.....การเมืองเข้าสู่ฤดูหนาว เห็นชัดร้อนแรงกลางลมหนาว เพราะการเมืองนอกรัฐสภา การชุมนุมของม็อบสามนิ้วก็ยังไม่คลี่คลาย ตอนนี้แค่หยุดพัก ยังไม่มีการเคลื่อนไหวแบบเบิ้มๆ เหมือนกับรอวันทำศึกใหญ่ ขณะที่การเมืองในรัฐสภาก็จะกลับมาอีกครั้ง เพราะจะมีการเปิดสมัยประชุมอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป โดยคิวการเมืองร้อนๆ ที่รออยู่ก็คือ การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติ "เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลรวม 6 ร่าง รวมถึงร่างฉบับประชาชนของไอลอว์อีก 1 ร่าง รวมเป็น 7 ร่าง ที่เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าวิปสามฝ่ายอาจต้องการรอให้รัฐสภาตรวจสอบรายชื่อประชาชนกว่าหนึ่งแสนชื่อในร่างของไอลอว์ให้เสร็จก่อน จากนั้นก็นำร่างทั้งหมดมาโหวตพร้อมกันไปเลยทีเดียว ที่คาดว่าน่าจะเกิดได้ช่วงกลางๆ เดือน พ.ย.หรือปลายเดือน พ.ย. เว้นแต่มีเหตุให้ต้องการลงมติให้เร็วขึ้น เพื่อหวังให้เรื่องแก้ไข รธน.คลี่คลายการเมืองนอกรัฐสภาให้เย็นลง ก็อาจมีการให้โหวต 6 ร่างนำร่องไปก่อน ซึ่งฝ่ายไอลอว์ก็ดูจะไม่ขัดข้อง ท่าทีของฝ่ายรัฐบาล หากต้องการให้การโหวตร่าง รธน.เร็วขึ้น อาจหมายถึง มั่นใจแล้วว่าเสียง ส.ว.จะโหวตเห็นชอบเกิน 84 เสียง จนทำให้ร่างแก้ไข รธน.ผ่านวาระแรกไปได้ แต่ติดอยู่ตรงที่ว่า แล้วร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา ที่ฝ่ายค้านเสนอเข้ามาด้วย เช่นร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ที่อยู่ในมาตรา 272 ที่เรียกกันว่า ปิดสวิตช์ ส.ว. ฝ่ายรัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ หรือจะเอาแค่ร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ให้มีสภาร่าง รธน. ส่วนร่างอื่นไม่เอา อันนี้คือสิ่งที่ต้องติดตาม หลังสภาเปิด 1 พ.ย.นี้....
...ขณะที่เรื่องแนวทางการตั้ง “คณะกรรมการร่วมเพื่อเจรจาพูดคุยแสวงหาทางออกจากปัญหาขัดแย้งทางการเมือง” ที่มีการเสนอโมเดลให้มีกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล ส.ส.พรรครัฐบาล ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ตัวแทนวุฒิสภา แกนนำผู้ชุมนุม ตัวแทนฝ่ายเห็นแตกต่างกับผู้ชุมนุม และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ที่เรียกกันว่ากรรมการเจ็ดฝ่าย ดูไปแล้ว การตั้งไข่ทำให้เกิดขึ้น ปัญหาสำคัญคือเรื่องการยอมรับในตัวกรรมการชุดนี้ เพราะแน่นอนว่า ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็ต้องมองว่าเป็นการซื้อเวลา หวังจะดับกระแสร้อนม็อบสามนิ้ว เลยจะตั้งกรรมการเพื่อเอาตัวแทนแกนนำม็อบมาร่วมพูดคุย จะได้ไม่ต้องไปเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพราะก็อย่างที่รู้ๆ กัน ประเทศไทยมีอะไรขึ้นมา ก็ใช้วิธีตั้งกรรมการ คณะทำงาน มาศึกษา พูดคุย ทำรายงาน เพื่อกลบกระแส พอเรื่องเงียบหาย ก็ไม่มีใครสนใจ แล้วกรรมการก็แยกย้ายสลายตัว เว้นแต่กรรมการบางชุด หากอยู่ในความสนใจของประชาชน ก็จะมีรายงานหรือข้อเสนอออกมา อย่างเช่น ตอนคดีทายาทกระทิงแดงดังๆ นายกรัฐมนตรีก็ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่มีวิชา มหาคุณ เป็นประธาน จนได้ข้อสรุปที่สังคมพึงพอใจ แต่กับสถานการณ์เวลานี้ แนวคิดการตั้งกรรมการมาพูดคุยถึงปัญหาการเมืองเวลานี้ การทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ การเกิดขึ้นของกรรมการว่าไม่ใช่การซื้อเวลาทางการเมืองของนายกฯ น่าจะทำได้ยากพอสมควร ไม่นับรวมกับประเด็นที่จะพูดคุยอย่างเรื่องข้อเรียกร้อง "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่หลายคนสงสัยว่า จะพูดกันอย่างไร ขอบเขตอยู่แค่ไหน?
..การเมืองร้อนๆ ในช่วงหน้าหนาวกำลังมาอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะเกิดขึ้น 20 ธ.ค.นี้ ซึ่งด้วยสถานการณ์ม็อบสามนิ้ว เลยทำให้ความคึกคักของเรื่องนี้โดนกลบไปไม่ใช่น้อย แต่หลายจังหวัดพบว่าผู้สมัครในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีการขึ้นป้าย เดินหาเสียงกันแล้ว โดยพรรคใหญ่ พลังประชารัฐ "อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ” ย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามพรรคแน่นอน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาทางกฎหมายตามมา ขณะที่ "คณะก้าวหน้า” ที่เป็นสาขาการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมา สามแกนนำ ธนาธร จึงรุ่งเรือง, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช เดินสายหาเสียง เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.ในนามคณะก้าวหน้ามาหลายสิบจังหวัดแล้ว ซึ่งก็มีการประเมินว่า ในตัวอำเภอเมือง คนของคณะก้าวหน้าน่าจะทำคะแนนได้ระดับหนึ่ง แต่รอบนอกของจังหวัด จะเจาะได้มากน้อยขนาดไหน ยังยากจะคาดเดา ซึ่งหากคณะก้าวหน้าปักธงได้นายก อบจ.มาระดับยี่สิบที่นั่งขึ้นไป การเมืองท้องถิ่นอาจถึงคราวพลิกโฉมหน้า แต่หากได้ต่ำสิบ ก็ย่อมถูกโยงได้ว่า คนไม่เอาด้วยกับธนาธร-ปิยบุตร อย่างปฏิเสธไม่ได้ ....
พายุกำลังมา
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |