"บิ๊กตู่" ย้ำอยู่ต่อเพื่อพาประเทศพ้นวิกฤติ รู้ตัวเป็นนายกฯ ไม่โมโห พูดจาให้ไพเราะ อยากเห็นหันหน้าเจรจาพูดคุยด้วยสันติ ยันหนุนแก้ รธน.ไม่ขัด ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ สะดุ้งกันทั้งบาง "สนธิ" เสนอปฏิวัติ ถวายพระราชอำนาจคืน ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ทหารกลับกรมกอง
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าพูดไปทุกครั้ง ยืนยันไปหลายครั้งแล้วในการประชุมรัฐสภา จำเป็นจะต้องนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาการเมืองที่เกิดในครั้งนี้ คงไม่ใช่ที่ตนหรือรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ทุกคนต้องร่วมมือหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกันในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกันอย่างประนีประนอม อย่างสันติวิธี จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด นี่คือประเทศไทยและทุกคนคือคนไทย
"ผมไม่ได้เกลียดชังใครทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะว่าร้ายอะไรผมก็ตาม ผมก็ฟังได้ และต้องอดทน เพราะเป็นนายกฯ ใช่หรือไม่ ผมโมโหอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นนายกฯ ต้องอดทน ต้องไม่โมโห ไม่โกรธง่าย พูดจาให้ไพเราะ และวันนี้ผมก็พูดเพราะกว่าหลายๆ คนที่ได้ยินมาในขณะนี้ ทางออกมีอยู่แล้ว และขอให้เจอทางออกที่ว่านั้น ไม่มีปัญหาอะไรที่แก้ไม่ได้ ขอให้เชื่อมั่น และมั่นใจว่าเราจะต้องเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศของเรา"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การประชุมรัฐสภา 2 วันที่ผ่านมา ต้องขอบคุณประธานรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย ที่มีการพูดจาหารืออภิปรายกันโดยสงบเรียบร้อย แม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นบ้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสภาประเทศไทย อันนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องได้พิจารณาความเหมาะสมอย่างไร สภาประเทศไทยไม่ควรเหมือนในต่างประเทศทำ หลายอย่างเป็นพฤติกรรมที่ต่างประเทศมีอยู่แล้ว
นายกฯ กล่าวว่า เรื่องที่สรุปได้จากการประชุม 2 วัน มีหลายอย่างที่เห็นด้วย โดยเรื่องสำคัญสนับสนุนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่รัฐสภา เมื่อเราเห็นชอบให้มีการแก้ไข แต่หลายอย่างต้องผ่านหลายกระบวนการ รัฐสภาก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปด้วย เพราะยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉะนั้นอยู่ดีๆ จะไปตั้งกฎกติกาใหม่ทันทีตามระยะเวลาเท่าโน้นเท่านี้ตามต้องการมันเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องอยู่ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ
"ผมเห็นด้วยในการสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ว่าจะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือไม่เลือกนายกฯ ก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าจะไม่ให้เลือกผมก็ได้ ผมไม่ได้ขัดข้องอะไร ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหารือในรัฐสภา"
นายกฯ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อมาศึกษาหาทางออกจากแนวทางที่ได้หารือกันในรัฐสภา ซึ่งได้หารือในที่ประชุม ครม.แล้ว น่าจะเป็นทางสภาตั้งขึ้นมาจากหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งในส่วนของรัฐสภา ส.ส. ส.ว. และกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลุ่มชุมนุม กลุ่มอะไรต่างๆ ก็ขอให้หารือกันโดยสงบ หาข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ในลักษณะที่ต้องดูทั้งบริบทการเมืองประเทศไทยของเรา ที่ประกอบด้วยหลายส่วนหลายฝ่าย ซึ่งกำลังหารือกันในตอนนี้ จะได้ข้อสรุปเช่นไรมาจากตรงไหนบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองท่าทีต่างประเทศที่ขับไล่เอ็นจีโอที่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศอย่างไร และจะแก้ปัญหาเอ็นจีโอภายในประเทศอย่างไร เพื่อไม่ให้เข้ามาแทรกแซงกิจกรรมภายใน นายกฯ ตอบว่า ตนไม่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เป็นกิจการของแต่ละประเทศเอง เขาก็มีกฎหมายของเขา ของเราก็ต้องดูว่ากิจกรรมใดหรืออะไรต่างๆ ที่มีปัญหา ต้องมีการพูดคุยหารือกันว่าจะต้องไม่มีนัยแอบแฝงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มที่ต่างออกไป เพราะจะส่งผลเสียหายต่อประเทศ หลายๆ อย่างที่เรากำลังจะพัฒนา ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เข้ามาทำให้กระบวนการช้า ในเรื่องการทำประชาพิจารณ์ การทำประชามติ บางทีคนภายนอกเข้ามาในพื้นที่แสดงความคิดเห็นต่อต้าน ซึ่งคนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์ เขาเสียหาย
"สนธิ"แนะปฏิวัติ
เมื่อถามว่า นายกฯ จะอยู่ครบวาระ 4 ปี แสดงว่าจะไม่รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ทำไมต้องตอบสิ่งนี้ก็ไม่รู้ ตนเข้ามาด้วยอะไรก็ว่ากันไป จะออกด้วยอะไรก็ว่ากันมา ไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต รัฐบาลไม่ได้หยุดแค่รัฐบาลตน กระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการรัฐธรรมนูญต่างๆมีอยู่แล้ว
ขณะที่ช่วงท้ายผู้สื่อถามว่า สบายใจหรือยังที่ได้ฟังความเห็นรัฐสภามา 2 วัน พล.อ.ประยุทธ์เพียงแต่หันมา ไม่ได้ตอบคำถาม แต่ในช่วงที่นายกฯ เดินออกจากห้องแถลงข่าวไปแล้วได้มีเจ้าหน้าที่ทีมงานรัฐมนตรีได้ถามนายกฯ ว่าสบายใจขึ้นหรือยัง นายกฯ ได้กล่าวว่า รับฟังความคิดเห็นมา 2 วัน รู้สึกสบายใจ แต่ไม่สบายกายเพราะเจ็บหู จากนั้นนายกฯ เดินกลับขึ้นห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า
มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.? พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างอารมณ์ดี? โดยก่อนการประชุม?ได้เดินทักทายบรรดารัฐมนตรีอย่างเป็นกันเอง ?ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวกับ? ครม.ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเห็นด้วย และสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้เร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา รัฐบาลพร้อมสนับสนุน แต่ในเรื่องแกนนำผู้ชุมนุมที่จะเข้าร่วมคณะกรรมการนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นแกนนำ ?เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมบอกทุกคนเป็นแกนนำ จึงไม่รู้ใครเป็นแกนนำที่แท้จริง
เฟซบุ๊กเพจ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" เผยแพร่ความเห็นของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” เมื่อ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนายสนธิกล่าวช่วงหนึ่งว่า สำหรับตนการปฏิวัติไม่ใช่ความเลวร้าย ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แฟร์ ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติที่ไม่ขึ้นกับใครเลย
ใครก็ตามที่คิดปฏิวัติ อย่าทำพลาดแบบ คสช.ที่ยึดอำนาจเข้าตัวเอง แล้วต่อยอดอำนาจ แต่ต้องเข้ามาแล้วเอาความสงบเข้าสู่บ้านเมือง ด้วยการรีบถวายอำนาจนี้คืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนเชื่อว่าพระองค์ไม่ใช้อำนาจนี้หรอก โดยพระองค์จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาทันที
รัฐบาลแห่งชาติมีหน้าที่ 2 ประการ คือ 1.หาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2.รีบดำเนินการทางการเมือง ด้วยการเอาทุกฝ่ายเข้ามา เพื่อร่วมร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ มาคุยกันว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ให้เวลา 2 ปี เอาคนจากทุกพรรคมาเป็นรัฐมนตรี แต่ต้องไม่มีคนชื่อมีชัย ฤชุพันธุ์ และวิษณุ เครืองาม เข้ามาเกี่ยวข้อง อันนี้จะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
นายสนธิกล่าวอีกว่า เราต้องมาตกลงกันก่อนว่าจะอยู่กันยังไง ร่างหลักการปกครองออกมาสัก 20 ข้อ แล้วไปทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ ถึงค่อยร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้อกับหลักการปกครองต่าง ๆ เหล่านี้
เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตรปฏิวัติตัวเองได้หรือไม่ นายสนธิกล่าวว่า ปฏิวัติตัวเองยิ่งฉิบหาย รัฐบาลแห่งชาติต้องไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องเลย คสช. ถึงเวลากลับบ้านได้แล้ว
“ยึดอำนาจ ถวายอำนาจให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วกลับกรมกอง พระองค์ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โอนอำนาจให้รัฐบาลแห่งชาติไปเลย ผมไม่อยากพูดว่านี่เป็นแนวทางหนึ่ง แต่เป็นแนวทางเดียว ตอนแรกคนคงต่อต้านเยอะ แต่เมื่อโอนอำนาจทั้งหมดให้รัฐบาลแห่งชาติ คนก็ไม่ติดใจว่าสืบทอดอำนาจ” นายสนธิระบุ
ให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยคิด
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เผยว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นตรงกันให้สภาเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานศึกษาสร้างความปรองดองขึ้นมาหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น และได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพราะเป็นหน่วยงานที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ และมีหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ศึกษารูปแบบหาทางออกร่วมกันและออกแบบโครงสร้างของคณะทำงานว่าควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากข้อเสนอจากรัฐสภายังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการรูปแบบใด ดังนั้นต้องหาว่าจุดประสงค์ในการตั้งคณะทำงานคืออะไร สามารถทำได้ และมีผลมากน้อยเพียงใด หากจะใช้รูปแบบคณะกรรมการ จะประกอบไปด้วยใครบ้าง และจะเชิญตัวแทนผู้ร่วมชุมนุมเข้าร่วมด้วยหรือไม่ จึงจำเป็นต้องให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยคิด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการนำข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันของผู้ชุมนุมมาไว้ในวงเจรจาว่า เรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญเราคุยได้หมด เรื่องไหนที่ผิดรัฐธรรมนูญมันคุยไม่ได้ เพราะทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยจะต้องรักษากฎหมาย หากไม่มีกฎหมายจะทำอย่างไร แต่เรื่องการปฏิรูปสถาบัน แค่ใช้ความคิดก็ไม่ถูกต้องแล้ว ไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดได้ เป็นเรื่องสุดโต่ง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าไม่มีอะไร คนไทยด้วยกันสามารถพูดคุยกันได้ เมื่อก่อนรุนแรงกว่านี้ยังไปกันได้ วันนี้เบาบางขนาดนี้ ยิ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ถ้าเราไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน แล้วเราจะไปทำกันตอนไหน
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญตามญัตติที่รัฐบาลเสนอ และการอภิปรายใน 2 วันที่ผ่านมา มีข้อเสนอชัดเจนและเหตุผลสนับสนุนที่หนักแน่น ซึ่งประชาชนทั้งประเทศรับรู้และเข้าใจ จึงไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกให้กับประเทศเพื่อซื้อเวลา ตามข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลจึงเหลือแค่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น ที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศ พรรคเพื่อไทยจึงขอยืนยันว่าสิ่งที่ต้องดำเนินการทันทีคือ ต้องลาออก เพราะท่านเป็นต้นตอของปัญหาทั้งมวล
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงภาพรวมของการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญตลอดสองวันที่ผ่านมาว่า การประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา ฝ่าย ส.ว. ส.ส.รัฐบาล และ รัฐมนตรี ได้มีแนวทางอภิปราย 2 เรื่อง ได้แก่ 1.พยายามเชื่อมโยงและทำให้การชุมนุมของเยาวชนถูกด้อยค่า 2.การพยายามอธิบายข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมทำไม่ได้ หรือบางข้อต้องใช้เวลา แต่สำหรับตนเองนั้น การจะแก้ไขปัญหาทางการเมือง จะต้องอาศัยเจตจำนงเป็นหลัก หากมีเจตจำนงจริงๆ ไม่ว่าเรื่องไหนก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น
"ถ้าท่านอยากจะทำจริงๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบสามวาระรวด เพื่อเอา ส.ว.ออกไปก็สามารถทำได้ หรือหากจะลาออกก็ทำได้ เพราะแคนดิเดตนายกฯ มีอยู่แล้ว หรือการบอกว่าตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนเป็นการพูดแบบคิดว่าคนไทยกินแกลบหรืออย่างไร ดังนั้น การอภิปรายทั้งสองวันที่ผ่านมา จึงเป็นการพิสูจน์ว่าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร โดยเฉพาะการอภิปรายตอนท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์" นายปิยบุตรกล่าว
นายปิยบุตรกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย หากไม่เอาข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 3 ข้อเข้าไปด้วย การตั้งคณะกรรมการก็ไม่เป็นประโยชน์ แบบนี้ประชาชนอาจสิ้นหวังกระบวนการทางสภาและทำให้ลงถนนอีกครั้ง ที่ผ่านมาใช้กลไกต่างๆ เพื่อถ่วงเวลาเท่านั้น เพราะหากเรื่องใดอยากทำจริงๆ ก็สามารถทำได้ทันที
ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ข้อกล่าวหาว่าพวกเราอยู่เบื้องหลังและมีต่างชาติอยู่เบื้องหลังการชุมนุมนั้น การชุมนุมของเยาวชนถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้เรียกร้องให้มีการล้มล้างการปกครอง แต่เป็นการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปเท่านั้น ถ้าเราไม่ยอมรับถึงปัญหาจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เรากังวลว่าแทนที่จะยอมรับปัญหาและแสวงหาทางออกอย่างสันติ แต่รัฐบาลกลับกำลังโหมกระพือใส่ร้ายผู้ชุมนุม เป็นการบังคับให้ประชาชนเลือกข้าง อันตรายมาก
"การชุมนุมที่ผ่านมาเส้นแบ่งของการเลือกข้างมันเบลอ แต่ครั้งนี้มีเส้นแบ่งชัดเจน ซึ่งอันตรายและไม่สมควรกระทำ เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่ถูกรัฐบาลหว่านไว้กำลังเติบโตอย่างน่ากลัว เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่อยุธยาและมหาวิทยาลัยรามคำแหงหรือไม่ สองวันที่ผ่านมาในสภา โดยเฉพาะ ส.ว.อภิปรายด้วยความเกลียดชัง ผมคิดว่าเราควรสร้างสังคมแห่งความเข้าใจกัน แต่กลับไม่มีการฟังเสียงของอีกฝ่ายด้วยความห่วงใยหรือฟังอย่างมีวุฒิภาวะ หากไม่หยุดความเกลียดชังนี้ จะทำให้ความรุนแรงต่อผู้มีความเห็นต่างมีความชอบธรรม บ้านเมืองเรายังพอมีทางออก อย่าปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังให้กับคนรุ่นต่อไป" นายธนาธรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |