โล่งอก ไม่พบผู้ติดเชื้อจาก หญิงชาวฝรั่งเศส  เหตุเจ้าตัวใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา  แม้แต่สามี ลูก ก็ไม่พบเชื้อ


เพิ่มเพื่อน    

 

27 ต.ค.63-นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนพ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีหญิงสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 57 ปี ป่วยโรคโควิด 19     ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

นพ. โอภาส กล่าวว่าขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 ในพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก ได้แล้ว โดยจากการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ อ.แม่สอด จำนวน 8,500 ราย ไม่เจอผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะ 100% การเฝ้าระวังสุ่มตรวจคนไทยขับรถเข้าไปยังเมียนมาและพนักงานขับรถส่งของเมียนมาเข้ามายังไทยไม่มีการติดเชื้อเพิ่มเติมเช่นกัน เช่นเดียวกับการขยายพื้นที่การตรวจออกไปอีก 4 อำเภอของ จ.ตาก ได้แก่     พบพระ อุ้มผาง แม่ระมาด และท่าสองยาง จำนวน 1,400 กว่ารายก็ไม่พบติดเชื้อ นับว่าเข้าสู่ขั้นปลอดภัย จากนี้จะเฝ้าระวังเชิงรุกใน 2 ส่วน คือกลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น โรงงาน เป็นต้น และเฝ้าระวังในโรงพยาบาล ได้แก่ ผู้ป่วยโรคปอดบวมสัปดาห์ละ 10 ราย และผู้ป่วยคลินิกโรคทางเดินหายใจวันละ 10 ราย หากเป็นปกติคาดว่าไม่เกินสัปดาห์จะเข้าสู่สถานการณ์ปกติถือว่าสิ้นสุดการระบาดในพื้นที่

สำหรับกรณีหญิงฝรั่งเศสที่เกาะสมุย สถานการณ์ถือว่าอยู่ในระดับควบคุมได้เช่นกัน คาดว่าจะเป็นลักษณะของ Spike คือเจอผู้ติดเชื้อ 1-2 คน และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีสุขอนามัยที่ดี       สวมหน้ากากตลอดเวลา ผู้ใกล้ชิดอย่างสามีและลูกชายไม่พบการติดเชื้อ ขณะที่โรงพยาบาลมีการดำเนินการเฝ้าระวังการติดเชื้ออย่างดี ประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากเพิ่มขึ้นเป็น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งพิจารณาตามหลักการประเมิน Outbreak Impact Risk คือ ตัวผู้ป่วย เชื้อโรค สิ่งแวดล้อม มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ และมาตรการที่ประชาชนร่วมมือ

ด้านนพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยังคงเข้ารักษาอยู่ในห้องแยกโรค รพ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไม่มีไข้และไม่มีอาการเหนื่อย แต่ยังมีอาการไอ ทีมแพทย์ได้ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด สำหรับการสอบสวนโรคในผู้สัมผัสกับผู้ป่วยรายนี้มี  126 ราย แยกเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 46 ราย เก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อแล้ว 28 ราย ผลเป็นลบหรือไม่ติดเชื้อ 27 ราย รอผล 1 ราย และอยู่ระหว่างติดตาม และเก็บตัวอย่าง 18 ราย ดังนี้
 1) บุคคลครอบครัวเดียวกัน 2 ราย คือ สามีและลูกชาย ผลเป็นลบ ครบกำหนดติดตามวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563  2) ผู้สัมผัสในชุมชน 30 ราย ได้แก่ เพื่อน 1 ราย ผลเป็นลบ ครบกำหนดติดตามวันที่ 29 ตุลาคม 2563 พนักงานร้านนวด 6 ราย ผลเป็นลบทุกราย ครบกำหนดติดตามวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และในบาร์ 23 ราย เป็นเจ้าของ 2 ราย พนักงาน 3 ราย เพื่อน 2 ราย และผู้ที่สัมผัส 16 ราย ผลเป็นลบแล้ว 7 ราย อยู่ระหว่างติดตาม 16 ราย ครบกำหนดติดตามวันที่ 29 ตุลาคม 2563  3) เที่ยวบินเดียวกัน 12 ราย เป็นผู้โดยสาร 10 ราย พบมีอาการป่วย 1 ราย ผลเป็นลบแล้ว 9 รายรวมถึงผู้ที่มีอาการป่วย และอยู่ระหว่างรอผล 1 ราย พนักงานบนเครื่อง 2 ราย ผลเป็นลบ จะครบกำหนดติดตามวันที่ 29 ตุลาคม 2563  4) คนขับรถแท็กซี่ 2 ราย จากสถานกักกันทางเลือกไปสถานทูตฝรั่งเศส 1 ราย และจากสถานทูตฝรั่งเศสไปสนามบิน 1 ราย อยู่ระหว่างการติดตาม โดยจะครบกำหนดติดตามวันที่ 29 ตุลาคม 2563 

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 80 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่สนามบิน 29 ราย เที่ยวบินเดียวกัน 23 ราย จะครบกำหนดติดตามวันที่ 29 ตุลาคม 2563 และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล 28 ราย จะครบกำหนดติดตามวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยทุกรายไม่มีอาการ ได้แนะนำให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ที่มีคนรวมกันจำนวนมาก และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ทั้งนี้ ในสถานที่กักกันทางเลือก (ASQ) จ.สมุทรปราการ ที่ผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้ารับการกักกันโรคระยะเวลา 14 วันตามมาตรการของประเทศไทย ได้เก็บตัวอย่างจากพนักงานในสถานที่กักกันจำนวน 67 ราย ผลไม่พบเชื้อ และภูมิคุ้มกัน (Antibodies) เป็นลบ ซึ่งนโยบายในการดำเนินงานในสถานที่กักกันจะเน้นความปลอดภัยของผู้ถูกกักกันและผู้ปฏิบัติงาน มีระบบควบคุมกำกับและตรวจสอบมาตรฐานเข้มงวด ไม่ให้ออกจากสถานที่กักกันก่อนครบกำหนด 14 วัน รวมถึงมีการทำความสะอาด Big cleaning สุ่มตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่อง และติดตามเฝ้าระวังผู้ถูกกักกันตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2563

นพ. โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สธ.  หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินการตามขั้นตอนการสอบสวนและมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องจนครบกระบวนการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวไทย ทั้งนี้ การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมีโอกาสเป็นไปได้ แต่การพบผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสให้ได้โดยเร็ว และควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดจะสามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ ซึ่งความร่วมมือประชาชน ชุมชน และ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีความสำคัญในการควบคุมสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง ดังกรณีที่อ.สมุย จ.สุราษฎร์ธานี ประชาชนให้ความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะกว่าร้อยละ 80 ทำให้ลดโอกาสการเกิดการระบาดของโรค รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังชุมชนโดย อสม. อสร. (อาสาสมัครโรงแรม) เป็นผลให้ควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนการเปิดประเทศ-เปิดเศรษฐกิจให้กว้างขวางขึ้นอย่างปลอดภัย สร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ-วิถีชีวิต-วิถีทางสังคม-เศรษฐกิจ


 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"