่าไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป รวมทั้งมาตรา 112 คุณจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ และเป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป ต้องวางหลักเกณฑ์แน่นอนว่าอยากเห็นอะไร อีกหลายมาตราก็ต้องปรับปรุงกันไป
     “อีกเรื่องที่จะเป็นปัญหา ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าจะทำหรือไม่ทำ เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออกผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นมันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง แต่พยายามเข้าใจสถานะของท่านนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้ว เด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว ท่านนายกฯ ถามว่าผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาแอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"