นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ยืนกลางแถวที่ 2 ) กับผู้บริหาร พอช.และผู้นำชุมชน
พอช./ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตนายกฯ ร่วมงาน “20 ปี พอช. กับการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย” เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีกว่าเดิม”(Housing For All : A Better Urban Future) ขณะที่ผู้แทนเครือข่ายชุมชน ภาคประชาสังคม และ พอช. ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และเดินหน้าสนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการเงินและระบบสินเชื่อ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัย ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเอง ฯลฯ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นองค์การมหาชนแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2543 ปัจจุบัน พอช.ดำเนินงานครบ 20 ปี มีภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรชุมชนผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนด้านต่างๆ เช่น สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชนที่มีรายได้น้อย ส่งเสริมอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน การจัดสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน การดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ ฯลฯ
เนื่องในโอกาสที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดำเนินงานครบรอบ 20 ปี มีการจัดงาน “20 ปี พอช.พลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ ที่สถาบันฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การประกาศเจตนารมณ์เพื่อสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งจัดการตนเองได้เต็มประเทศภายในปี 2575
บรรยากาศงานด้านนอก
“20 ปี พอช. กับการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย”
โดยในวันนี้มีการจัดงาน “20 ปี พอช. กับการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย” เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีกว่าเดิม”(Housing For All : A Better Urban Future) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมงาน และมีนายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และผู้บริหารสถาบันฯ ให้การต้อนรับ มีผู้แทนชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน
ภายในงานมีเวทีอภิปราย Housing For All : A Better Urban Future ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีกว่าเดิม การอ่านสาส์นเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก และกล่าวแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี พอช. โดยผู้แทน UN-Habitat ประเทศไทย การมอบโล่รางวัลบ้านมั่นคงดีเด่น และโล่รางวัลนวัตกรรมสวัสดิการชุมชน ประจำปี 2563 การแสดงละครเรื่อง กว่าจะเป็นบ้านมั่นคง โดยผู้แทนชาวชุมชนบ้านมั่นคง ฯลฯ
บรรยากาศในห้องประชุม พอช.
ทั้งนี้องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” พอช.และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดมหกรรม “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี น่าน ขอนแก่น และชุมพร
ทั้งนี้ พอช.เริ่มสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546 โดยยึดหลักการให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อน มีความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยได้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ พอช.ไปสร้างบ้านให้ชาวบ้าน แต่สนับสนุนให้ชาวชุมชนร่วมกันแก้ปัญหา
เช่น ร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงาน ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน ข้อมูลผู้เดือดร้อน รวมกลุ่มกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน วางแผนการแก้ไขปัญหา เช่น สร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิม เช่าที่ดิน หรือจัดหาที่ดินใหม่ ร่วมกันออกแบบผังชุมชน ออกแบบบ้าน ร่วมกันบริหารโครงการ ฯลฯ
ส่วน พอช.มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำปรึกษา ส่งเจ้าหน้าที่และสถาปนิกมาร่วมทำงานกับชุมชน สนับสนุนด้านสินเชื่อและงบประมาณบางส่วน (เช่น ระบบสาธารณูปโภค การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาคีในท้องถิ่นร่วมสนับสนุน เช่น อบต. เทศบาล การไฟฟ้า การประปา สถาบันการศึกษา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ฯลฯ โดยมีช่างชุมชน จิตอาสาร่วมสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้าน
นายอภิสิทธิ์ฟังบรรยายการจัดแสดงนิทรรศการ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเป็นธรรมในสังคม และสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการพื้นฐานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี’ (พ.ศ.2560-2579) โดยมีวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”
ตามแผนแม่บทดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยอาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน (การเคหะแห่งชาติประมาณ 2 ล้านครัวเรือน) แบ่งเป็น 1.แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อยในเมือง 701,702 ครัวเรือน (บ้านมั่นคง ชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร คนไร้บ้าน) 2.ผู้มีรายได้น้อยในชนบท 352,000 ครัวเรือน (ซ่อมสร้างบ้าน)
ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พอช. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทุกประเภทไปแล้วกว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ ประมาณ 249,000 ครัวเรือน
‘อภิสิทธิ์’ : “ประชาชนต้องเป็นคนแก้ปัญหาของตนเองได้จะยั่งยืนที่สุด”
นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ กล่าวปาฐกถาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชน โดยมีใจความสรุปว่า งานพัฒนาที่ทำแล้วลึกกว่าเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัย 4 ความสำเร็จด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาคนโดยผ่านการพัฒนาที่อยู่อาศัย และเรื่องการพัฒนาชุมชน โครง การบ้านมั่นคงของ พอช. เริ่มตั้งแต่รัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร ในปี 2546
“แต่ความต่างของโครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามความต้องการของบริบทชุมชน ให้คนที่อยู่ร่วมกันในชุมชนมีโอกาส มีความมั่นใจในการเดินต่อได้ การออกแบบต้องมาจากภาคประชาชน จึงต่างจากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลทำให้ประชาชน แต่โครงการบ้านมั่นคงต้องไปหาประชาชนก่อน ที่ผมได้เกี่ยวข้องคือที่ชุมชนบางบัว คนที่ทำข้อมูล ทำแผนที่คือชาวบ้าน แนวคิดนี้เป็นการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และเป็นการคลายความขัดแย้งของทุกภาคส่วนในสังคมด้วย การคิดพัฒนาต่อเรื่องอาชีพ เรื่องการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค” นายอภิสิทธิ์กล่าว
อดีตนายกฯ กล่าวต่อไปว่า แนวคิดนี้คือที่มาในการคิดเรื่องโฉนดชุมชน ปัญหาที่ทำกินยังเป็นปัญหาคนรุกป่า หรือป่ารุกคน กลัวชาวบ้านได้เอกสารสิทธิ์แล้วขายให้นายทุน จึงคิดออกแบบเรื่องโฉนดชุมชน แต่น่าเสียดายที่มีการเคลื่อนต่อน้อย พื้นที่ที่ดำเนินการสำเร็จเพียง 2 พื้นที่ แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องภาษีที่ดิน โครงการแบบนี้ไม่สามารถให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้บริหารที่ไหนไปสั่งให้ทำได้ แต่ต้องเริ่มจากพื้นที่ที่มีปัญหา
ส่วนเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ช่วงที่ตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายก มีคณะรัฐมนตรีด้านสังคม ครูชบ ยอดแก้วได้เสนอเรื่องการออมวันละบาท ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อตนได้มาเป็นนายกฯ คิดว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และปัจจุบันก็เริ่มเป็นแล้ว นอกจากการพยายามหาทางดูแลผู้สูงอายุ ก็มีการคิดเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่งบในประเทศก็ไม่มี แต่พยายามสร้างหลักประกันให้คนที่ไม่อยู่ในระบบราชการ ไม่มีระบบสวัสดิการ
“รัฐบาลทุกชุดมักจะมีการส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ ไม่ค่อยมีรัฐบาลที่ส่งเสริมเรื่องการออม ซึ่งรัฐบาลกลางควรมีการสนับสนุนการออม โดยการสมทบกองทุนวันละบาท และให้ท้องถิ่นในการร่วมสมทบ แต่ไม่ใช่เป็นการสั่งการให้มีการจัดตั้งก่อน การสมทบกองทุนที่สามารถรับการสนับสนุนแล้ว มีตัวชี้วัดชัดเจน ต้องพิสูจน์ว่ามีสมาชิก มีการออม มีระเบียบวินัยในการออม และมีศักด์ศรีในการรับอย่างมีศักดิ์ศรี” อดีตนายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการการแก้ปัญหาของขบวนองค์กรชุมชนว่า ต้องพัฒนาให้มากขึ้น เรื่องมาตรฐานการบริหารก็ประสบปัญหากับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สมัยตนฯ เป็นนายกก็จัดเวทีพูดคุยระหว่างท้องถิ่นกับ สตง. ให้ชี้แจงว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ ให้บอกกันก่อน ไม่ใช่ทำผิดแล้วเรียกเงินคืน การวินิจฉัยให้มีบรรทัดฐาน เรื่องเดียวกันบางจังหวัดทำได้ บางจังหวัดทำไม่ได้ ควรมีคู่มือเป็นบรรทัดฐานให้ทราบโดยทั่วไป ถ้าเป็นอุปสรรคก็ต้องนำมาแก้ไข ต้องยอมรับว่าทุกที่อาจจะมีกรณีที่ทำไม่ถูกต้อง ชุมชนก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพราะข้อโต้แย้งเรื่องการกระจายอำนาจ คือท้องถิ่นมีการทุจริต แต่ก็ยังน้อยกว่ารัฐบาลส่วนกลาง
“ปัญหาของสังคมไทยโดยรวมเรามักจะอยู่กับคนที่คิดเหมือนเรา เราต้องคิดขยายการทำเรื่องดีๆ ไปสู่คนอื่น สร้างการแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เกิดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาได้ เพื่อคลายความขัดแย้ง โจทย์ในอนาคตมีปัญหาเพิ่มอีกมาก การต้องการมาอยู่ในเมือง การต้องการการขนส่งโดยรวดเร็ว เมื่อสภาพของเมืองเปลี่ยนทั้งเรื่องการเกิดศูนย์กลางธุรกิจ โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ก็จะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น”
“ในสถานการณ์โควิด มีคนพูดกันเรื่อง New Normal แต่คิดว่าเป็น No Normal ไม่มีอะไรปกติ จะมีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อย ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตลอดเวลา การร่วมมือกันภายใน และร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก นำองค์ความรู้ที่สะสมมา ประชาชนต้องเป็นคนแก้ปัญหาของตนเองได้จะยั่งยืนที่สุด ส่งเสริมความสามัคคีปรองดองที่สุด การแก้ปัญหาโดยอำนาจนิยมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่มีใครชอบการถูกบังคับ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน การเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชน ให้หน่วยงานสนับสนุนเราจะเดินหน้าไปได้ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง” อดีตนายกรัฐมนตรีให้ข้อแนะนำในตอนท้าย
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่มีบทบาทสนับสนุนการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.องค์การมหาชน และนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในปี 2543 เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2551-2554 เคยอนุมัติโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) โดยสนับสนุนงบประมาณผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ทำให้ประชาชนทั้ง 5 จังหวัดที่มีฐานะยากจนได้ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรม รวม 48,992 ครัวเรือน
คำประกาศเจตนารมณ์ “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม”
ในช่วงท้ายของการจัดงาน “20 ปี พอช. กับการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย” เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีกว่าเดิม”(Housing For All : A Better Urban Future) โดยมีการอ่านสาส์นเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และกล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี พอช. โดยผู้แทนองค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) ประจำประเทศไทย
ผู้แทน UN-Habitat อ่านสาส์นเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก
การมอบโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณให้กับองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชน และหน่วยงานภาคีพัฒนา เพื่อเป็นประกาศเกียรติคุณ และสื่อสารต่อสาธารณะในการเป็นต้นแบบอันดีของการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงจนสำเร็จเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 8 ประเภทรางวัล 34 โล่รางวัล 41 ใบประกาศเกียรติคุณ และหน่วยงานภาคีพัฒนา 50 โล่รางวัล
นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ มอบโล่ให้ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการจัดงาน ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนที่มาร่วมงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ มีเนื้อหาว่า เป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามแผนปฏิบัติการที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) คู่ขนานไปกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing For All)”
โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ยึดโยงกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 ของสหประชาชาติ และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยเน้นการแบ่งตามระดับรายได้ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวงจรชีวิต ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ20ปี (พ.ศ.2560 -2579)
มีเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 5 ประการ คือ 1. สนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน 2.ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการเงินและระบบสินเชื่อ 3. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัย 4. ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ 5. การจัดการระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ จัดการที่ดินและผังเมืองที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม
ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์
เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายประชาสังคม และ พอช. ซึ่งร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในชุมชนเมืองและชนบท ขอร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อคนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 จึงได้กำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกัน 6 เปลี่ยน 8 คุณภาพ 9 เนื้อหา ดังนี้
“ 6 เปลี่ยน”
1.เปลี่ยนจาก “ไม่ทำร่วมกับใคร” เป็นการสร้างความร่วมมือ 2. เปลี่ยนจากการทำโครงการบ้านมั่นคงโดดเดี่ยว เป็นทำทั้งเมือง/ตำบล 3.เปลี่ยนคุณภาพองค์กรชุมชน บริหารโครงการให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม 4.เปลี่ยนวิธีคิด จากแค่การสร้างบ้าน เป็นการสร้างบ้านที่มากกว่าบ้าน 5.เปลี่ยนจากการเป็นเครือข่ายเฉพาะบ้านมั่นคง ให้ครอบคลุมทุกชุมชนคนจนในเมือง และ 6.เปลี่ยนจากการถูกออกแบบให้ เป็นการร่วมออกแบบ
“8 คุณภาพ”
1.พัฒนาองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สมดุล มีส่วนร่วม ตื่นตัวในการเรียนรู้ 2.พัฒนาการวางแผน วางผังการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า มีส่วนร่วม 3.ฟื้นฟูและสร้างกองทุนชุมชน กองทุนเมือง ให้เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่เข้มแข็ง 4.มีแนวทางและแผนการพัฒนาอาชีพ รายได้ สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง 5. เปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทของการพัฒนา เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนต่อไป 6.ส่งเสริม และให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงต่อการทำงานพัฒนา 7.สร้างชุมชนแห่งสวัสดิการเพื่อการอยู่ร่วมกัน 8.สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาเมือง/ท้องถิ่น
“9 เนื้อหา”
1.เสนอนโยบายที่ดินรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 2. สำรวจข้อมูลชุมชนทั้งเมืองทุกเรื่อง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ยกระดับการจัดระบบ ฐานข้อมูล สู่การวางผังพัฒนาเมือง/ตำบล 3.พัฒนากลุ่มออมทรัพย์ สร้างกองทุนชุมชน สวัสดิการชุมชนในเมืองให้เข้มแข็ง 4.เชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลาง ผู้เดือดร้อนและขบวนองค์กรชุมชนเป็นหลัก หน่วยงานเป็นผู้หนุนเสริม 5.พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการชุมชนให้ครบถ้วน ครอบคลุม
6.วิเคราะห์ต้นทุน วางแผนพัฒนาทั้งเมือง/ตำบล ที่คลอบคลุมทุกด้าน 7.พัฒนาคุณภาพองค์กร ระบบบริหารจัดการให้มีธรรมาภิบาล พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพ คนทำงาน 8.ปรับแก้กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้บรรลุตามแผนปฏิบัติที่อยู่อาศัย 20 ปี 9.พัฒนายกระดับการสร้างนวัตกรรม/เทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
ด้วยพลังการขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นดังกล่าวแล้วนี้ เราจะร่วมกับภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน สร้างความมั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing For All)” “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม” (ประกาศ ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรุงเทพมหานคร)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |