โค้งสุดท้ายโอกาสท่องเที่ยวไทย


เพิ่มเพื่อน    

      การท่องเที่ยวสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับหลายๆ ประเทศทั่วโลก และกระทั่งประเทศไทยก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางหยุดชะงัก หลายๆ ประเทศต้องล็อกดาวน์ เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อ ดังนั้น ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นคือระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการทั้งหมด โรงแรมปิดตัวคนตกงานมหาศาล ภาครัฐเองได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่าง “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ทำให้คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในเดือน ก.ค.-ก.ย.63 มีจำนวนประมาณ 24.3 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 ที่มีจำนวนเพียง 3.9 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.63 กลุ่มตัวอย่างกว่า 60.0% มีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งแบบค้างคืนและแบบไปเช้า-เย็นกลับ ขณะที่ยังไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมีสัดส่วน 40.0% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

        ดังนั้น เพื่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น  อาทิ การเพิ่มวันหยุดยาวพิเศษในวันที่ 19-20 พ.ย.2563 และการเปลี่ยนแปลงวันหยุดชดเชยจากวันที่ 7 ธ.ค.เป็นวันที่ 11 ธ.ค.2563 เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดมากกว่าวันธรรมดา รวมถึงการต่ออายุและปรับเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นต้น

        แต่ก็ต้องยอมรับว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวในปีนี้ก็อาจจะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา นอกจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อนักท่องเที่ยวบางกลุ่มแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สถานการณ์โควิดและการเมือง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยเป็นการสำรวจเชิงคุณภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 77.3% มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะโควิด-19

        ดังนั้น ทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง เมื่อคนไทยยังมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 และหากไม่มีการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งของโรคโควิด-19 ในประเทศ และปัญหาการเมืองอยู่จำกัดเฉพาะพื้นที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะยังรักษาระดับการเพิ่มขึ้นได้

        และยังมองว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีจำนวน 36.1 ล้านคน/ครั้ง และการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาดไทยเที่ยวไทยทั้งปี 2563 การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยน่าจะแตะที่กรอบล่างของการประมาณการอยู่ที่ประมาณ 89.5 ล้านคน/ครั้ง หดตัว 46.4% และด้านการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.06 แสนล้านบาท หดตัว 53.3% จากปี 2562

        อย่างไรก็ตาม ในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวคงต้องเร่งทำตลาดสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้โอกาสจากการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนี้ มาทำแคมเปญการตลาดควบคู่กันไป โดยใช้ประโยชน์จากช่องทางเทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ การทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเหมาะกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการทำตลาดอย่างกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และยังเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวและที่พัก และที่สำคัญผู้ประกอบการก็ควรที่จะมีการพัฒนา Content ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดให้มีผู้ติดตาม

      และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการดูแลและเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวควรจะมีระบบการสื่อสารให้ลูกค้าที่ใช้บริการและที่จะมาใช้บริการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดข่าวลือและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น.

บุญช่วย  ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"