ไทยเตรียมซื้อขายไฟอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    


    ไฟฟ้านับเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้เลยก็ว่าได้ เพราะทุกอย่างต้องอาศัยพลังงานชนิดนี้เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาต่อยอด แต่ลองนึกเล่นๆ ว่าถ้าโลกนี้ขาดไฟฟ้าไปคงเกิดความโกลาหลพอสมควร ตั้งแต่ตื่นที่เราอาจจะนอนเพลินเพราะไม่มีนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์ ต้องอาศัยนาฬิกาปลุกแบบเดิมที่ปัจจุบันเริ่มเสื่อมความนิยมไปแล้ว และถ้าต้องการที่จะเดินทางไปทำงานก็คงต้องอาศัยรถที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างจักรยานเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบนดินหรือใต้ดินก็ไม่สามารถวิ่งได้ รวมถึงรถยนต์เองนั้นก็ต้องมีการใช้ไฟฟ้าเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่เพียงแค่น้ำมันในการขับเคลื่อนเท่านั้น
    ที่กล่าวมานี้คือกิจกรรมแค่ช่วงเช้าเท่านั้น ที่แค่คิดดูก็พอเข้าใจแล้วว่าไฟฟ้าสำคัญเพียงใด ยังไม่ได้พูดถึงตอนทำงานที่ทุกคนต้องกลับมาใช้การจดบันทึกแบบเดิมผ่านกระดาษและปากกา การขึ้นอาคารก็ไม่สามารถใช้ลิฟต์ได้ และอย่าพูดถึงการติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ห่างไกล เพราะทุกระบบโทรคมนาคมจะถูกตัดไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นการจะใช้ชีวิตในยุคนี้ขาดไฟฟ้าไม่ได้จริงๆ
    และเมื่อขาดไม่ได้ ก็จะต้องทำให้มีใช้อย่างพอเพียงตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่นี้ จะต้องมีความยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย แต่เหตุการณ์ที่จะขาดไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงเรื่องไฟฟ้าพอสมควร จึงต้องมีหน่วยงานที่จะเข้ามากำกับดูแลและช่วยเหลือไม่ให้เกิดความขาดแคลนในเรื่องนี้ รวมถึงในจุดที่อยู่ห่างไกลการพัฒนา ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถนำไฟฟ้าเข้าไปใช้ได้อย่างทั่วถึง อย่างในประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่แบ่งหน้าที่ดูแลด้านไฟฟ้าอย่างครบถ้วน
    โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดูภาพรวมใหญ่ เป็นองค์กรที่จัดการ ผลิต และดำเนินการด้านไฟฟ้าหลักของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเองเกือบทุกพื้นที่ของไทยก็มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอตลอดเวลา และยังมีสำรองไฟฟ้าเผื่อเกิดปัญหาที่ยากต่อการควบคุม แม้จะไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ขาดแคลนบางแห่งได้ กฟผ.ก็ได้ทำการสร้างสายส่งเพื่อส่งไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่งไปยังพื้นที่นั้นๆ
    และด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้น การส่งหรือซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันนั้นก็ง่ายมากขึ้น ปัจจัยนี้จึงทำให้เอกชนหลายคนเห็นช่องในการทำธุรกิจ โดยเข้ามาผลิตไฟเพื่อขายให้กับผู้ที่ต้องการใช้ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบัน กฟผ.เองก็เริ่มศึกษาการพัฒนารูปแบบจะการไฟฟ้าใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
    โดยล่าสุดได้ศึกษาการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง โดยอาศัยโอกาสในการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าซึ่งมีรูปแบบคล้ายตลาดซื้อขายไฟฟ้าในยุโรปมาใช้ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการซื้อขายระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งจะมีรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขาย ได้แก่ แบบตลาดซื้อขายกำลังผลิตล่วงหน้าระยะ 3-5 ปี และแบบซื้อขายไฟฟ้ารายวัน เพื่อรองรับสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดเสรี แข่งขันในกิจการไฟฟ้าในประเทศอีกด้วย
    เป็นโครงการที่ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยในระยะแรก กฟผ.มีแผนจัดตั้งตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย ตลาดซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าหนึ่งวัน และตลาดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างวัน โดย
    กฟผ.จะเป็นผู้จัดทำกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า ขณะที่ ตลท.เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบซื้อขาย เมื่อตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองมีเสถียรภาพและสภาพคล่องแล้ว อาจพิจารณาให้มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายกำลังการผลิตไฟฟ้าสำหรับจัดหากำลังการผลิตล่วงหน้า 3-5 ปี และพัฒนาต่อเป็นสินค้าในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในอนาคตด้วย
    ความร่วมมือนี้เชื่อว่าจะต่อยอดการพัฒนาระบบไฟฟ้าในประเทศอย่างก้าวกระโดด และตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยอาจจะออกมาตรการให้มีการแข่งขันเสรีของการให้บริการด้านไฟฟ้า และผู้ใช้ก็สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะรับบริการจากเอกชนเจ้าไหน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เหมือนที่ในหลายๆ ประเทศฝั่งทวีปยุโรปดำเนินการอยู่.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"