'ก้าวไกล' ยื่นเงื่อนไข คกก.สมานฉันท์ต้องพูดเรื่องสถาบัน ขวาง ครม.ร่วมแต่ให้มีนักวิชาการ-เอ็นจีโอด้วย


เพิ่มเพื่อน    

"เลขาฯก้าวไกล" ยื่นเงื่อนไขตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องเปิดพื้นที่ให้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างปลอดภัย อ้างเป็นประเด็นปัญหาขัดแย้งในสังคมไทย หากไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นมา  ขวาง ครม.เข้าร่วมแต่ต้องมีนักวิชาการ นักศึกษา เอ็นโจอี จี้ "บิ๊กตู่" ลาออกปลดล็อกวิกฤติ ตัดมือ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯคนใหม่ ซึ่งต้องมาจาก ส.ส.ในสภาเท่านั้น

29 ต.ค.63 - ที่หน้าศาลแขวงปทุมวัน นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของพรรคก้าวไกลต่อกรณีเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ต้องไม่ใช่การตั้งเพื่อยืดอายุและซื้อเวลาให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ต้องเป็นไปเพื่อปลดล็อกความขัดแย้งในสังคม ขั้นตอนแรกจำเป็นต้องปลดล็อก พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะหากไม่ปลดล็อกออกไปจะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมขณะนี้ได้เลย รวมทั้งจะมีปัญหาความชอบธรรมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หากนายกรัฐมนตรีก็คือคนที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

“เมื่อปลดไปแล้วการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ว. และต้องไม่ใช่การมีนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือเป็นรูปแบบรัฐบาลแห่งชาติ แต่สามารถใช้เสียง ส.ส.โหวตเลือกกันเองได้เลย พรรคก้าวไกล พร้อมที่จะยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แม้ว่าจะได้ร่วมรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องมีที่มาจากการตกลงเลือกกันของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภา และได้รับการยอมรับจาก ส.ส. ไม่ว่าจะมาจากบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทยก็ตาม เพราะในส่วนของพรรคก้าวไกล เราไม่มีบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”

เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติชุดนี้ ที่อาศัยอำนาจการแต่งตั้งของประธานรัฐสภา ต้องไม่มีองค์ประกอบสัดส่วนที่มาจากคณะรัฐมนตรี เพราะการมีอยู่ของคณะกรรมการต้องไม่ไปผูกติดกับการคงอยู่ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ แต่สัดส่วนความเหมาะสมของคณะกรรมการจะเป็นอย่างไรให้อยู่ที่ประธานรัฐสภาพิจารณาความเหมาะสม  ซึ่งสามารถมีที่มาจากนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา NGOs ประชาชน ฯลฯ

“การมีคณะกรรมการชุดนี้ กระบวนการเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย ในหัวข้อที่มีความเห็นขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของวงปิดหรือเวทีสาธารณะ และสามารถใช้กลไกประชาธิปไตยในการจัดรูปแบบได้ และคณะกรรมการชุดนี้ควรมีส่วนในการเปิดพื้นที่พูดคุยกันในประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างปลอดภัย หากไม่มีเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดนี้แต่อย่างใด เพราะตอนนี้ประเด็นนี้คือเรื่องที่สำคัญของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย”

ในส่วนเรื่องประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชัยธวัช กล่าวว่า เมื่อเปิดประชุมสภาแล้ว อีกแนวทางหนึ่งคือการเอาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อมาร่วมพิจารณาด้วย เพราะหากพิจารณาเฉพาะร่างของ ส.ส. จะทำให้ร่างของประชาชนไม่ได้ทันพิจารณาในสมัยประชุมนี้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"