โมลาเบอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำไทยรอดพ้นวิกฤติอุทกภัย ยกเว้นภาคใต้มีฝนตกหนักจากอิทธิพลลมตะวันตกเฉียงใต้ โคราชเริ่มคลี่คลาย คาดอีก 1 อาทิตย์เหตุการณ์ปกติ
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง "หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “โมลาเบล” (พายุระดับ 2) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2563)" ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ความว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (29 ตุลาคม 2563) หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (พายุระดับ 1) ได้อ่อนกำลังอีกเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางทั่วไปกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 29-30 ตุลาคม 2563 สำหรับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง
ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของพายุโซนร้อนโมลาเบ โดยเมื่อกลางดึกย่างเข้าวันที่ 29 ต.ค. เกิดฝนตกจนถึงช่วงสายแต่ยังไม่หนัก ขณะที่ทางจังหวัดประกาศเตรียมพร้อมทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอำนาจเจริญ หัวตะพาน ลืออำนาจ พนา ปทุมราชวงศา เสนางคนิคม และชานุมาน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย ชุดเคลื่อนที่เร็ว ออกสำรวจพื้นที่ที่มีโอกาสประสบอุทกภัย และติดตามระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญทั้ง 4 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน อ่างเก็บน้ำห้วยสีโท อ่างเก็บน้ำร่องน้ำชับ อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ รวมถึงลำเซบายและลำเซบก
นครราชสีมา เมื่อช่วงสายวันที่ 29 ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา หารือถึงแผนป้องกันอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโมลาเบ
นายวิเชียรกล่าวว่า ฝนที่ตกมาตลอดคืนจนถึงตอนนี้ยังไม่เกิดน้ำท่วมเพิ่มจากเดิม โดยน้ำยังท่วมในพื้นที่ ต.ลำมูล อ.โนนสูง, อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่บ้านหนองโจด, บ้านโนนมันเทศ และที่ อ.โชคชัย น้ำลดลงแล้ว แต่ก็ยังท่วมอยู่บางพื้นที่ ขณะนี้มวลน้ำกำลังไหลลง อ.พิมาย พื้นที่การเกษตรไร่นาและบ้านเรือนราษฎรริมสองฝั่งแม่น้ำมูล ส่วนเขื่อนลำตะคอง การปล่อยน้ำเพิ่มเป็นวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าด้านล่างฝนตกแรงก็จะยุติการปล่อย ปัจจุบันเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 347 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 110% ของความจุเขื่อนที่ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากภาพรวมคาดว่าอีก 1 สัปดาห์สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า จนถึงขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 34 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง อุทัยธานี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี นครปฐม ปทุมธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล และสงขลา รวม 141 อำเภอ 531 ตำบล 2,301 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 88,348 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย (จันทบุรี ตรัง ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย) ผู้บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) ผู้สูญหาย 1 ราย
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 26 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขัง 4 จังหวัด นครราชสีมา ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และสุพรรณบุรี พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี พังงา และชุมพร พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ภูเก็ต สตูล และกระบี่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |