ศาลรัฐธรรมนูญเคาะ 57 ส.ส.ได้ไปต่อ ชี้ไม่เข้าข่ายถือหุ้น พร้อมจำหน่ายคำร้อง 6 ราย ซึ่งมีทั้งต้องโทษ-ลาออก-ถูกยุบพรรค ส่วน “ธัญญ์วาริน” จูบลารัฐสภาตายเดี่ยว ศาลชี้ถือหุ้นบริษัทสื่อแม้ไม่จดทะเบียน ซ้ำร้ายมีเหตุพิรุธอื้อ ซ้ำรอยพ่อฟ้าเรื่องโอนหุ้น โดยให้สิ้นสภาพตั้งแต่ 6 ก.พ.2562 แบบไม่มีปาร์ตี้ลิสต์แทน
เมื่อวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2563 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 64 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 32 คน และฝ่ายค้าน 32 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่
ทั้งนี้ ในส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคำร้องในส่วนของ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส.เขต 2 กำแพงเพชร เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอาญาให้จำคุก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ เนื่องจากลาออก จึงเหลือ ส.ส.ผู้ถูกร้องที่ศาลวินิจฉัยรวม 29 คน
โดยศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ มีความมุ่งหมายกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ เนื่องจากบุคคลที่จะเป็น ส.ส.เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นไว้เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ว่าซื่อสัตย์สุจริต ซึ่ง (3) บัญญัติมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของประกอบธุรกิจสื่อ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และมาตรา 101 (6) ได้กำหนดว่าบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว เป็นเหตุให้ความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อมิให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของสื่อ หรือถือหุ้นในสื่อมวลชนใดๆ เพื่ออาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นสื่อ เผยแพร่ข้อความ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นโทษต่อบุคคลใด เพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือใช้อำนาจครอบงำสื่อมวลชน จนทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง โดยเมื่อพิจารณาจากเอกสารคำชี้แจงและเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 29 คน ไม่ได้ถือหุ้นหรือประกอบกิจการในธุรกิจสื่อ
ส่วนในรายของ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้ถูกร้องว่าถือหุ้นในบริษัท ทาโร่ ทาเลนท์ จำกัด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นบริษัทตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2515) ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 (สสช.1) ระบุว่า ประกอบกิจการ รับทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ จัดฝึกอบรม และแบบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (สบช.3) รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2562 ระบุว่า ผลิตให้บริการข้อมูลข่าวสาร ด้านการบันทึก อัตราร้อยละของรายได้ รวมร้อยละร้อย รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2561 ระบุว่าทำการบริหารจัดการและประมวลผลข้อมูล และหมายเหตุประกอบงบการเงิน สำหรับงวดบัญชีตั้งแต่ 6 ต.ค.2560 วันที่จดทะเบียนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2560 ระบุว่าบริษัทประกอบกิจการในการรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ โฆษณาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หมายเหตุงบการเงิน แต่งวดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 ถึง 18 มิ.ย.2562 ใบจดทะเบียนเลิกบริษัทระบุว่าบริษัทประกอบกิจการรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากการไต่สวนระบุว่า บริษัท ทาโร่ ทาเลนท์ จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการ เกี่ยวกับการให้บริการ การรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ และประกอบกิจการฝึกอบรม ซึ่งจากแบบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (สบช.3) รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ต.ค.2561 ระบุสินค้า บริการ ที่ประกอบการว่าทำการบริการ ในการบริหารจัดการ และประมวลผลข้อมูล ประกอบกับแบบแสดงภาษีเงินได้ (ภงด.50) ปรากฏว่างบกำไรขาดทุนงวดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562-18 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนเลิกบริษัท ปรากฏว่าบริษัทไม่มีรายได้ใดๆ จากการให้บริการ และผลประกอบการขาดทุนสุทธิ เป็นเงินจำนวน 97,415.57 บาท อีกทั้งเมื่อพิจารณารายได้บริษัทในปี 2560 เป็นรายได้ที่ได้มาจากการประกอบกิจการฝึกอบรม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัท ทาโร่ ทาเลนท์ฯ ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ
ต่อมาในเวลาประมาณ ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยสำนวนที่ 2 จำนวน 32 ราย ซึ่งศาลได้จำหน่ายคำร้องส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พล.ท.พงศกร รอดชมพู, นายชำนาญ จันทร์เรือง และนายสุรชัย ศรีสารคาม เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคของอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จึงเหลือ ส.ส.ฝ่ายค้านผู้ถูกร้องที่ศาลต้องวินิจฉัยรวม 29 คน โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า 28 ส.ส.ไม่ได้ประกอบธุรกิจ หรือถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ จึงไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง
ส่วนนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า นายธัญญ์วารินถือครองหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด โดยทั้ง 2 บริษัทข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับโฆษณา ภาพยนตร์ และการแสดง ซึ่งถือว่าเป็นสื่อกลางส่งข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระไปสู่ประชาชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้โดยทั่วไป แม้ไม่ปรากฏว่าบริษัท เฮดอัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ ได้ยื่นคำร้อง หรือประกอบกิจการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ, พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของบริษัทจัดตั้งขึ้นเกี่ยวกับสื่อ นัยความหมายเดียวกับมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังพบข้อพิรุธกรณีการโอนหุ้นของนายธัญญ์วาริน ที่โอนหุ้นให้บุคคลอื่น โดยพบว่ามีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค.2562 ทั้ง 2 บริษัท และนำส่งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันเดียวกัน โดยเป็นการดำเนินการภายหลังถูกยื่นคำร้องถือครองหุ้นสื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 2 บริษัทดังกล่าวระบุในแบบ บอจ.5 ว่า โอนหุ้นตั้งแต่ 11 ม.ค.2562 แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัทข้างต้นที่ผ่านมากระทำในเดือน เม.ย.เป็นหลัก ดังนั้นการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค.2562 จึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย นอกจากนี้ หากนายธัญญ์วารินมีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง ย่อมสามารถแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็ว ก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ได้
นอกจากนี้ ศาลได้ให้นายธัญญ์วารินมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่นายธัญญ์วารินไม่ได้มาชี้แจงแต่อย่างใด จึงเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี เมื่อข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวประกอบกัน พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงฟังได้ว่า นายธัญญ์วารินเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ ในวันที่ 6 ก.พ.2562 อันเป็นวันที่อดีตพรรค อนค.ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันที่อดีตพรรค อนค.ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส.เสนอต่อ กกต.
ทั้งนี้ สมาชิกภาพของนายธัญญ์วาริน ซึ่งเป็น ส.ส.ของอดีตพรรค อนค.ที่สิ้นสุดลง จึงทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลงนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่านในวันที่ 28 ต.ค.2563 และศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากเห็นว่า ในคำวินิจฉัยที่ 5/63 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ให้ยุบพรรค อนค. พรรคจึงไม่มีรายชื่อสมาชิกในลำดับถัดไปที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนเป็นกรณีเหตุทำให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 83 วรรคสาม อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายธัญญ์วารินสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) นับจากวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 6 ก.พ.2562 และให้ถือว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยนี้เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลง ส่วนผู้ถูกร้องคนอื่นวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.เหล่านั้นไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
นายธัญญ์วารินได้เคยมีส่วนร่วมในการปล่อยให้ชายสองคนจูบปากกันในห้องแถลงข่าวที่สภาภายหลังยื่นหนังสือเกี่ยวกับข้อเสนอการคุ้มครองการสมรสในครอบครัวเพศหลากหลายเมื่อช่วงปลายปี 2562.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |