ส่อเค้า “ยืดเยื้อ” สำหรับโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการ เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ หลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงอาการให้เห็นว่า ไม่อยากใช้มาตรา 44 ปลดล็อก
ตามสัญญาณที่ส่งผ่าน "เนติบริกร" วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย “ไม่เคยมีการพูดว่าจะใช้มาตรา 44 ในการแก้ไข นายกฯ เพิ่งกล่าวย้ำว่ามีคนมาขอให้ใช้ แต่นายกฯ คิดว่าไม่ต้องถึงขนาดนั้น จะใช้บ่อยๆ ทำไม วันนี้พยายามเลี่ยงใช้เท่าที่จำเป็น เพราะถ้าต่อไปไม่มีมาตรา 44 จะทำอย่างไร”
ผิดวิสัย “คสช.” ที่ปกติเรื่องไหนชักจะลุกลามบานปลาย โดยเฉพาะประเด็นที่ประชาชนเรียกร้อง มักจะงัดมาตรา 44 มาใช้แบบไม่ลังเลนาน
แต่เรื่องนี้กลับยื้อยุดฉุดกระชากกันมาเป็นเดือนๆ พยายามทุกทางที่จะยุติปัญหา โดยเฉพาะการส่งนายทหารเข้าไปไกล่เกลี่ยเจรจาหาทางออก มันก็ตอกย้ำให้เห็นส่วนหนึ่งถึงอาการที่ไม่อยากใช้อำนาจพิเศษเข้าจัดการ
จริงๆ เรื่องบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ถ้าเปลี่ยนมาเป็น “เอกชน” เป็นผู้ปลูกสร้าง เผลอๆ ป่านนี้ มาตรา 44 ของ “บิ๊กตู่” อาจเข้ามาเป็นพระเอกไปนานแล้ว
ทว่า พอเป็นบ้านพักของศาล เรื่องมันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ไม่ใช่เพราะศาลมีเอกสิทธิ์เหนือกว่าใครๆ หากแต่ศาลคือ ผู้ถือกฎหมาย ที่ต้องมีความเคร่งครัดมากกว่าคนอื่นๆ
ไม่ใช่เพราะศาลไม่รับรู้ถึงความต้องการประชาชน แต่จะให้ถอยโดยการ “ทุบทิ้ง” นอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นศาลเองที่จะต้องถูกฟ้องร้องจากผู้รับเหมา เพราะการก่อสร้างในครั้งนี้ทำถูกกฎหมายทั้งหมด ไม่สามารถใช้กฎหมายตามปกติสั่งรื้อบ้านที่สร้างเหล่านั้นได้
แม้ “บิ๊กตู่” จะเข้าใจในความต้องการ และมุมมองของฝ่ายคัดค้าน แต่จะให้ทำตามข้อเสนอโดยใช้มาตรา 44 ก็จะเปลี่ยนผู้ถูกฟ้องจาก “ศาล” มาเป็น “คสช.” เอง
ผู้รับเหมาอาจจะนำคำสั่งหรือประกาศ คสช.ที่เกิดขึ้นไปฟ้องต่อศาลปกครอง เหมือนหลายๆ กรณี ซึ่งว่ากันตามตัวบทกฎหมาย ฝ่ายสั่งให้รื้อเสียเปรียบตามรูปคดี
“บิ๊กตู่” เลยพยายามยื้อยุดฉุดกระชากสุดๆ หวังใช้วิธีเจรจาต่อรองกับฝ่ายต่อต้าน เพื่อหาทางออกที่ไม่ใช่ “หักด้ามพร้าด้วยเข่า”
ถึงตรงนี้ “รัฐบาล” ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง ยังมองว่า ประเด็นเรื่องบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการยังไม่ถึง “ทางตัน” แต่ยังประนีประนอมกันได้
มีวี่แววถึงความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในกลุ่มต่อต้านเอง ที่มีความคิดเห็นออกเป็นหลายแขนง ไม่ได้มีแต่ขอให้รื้อทุบทั้งหมดแบบทันทีอย่างเดียว โดยบางส่วนรับได้ถ้าจะมีการรื้อเพียงบางส่วน หรือมีการนำไปใช้อย่างอื่นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
มันอยู่ที่การพูดคุยเป็นการภายใน ระหว่างทหาร ศาล และประชาชนผู้คัดค้าน ที่จะสามารถเจอ “ตรงกลาง” กันได้ตรงไหน โดยเฉพาะความพอใจของประชาชนที่หากไม่รื้อทั้งหมด แล้วจะรับได้แค่ไหน
“บิ๊กตู่” จะรอถึงที่สุด จนกว่าที่จะไม่สามารถหาทางออกด้วยการ “พูดคุย” ได้แล้ว นั่นถึงจะหันกลับไปมองมาตรา 44 ที่ยังไม่ได้ปิดประตูตาย
แล้วหากต้องใช้จริงๆ ประเด็นแรกที่ต้องคำนึงคือ ทุกฝ่ายต้องพอใจ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ศาล ผู้รับเหมา ขณะเดียวกัน งบประมาณพันกว่าล้านบาทที่ทุ่มลงไปจะไม่เสียไปเปล่าๆ
ที่สำคัญ คสช.จะต้องเขียนคำสั่งอย่างรัดกุมในเรื่องการป้องกันการฟ้องร้อง และอาจใช้วิธีชดเชย หรือเยียวยาความเสียหายให้แก่ “ผู้รับเหมา” แทน
เจตนาของ “บิ๊กตู่” ไม่ได้อยากให้สุดกันไปข้างไหนข้างหนึ่ง เพราะของก็สร้างกันมาแล้ว 80% รื้อออกทั้งหมดจะไม่ต่างจากการนำเงินไปละลายน้ำฟรีๆ แต่จะให้ตั้งเด่นหราอยู่ตรงนั้น ไม่สนความรู้สึกประชาชนก็ไม่ได้เช่นกัน
เป้าหมายรัฐบาลตอนนี้คือ ของที่สร้างมาต้องไม่เสียเปล่า แล้วก็ต้องทำตามข้อเรียกร้องประชาชน
มันยากกับโจทย์ “วิน-วิน” แต่รัฐบาลยังลุ้นจะเคลียร์ได้ ไม่ต้องถึงมือ “ม.44”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |