"บิ๊กตู่" ขอทุกฝ่ายช่วยคิดหาทางออกบ้านพักศาล รับกระทบความรู้สึกคนในพื้นที่แม้ไม่ผิด กม. "วิษณุ" แจงนายกฯ ไม่อยากใช้ ม.44 แก้ปัญหา ชี้ทุบทิ้งสถานที่ราชการผิดกฎหมาย นัดรวมพลังริบบิ้นเขียวอีกรอบ 6 พ.ค.ขู่ยกระดับเข้มข้นขึ้น
เมื่อวันที่ 30 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ว่า วาระการประชุมวันนี้มีความสำคัญ เพราะปัญหาต่างๆ นั้นเกิดขึ้นมานาน โดยเฉพาะในการให้บริการประชาชนของภาครัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรเกิดมาได้นานแล้ว ไม่จำเป็นต้องมารอรัฐบาลนี้หรือ คสช. นั่นเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นความบกพร่องที่มีมานานในระบบ ดังนั้นจะต้องทำให้เร็วและทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะมีหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งระเบียบวิธีการปฏิบัติ การสร้างจิตสำนึกให้ข้าราชการการปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการใช้ดิจิทัลเข้ามาเสริม และการแก้ไขกฎหมายที่ไม่ทันสมัย ไม่เช่นนั้นวันนี้จะต้องกลับมาเป็นแบบเดิม ราวกับว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ทำอะไรเลยเข้ามา 4 ปี
"ส่วนตัวเข้าใจความปรารถนาดีของทุกคน แต่ถ้าลองมานั่งตรงนี้ในแบบที่ตนเองทำอยู่ ทุกอย่างต้องเริ่มจากกฎหมายทั้งสิ้น จึงต้องสร้างความเข้าใจกัน ยกตัวอย่างกรณีปัญหาบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้ยอมรับว่ากฎหมายไม่ผิด แต่ความรู้สึกของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องของป่าในมุมมองของประชาชน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ขอความกรุณาช่วยกันคิดด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีประชาชนชาวเชียงใหม่ชุมนุมเรียกร้องให้รื้อถอนบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ยกตัวอย่างเรื่องบ้านพักตุลาการว่าถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้รับการยอมรับ จึงต้องคิดเรื่องอื่นมาประกอบด้วย จะเอาแต่กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ พร้อมทั้งขอให้ทุกคนช่วยกันคิด ส่วนแนวทางจะเป็นอย่างไรนั้นตอบไม่ถูก วันนี้ที่เขาเรียกร้องคือเรื่องธรรมาภิบาลที่มีหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือนิติธรรม การกระทำที่ถูกกฎหมาย แต่มีเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบอยู่ด้วย โดยเรื่องนี้คนที่จะออกมาตรการแก้ไขปัญหาคือรัฐบาล
"ไม่เคยมีการพูดว่าจะใช้มาตรา 44 ในการแก้ไข นายกฯ เพิ่งกล่าวย้ำว่ามีคนมาขอให้ใช้ แต่นายกฯ คิดว่าไม่ต้องถึงขนาดนั้น จะใช้บ่อยๆ ทำไม วันนี้พยายามเลี่ยงใช้เท่าที่จำเป็น เพราะถ้าต่อไปไม่มีมาตรา 44 จะทำอย่างไร" นายวิษณุกล่าว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ประชาชนเหมือนจะยอมรับว่าการก่อสร้างดังกล่าวถูกกฎหมาย แต่ไม่ถูกต้องกับความรู้สึก ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรนั้นยังคิดไม่ออก ข้อเรียกร้องที่ให้รื้อถอนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิดหลายตลบ เพราะทุบบ้านทิ้งผิดกฎมาย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินราชการ ใช้งบประมาณไปกว่าพันล้านบาท หากจะรื้อทิ้งอำนาจนั้นมาจากไหน ผู้ชุมนุมเองก็ทราบ จึงมีการแตกหลายฝ่าย ทั้งให้รื้อและให้นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล ตนไม่ได้กังวลเรื่องนั้น ส่วนการจับตาผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มต่างๆ ที่รณรงค์ให้ออกมาคัดค้านนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบอยู่แล้วเรื่องความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกันทุกมิติ แต่จากการข่าวยังไม่ชี้ชัด อย่างไรก็ตามงานนี้อยู่ในกรอบของตำรวจ หากเกิดมีการชุมนุมสามารถบังคับใช้กฎหมายได้
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้มีคณะทำงานหรือมีคณะกรรมการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อจะหาทางออกที่ดีที่สุดให้ทุกคน ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือผลกระทบที่จะตามมา และผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
ส่วนที่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ จะเกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างบ้านพักแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นั้น พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่าไม่ทราบรายละเอียดมากขนาดนั้น แต่ในภาพรวมจะต้องอยู่ในจุดที่ทุกคนพึงพอใจและเป็นไปได้ โดยไม่มีผลกระทบให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมสำนักเลขาธิการ คสช.เมื่อช่วงเช้าที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช.เป็นประธาน ได้กำชับแม่ทัพภาคที่ 3 ให้ดูแลและประสานงานกับทุกฝ่าย ว่าในช่วงระยะเวลาที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ขอให้ดูแลพี่น้องประชาชนและมวลชน พร้อมสร้างความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในภาพรวมของคณะทำงานที่นายกฯ ตั้งขึ้น
ขณะที่นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง จากการที่มีชาวเชียงใหม่และประชาชนทุกภาคส่วน ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้สูงอายุและเด็กๆ ต่างพากันออกมาร่วมแสดงพลังกันอย่างเนืองแน่นหลายพันคน จนเต็มพื้นที่จัดกิจกรรมลานประตูท่าแพและลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งนอกจากในแง่จำนวนแล้ว ภาพที่ผู้คนร่วมแรงร่วมใจกันออกมาแสดงพลังนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าชาวเชียงใหม่ทุกหมู่เหล่าพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ และออกมาแสดงพลังปกป้องดอยสุเทพที่เป็นมากกว่าดอย และมีคุณค่าต่อจิตวิญญาณของคนเชียงใหม่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจเชื่อว่าผู้คนจะออกมาแสดงพลังกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
"เบื้องต้นขอให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างในพื้นที่โครงการ แล้วมาพูดคุยรายละเอียดกันว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยอยากให้นายกฯ ตัดสินใจโดยเร็ว ซึ่งตลอดสัปดาห์นี้ เครือข่ายจะยังคงมีการรณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่ร่วมกันติดริบบิ้น หรือผูกผ้าสีเขียวทั่วทั้งเมืองเพื่อแสดงพลัง พร้อมให้ข้อมูลสำหรับผู้สนใจ ขณะเดียวกันจะมีการประเมินแนวโน้มสถานการณ์ควบคู่กันไป หากนายกฯ และรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เครือข่ายอาจจะเตรียมที่จะยกระดับความเข้มข้นการเคลื่อนไหวและนัดหมายจัดกิจกรรมเหมือนวันที่ 29 เม.ย.อีกครั้งในวันที่ 6 พ.ค.นี้" นายธีระศักดิ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดกิจกรรมวันที่ 6 พ.ค.นี้ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจะร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมนักดนตรีเชียงใหม่, ชมรมศิลปินล้านนา, กลุ่มเมืองเมือง, มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดงาน "เทศกาลฉันรักดอยสุเทพ" ระหว่างเวลา 17.00-21.00 น.ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (สี่แยกกลางเวียง ถนนคนเดิน) ในตัวเมืองเชียงใหม่
โดยจะมีการจัดนิทรรศการ "ดอยสุเทพที่ฉันรัก" บอกรักดอยสุเทพผ่านภาพและเรื่องราวของแต่ละยุคสมัย ทั้งเรื่องความเชื่อความศรัทธาและความหลากหลายทางธรรมชาติ พร้อมการแสดงดนตรี
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ เตรียมการประสานงานขอพื้นที่ถนนคนเดินวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่จัดงานในวันนั้น ด้วยการขอความร่วมมือจากร้านค้าในถนนคนเดินวันอาทิตย์ให้ช่วยกันติดริบบิ้นสีเขียวด้วย
ที่ จ.ขอนแก่น พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์ชื่อดัง ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า หากจับประเด็นในความต้องการหรือข้อเรียกร้องในมุมของประชาชน จะพบว่าเป็นข้อเรียกร้องที่มีทางออกในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ด้านข้าง แต่ขออย่ารุกล้ำเข้าไปในป่า ดังนั้นขอให้พบกันครึ่งทาง ทุกฝ่ายควรเดินทางสายกลาง ยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา มาเป็นทางออกและทางแก้ไขร่วมกัน จุดใดที่ประชาชนไม่สบายใจจะรื้อจะหยุดก็ว่ากันไป โครงการที่สร้างนั้นเป็นเงินของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะออกมาโต้แย้งหรือสงสัยในการกระทำดังกล่าวของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นศาลควรที่จะยึดเอาความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ยึดในจุดที่ประชาชนทุกฝ่ายนั้นสบายใจ ส่วนที่ไม่สบายใจก็ยกเลิกไป เพราะควรให้ถูกต้องด้วยในด้านของกฎหมายและถูกใจคนที่อยู่ตรงนั้นด้วย เรื่องนี้จะจบลงได้ด้วยดี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |