ถอดสลักเก้าอี้นายกฯ เงื่อนไขอาจไม่เป็นศูนย์


เพิ่มเพื่อน    

 

    ถ้อยความของ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” ที่มาชุมนุม ณ ลานหลังพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี ได้สื่อสารต่อสังคมในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา คือ การเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านกลุ่มคนที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน และการแสดงพลังปกป้องในหลวงรัชกาลที่ 10 รวมถึงการรำลึกถึงคุโณปการของในหลวงรัชกาลที่ 9

            เกินครึ่งของผู้ชุมนุมเป็นผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน และนักธุรกิจที่เคยชุมนุมกับ กปปส. และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยืนยันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นจุดศูนย์รวมชาติให้มั่นคง ลดเงื่อนไขให้ประเทศมหาอำนาจนำประเทศไทยเข้าไปสู่สมรภูมิการเผชิญหน้าในภูมิภาค

            การส่งสารของแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมจึงมุ่งเน้นไปที่ความเป็นมาของบุรพกษัตริย์ทรงมีคุโณปการในการทำให้มีแผ่นดินไทยในวันนี้ เพลงที่ถูกนำมาใช้หลักจึงเป็นเพลงปลุกใจ เพลงพระราชนิพนธ์ และจบกิจกรรมด้วยเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

            นอกจากกิจกรรมที่ลานด้านหลังพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินีแล้ว ยังมีการรวมตัวคนเสื้อเหลืองที่วงเวียนใหญ่เพื่อนัดทำกิจกรรมเคารพธงชาติ แสดงออกปกป้องสถาบัน ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี นัดหมายวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านนนทบุรี ประมาณ 9 โมงเช้า เพื่อแถลงเหตุผลคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            ตามมาด้วยความเคลื่อนไหวของ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ดารานักแสดง ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กขอบคุณบุคคลที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยวันที่ 1 พ.ย.2563 เวลา 16.00 น. ได้นัดหมายไปเจอกันที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว

            เป็นห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการที่ “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำคณะราษฎร 2563 ที่ได้ประกาศว่าจะนัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 29 และ 31 ต.ค.นี้ โดยไม่ระบุว่าจะทำกิจกรรมที่ไหน

            อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีการแจ้งทำกิจกรรมของกลุ่มราษฎรไม่เป็นทางการในช่วงวันที่ 31 ธ.ค.ด้วย

            แม้ทั้งสองฝั่งประกาศว่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะ ลดการเผชิญหน้า แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่ามีความสุ่มเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะในปัจจุบันข้อเรียกร้องแรกของกลุ่มราษฎรไม่ได้รับการตอบสนอง!!!

            เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้ายการประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกให้ประเทศนั้น ได้ระบุว่า “ผมไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว และผมไม่ลาออกในยามที่ชาติบ้านเมืองมีปัญหา” หลังจากที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรีดเลือดกลางสภา แลกกับการให้นายกฯ ไขก๊อกตัวเอง

            การตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายเพื่อหาทางออก และ เดินหน้าไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวาระที่วางไว้ จึงเป็นแค่การยืดเวลาการจุดระเบิดในสถานการณ์การเมืองบนท้องถนนกำลังขับเคลื่อนไปอย่างดุเดือด

            เพราะต้องยอมรับว่ามวลชนกลุ่มราษฎรที่นัดหมายการชุมนุมมีเยาวชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ใช้ความได้เปรียบในการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสื่อสาร สามารถรวมตัวทำกิจกรรมในกรอบของการแสดงสัญลักษณ์ได้อย่างคล่องตัว และมีพลังที่จะเคลื่อนที่ในการไปในจุดต่างๆ ได้อย่างไม่เหนื่อยล้า ส่วนดีกรีในการแสดงออกพุ่งทะลุเพดานไปถึงข้อสามคือ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” อย่างเข้มข้น

            ฝ่ายรัฐมองภาพการชุมนุมครั้งนี้ภายในกรอบ “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง” จึงทำให้วิเคราะห์ว่า “แฟลชม็อบ” ไม่สามารถกดดันรัฐให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมยก “ฮ่องกงโมเดล” มาเป็นโจทย์ในการแก้ไขปัญหา แต่ทว่าปมปัญหาของสองประเทศมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

            พัฒนาการของของสถานการณ์จนกว่าจะถึงจุดวิกฤติน่าจะใช้เวลาพอสมควร การปลดล็อกจึงน่าจะเริ่มจากผ่อนคลายไปตามข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรเท่าที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะสองข้อแรกในการเปลี่ยนตัวนายกฯ คนใหม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อโครงสร้างอำนาจเดิมก็ยังอยู่ คนที่ทำหน้าที่แทน “บิ๊กตู่” ก็ต้องรักษาสถานะของสถาบันสูงสุดไว้อย่างถึงที่สุด ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนโจทย์ของกลุ่มราษฎรแต่อย่างใด

            ระเบิดเวลาที่มาจากข้อเรียกร้องข้อที่สาม และการเผชิญหน้าของมวลชนสองกลุ่ม เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนที่แตกต่างกันสุดขั้ว จึงรอวันปะทุหากประตูทุกบานปิดตัวและไม่มีทางออก

            จึงไม่แปลกที่คำถามจะกลับมาวนเวียนที่เรื่องการรัฐประหาร โดยเฉพาะช่วงนี้กองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ยังคงนิ่งเงียบเฝ้าดูสถานการณ์ในที่ตั้ง ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาแม้แต่น้อย จนทำให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานา

            คำประกาศหลังเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ในการปกป้องสถาบันด้วยชีวิต และให้สัมภาษณ์หลังเข้ารับตำแหน่งว่า “เงื่อนไขการปฏิวัติเป็นศูนย์” พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดเงื่อนไขให้ติดลบมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญ

            แต่ปรากฏการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นก่อนที่ “คณะราษฎร” จะเคลื่อนไหวจนถึงจุดพีก

                เหตุการณ์ในขณะนี้จึงต่างออกไป จนไม่อาจแน่ใจในคำตอบว่าวันนั้นจะเหมือนในวันนี้หรือไม่ เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็ว และมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นกว่าตอนที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพรับตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายรัฐก็ต้องถอดสลักปัญหาอย่างระมัดระวัง

                และคงไม่มี “โมเดล” ใดนำมาใช้เป็นสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชาติในขณะนี้ให้ยุติหยุดลงได้โดยสงบฯ ในเวลาอันใกล้นี้!!!.

 

           

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"