29 ต.ค.63 - อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "ใครคิดจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ : “ประชาชน” หรือ “มวลชน” ?" ผ่าน www.thaipost.net โดยมีรายละเอียดดังนี้
ทุกสังคมการเมืองจะมี “กระบวนการคิดโดยรวม” เป็นตัวกำกับการตัดสินใจทางการเมืองการปกครองต่างๆ ตั้งแต่เรื่องธรรมดาๆไปจนถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเช่นสถาบันตามรัฐธรรมนูญ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ เป็นเรื่องหนึ่งที่อาจป้อนเข้าสู่กระบวนการคิดโดยรวมนี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะอาศัยกระบวนการแบบใด แบบ “ประชาชน” หรือ “มวลชน” ซึ่งจะแตกต่างกันเป็นอันมากทีเดียว กล่าวคือ
“ประชาชน”
ถาม “ ประชาชน” คือใคร? เห็นพูดกันมาก ว่า ประชาธิปไตยต้องปกครองโดย ประชาชน
ตอบ ในทางทฤษฎีนั้น “ประชาชน”ไม่ใช่คนเป็นๆ แต่เป็น “ปวงชน”ที่ปรากฏตัวจากกระบวนการคิดและตัดสินใจทางการเมืองการปกครอง ที่ถือประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุดเป็นสรณะ ในระบอบประชาธิปไตยก็จะมีหลักสี่หลักเป็นตัวกำกับกระบวนการนี้คือ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
ถาม ก็เป็นอย่างที่ท่านพุทธทาสท่านว่าไว้ว่า การปกครองที่ถูกต้องต้องถือประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าถือเสียงประชาชนเป็นใหญ่ ใครมากกว่าก็ทำอะไรได้หมด อย่างนี้ชิบหายแน่ ใช่มั๊ยครับ
ตอบ ถูกต้องครับ ท่านปฏิเสธเผด็จการจากหีบเลือกตั้งไว้ชัดเจน ข้อที่ท่านเน้นมากๆและไม่ได้เขียนไว้ตรงๆในรัฐธรรมนูญ คือศีลธรรมในการอยู่ร่วมกัน ต้องมีสามัคคีธรรม รู้จักการอยู่ร่วมกันโดยยึดความถูกต้อง ประนีประนอม ไม่ข่มเหงรังแกกัน เห็นใจกัน ทั้งหมดนี้ก็คือจิตใจแห่ง“ภราดรภาพ” หรือความสมานฉันท์นั่นเอง ถ้าไม่มีธรรมะในใจอย่างนี้ เราจะยอมรับ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ให้เป็นจริงไม่ได้เลย
ถาม สถาบันกษัตริย์ อยู่ตรงไหนในระบอบนี้
ตอบ อยู่ตรง “ภราดรภาพ” หรือความสมานฉันท์ครับ ทุกประเทศต้องมีประมุขเป็นที่รวมของส่วนรวม อยู่เหนือความเป็นฝักฝ่ายในสภาหรือในท้องถนน จะเป็นประธานาธิบดีที่เลือกตั้งกันทั้งประเทศ หรือเป็นสถาบันกษัตริย์ก็ได้
ถาม สถาบันกษัตริย์นี้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ไหม
ตอบ ได้ครับ แต่ต้องด้วยกระบวนการคิดของ”ประชาชน”ด้วย คือต้องเสนอและตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผลว่า ประโยชน์ของปวงชนอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เช่นเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี ก็ลดงบประมาณแผ่นดินในส่วนของสถาบันได้, ดึงกำลังทหารรักษาพระองค์เข้ามาอยู่ใต้กองทัพแห่งชาติเพื่อเพิ่มกำลังป้องกันประเทศโดยรวมได้, ข่าวในพระราชสำนักก็ลดลงให้มีเท่าที่จำเป็นที่เป็นข่าวราชกิจอย่างแท้จริงได้ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าถ้ามีเหตุมีผลเป็นประโยชน์ปวงชนอย่างนี้ ก็คิดได้เปลี่ยนได้เสมอ ทั้งกฎระเบียบธรรมดาและกฎหมายทุกระดับ
ถาม พวกจงรักภักดีอย่างฝังหัวเขาไม่ว่าเอาหรือครับ
ตอบ ว่าไม่ได้ นี่ไม่ใช่การปฏิเสธหรือล้มล้างสถาบัน
ถาม ถ้าชูป้ายว่ากษัตริย์เป็น “ขยะสังคม”ล่ะครับ
ตอบ นั่นผิดกฎหมายแล้ว เพราะทำลายความเป็นประมุขของสถาบันส่วนรวม
“มวลชน”
ถาม อะไรคือกระบวนการคิดโดยรวมของ “มวลชน”
ตอบ “มวลชน” คือคนเป็นๆที่ถูกกลืนด้วยการจัดตั้งจนสิ้นคิดกลายเป็นมวลหนึ่งเดียว ที่อยู่ใต้การครอบงำบงการของแกนนำ
ถาม เขาจัดตั้งกันอย่างไร
ตอบ ด้วยการปลูกฝังความจงเกลียดจงชังร่วมกัน จนเกิดชีวิตหมู่ที่มีพลังต่อสู้อุทิศตน เพื่อความหมายและความหวังในชีวิตตามคัมภีร์ที่อธิบายไว้ ในโลกเก่าก็มีทั้งมวลชนศาสนา ชาตินิยม หรือสังคมเศรษฐกิจเช่นปฏิวัติฝรั่งเศส หรือคอมมิวนิสต์
ถาม เมื่อยึดมั่นจนสุดโต่ง มุ่งโค่นล้ม ทำลายด้วยความเกลียดชัง เขาก็ต้องปฏิเสธ ความสมานฉันท์ ใช่มั๊ยครับ
ตอบ ไม่ใช่ปฏิเสธอย่างเดียว เขาทำลายความสมานฉันท์ด้วย เขาจะเหยียบย่ำทำลายศรัทธาอื่น ให้เหลือแต่คัมภีร์ของเขาเท่านั้น หลังการปฏิวัติจะเหลือแต่ควันหลงของความแตกแยก จงเกลียดจงชัง หวาดระแวง เช่นจีนก็มีเร๊ดการ์ดออกอาละวาดล่าเหยื่อไปทั่ว จนได้พวกเติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นมาดึงสังคมจีนกับสู่ชีวิตปกติได้ แล้วกำหนดประโยชน์ปวงชน ด้วยระบอบพรรคเดียวต่อไป
ถาม ความเคลื่อนไหวของ “คณะราษฎร 63” เป็น “ประชาชน”หรือ “มวลชน”
ตอบ โลกปัจจุบันมีสังคมไซเบอร์ คู่ขนานกับสังคมจริง ซึ่งสังคมไซเบอร์นั้นจะง่ายต่อการปลุกระดมความจงเกลียดจงชังมาก แค่ความเขม่น หงุดหงิด ไม่ชอบใจ ก็ถูกปรุงแต่งให้เกลียดร่วมกัน เคลื่อนไหวร่วมกัน ด้วยทวิตเตอร์ได้ง่ายๆ
ถาม ปลุกให้เกลียดกษัตริย์ก็ได้หรือครับ
ตอบ เกลียดอะไรก็ได้ ขอมีเชื้ออยู่ในใจ ก็ปลุกให้ขยายเป็นความจงเกลียดจงชังได้ทั้งนั้น เกลียดศาสนาอื่น เชื้อชาติอื่น ลัทธิเศรษฐกิจ ก็ปลุกขึ้นมาปั่นให้เกลียดได้ทั้งสิ้น
ถาม ตกลง“คณะราษฎร 63” ก็เป็นมวลชน
ตอบ ครับ ดูอาการเป็นเช่นนั้น ขนาดคนในขบวนการของเขาที่เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ พอเห็นโฆษกอ่านข่าวในพระราชสำนักเดินเข้ามาสั่งอาหารก็ยังไล่ตะเพิดเขาออกนอกร้านเลย อย่างนี้เป็นอาการมวลชนที่ชัดเจนมากคนไม่รู้จักกันจะเกลียดกันได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เพราะหมดตัวตนกลายเป็นมวลชนไปแล้วอย่างนี้
ยิ่งที่ มช.มีใบปลิวเรียกร้องให้ย้ายปฏิมากรรม พระรูป ร.๙ ออกไป เพราะเกรงว่า มช.จะถูกครหาว่า “ไม่เป็นกลาง”ด้วยแล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่าความคิดนี้ปฏิเสธประมุขที่เป็นกษัตริย์โดยสิ้นเชิงแล้ว
ถาม แสดงว่า มวลชนนี่จะปฏิเสธ “ความสมานฉันท์”ไปแล้ว
ตอบ เป็นเช่นนั้น ปากเขาอาจบอกว่าจะ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” แต่เมื่อตัวตนชีวิตหมู่ของเขาคือความจงเกลียดจงชังสถาบันกษัตริย์แล้ว ภายใต้ชีวิตหมู่อย่างนี้เขาคิดปฏิรูปสถาบันด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้แล้วล่ะครับ เหตุผลนานาที่เขาพูดออกมาจากปากว่าจะปฏิรูป มันเป็นแค่วาทะกรรมเท่านั้น
ถาม อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา
ตอบ ผมห่วงบ้านเมืองมากกว่า ยิ่งจาบจ้วงทำลายศรัทธาของคนอื่นเขาอย่างนี้ก็ยิ่งจะแตกแยกกันไปใหญ่ ถ้าอีกฝ่ายจับม๊อบขึ้นมาบ้างก็ยับเยินเกิด ๖ ตุลา ขึ้นได้ไม่ยากเลย
นี่คือ “ความเป็นไปได้” ที่เริ่มจะเห็น “ความน่าจะเป็น” ขึ้นเรื่อยๆแล้วครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |