หากรัฐสภาไม่ตอบโจทย์ปัญหา สถานการณ์เสี่ยงแรงขึ้น!


เพิ่มเพื่อน    

     จับกระแสความเห็น-ทัศนะจากหลายฝ่าย หลังการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ ที่นำเรื่องสถานการณ์ร้อนแรงทางการเมืองเข้าไปหารือ-อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เช้าจนถึงพลบค่ำ ผ่านไปหลายชั่วโมง ที่มีทั้งการชี้แจงสถานการณ์จากคนในรัฐบาล ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ, วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตลอดจนความเห็น ข้อเสนอแนะจากทั้ง ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สมาชิกวุฒิสภา

     เมื่อจับกระแสความเห็นที่ออกมาจากฝ่ายต่างๆ เช่น นักวิชาการ-ความเห็นผู้คนในโลกโซเชียลมีเดีย จับทิศทางได้ว่า ส่วนใหญ่มองว่าเวทีรัฐสภาที่ใช้ไปหนึ่งวันเต็มๆ ยังไม่พอ ทำให้เห็นได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นนอกรัฐสภา เวทีรัฐสภาจะเป็นกลไกที่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้นแต่อย่างใด แม้ส่วนใหญ่จะคาดหวังไว้อยู่แล้วว่า เวทีดังกล่าวคงไม่สามารถหาทางออกที่เป็นรูปธรรมชัดเจนได้ แต่หลายคนก็ยังคาดหวังว่า อย่างน้อยก็น่าจะเป็นเวทีให้แต่ละฝ่าย ถอยคนละก้าว เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ที่ไม่ใช่แค่วิธีการเดิมๆ ประเภทเสนอความเห็น-ทางเลือกแบบนามธรรม ที่ใช้เวลาเนิ่นนานในการหาข้อสรุป หรือการตั้งคณะกรรมาธิการฯ หรือคณะกรรมการใดๆ มาขัดตาทัพ ที่จะเป็นการซื้อเวลา อันไม่เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเวลานี้ โดยเฉพาะหากฝ่ายผู้ชุมนุม-แกนนำม็อบสามนิ้ว ไม่ยอมร่วมวงพูดคุยเจรจาด้วย

     ซึ่งก็พบว่า เวทีรัฐสภาที่ผ่านไปหนึ่งวันก็ยังไม่เห็นอะไรที่จะเป็นทางออกแบบรูปธรรม ที่ก็ดูจะไม่เหนือความคาดหมาย แต่ก็คงต้องดูการประชุมวันอังคาร 27 ต.ค.นี้อีกหนึ่งวัน ว่าสุดท้าย หลังประชุมกันสองวันสองคืน จะมีอะไรที่พอจะทำให้คนในสังคมได้เห็นว่ารัฐสภาคือเวทีที่เป็นทางออกให้กับประเทศได้

     เพราะหากเวทีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน แม้บางส่วน เช่น ส.ว.จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้าเวทีรัฐสภาถกกันสองวันสองคืน แต่สุดท้ายไม่สามารถมีทางออก หรือแนวทางที่พอจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ก็น่าเป็นห่วงว่า เมื่อคนเห็นว่าเวทีรัฐสภาไม่สามารถเป็นทางออก-ทางแก้ปัญหาได้ สถานการณ์การเมือง การชุมนุมบนท้องถนนก็อาจจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น

     อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงการประชุมวันแรก ก็เห็นสัญญาณความพยายามเร่งปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ชุมนุม-ม็อบสามนิ้ว โดยเฉพาะเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายเริ่มประเมินว่าจากสถานการณ์เวลานี้อาจทำให้ ส.ว.ยอมเทเสียง 84 เสียง เพื่อให้ได้เสียงเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญให้ร่างแก้ไข รธน.ผ่านวาระแรก เพื่อทำให้เงื่อนไขการชุมนุมลดลงไป หากมีการแก้ไข รธน.ตั้งสภาร่าง รธน.

     โดยแกนนำรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการลดขั้นตอนเรื่องกรอบเวลาในชั้นกรรมาธิการร่วมรัฐสภาให้ใช้เวลาสั้นลง ด้วยการตั้ง คณะกรรมาธิการร่วมเต็มสภาฯ ที่ก็หมายถึงจากเดิมหากรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.วาระแรก แล้วจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เพื่อไปพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ในชั้น กมธ. ที่ปกติก็ใช้เวลาอย่างน้อยก็ 30 วัน แต่หากใช้วิธีตั้งคณะ กมธ.ร่วมเต็มสภาฯ ก็คือ พอโหวตวาระแรกเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.ที่มีด้วยกัน 6 ร่าง ทั้งของรัฐบาลและฝ่ายค้านเสร็จ ก็ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตตั้งกรรมาธิการร่วมเต็มสภาฯ ในวันดังกล่าวกลางห้องประชุมร่วมรัฐสภาทันที แต่ให้มีคณะกรรมาธิการฯ ที่จะเป็นคนพิจารณาถ้อยคำประมาณ 45 คน เป็นตัวหลักในการเขียนถ้อยคำตามร่างวาระสอง แล้วที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่เป็นกรรมาธิการเต็มคณะ ก็พิจารณาให้แล้วเสร็จในวันเดียวกันหรือภายใน 1-3 วัน จนได้ข้อสรุปเป็นความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาวาระสอง เท่ากับว่ารัฐสภาใช้เวลาพิจารณาร่าง รธน.วาระแรกและวาระสอง อาจใช้เวลาแค่ภายในวันเดียว หรือไม่เกิน 1-3 วัน ถ้าออกมาแบบนี้ การแก้ไข รธน.ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง ก็จะร่นเวลาทำให้เสร็จได้เร็วขึ้นร่วมเดือนเลยทีเดียว

     ซึ่งกรณีแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนหลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 35 ที่รัฐสภาเห็นชอบการแก้ไข รธน.สามวาระรวดวันเดียว เพื่อแก้ประเด็นที่ผู้ชุมนุมปี 2535 เรียกร้อง โดยมีการแก้ไขให้นายกฯ มาจาก ส.ส.และประธานสภาฯ ต้องเป็นประธานรัฐสภา จากเดิมที่เป็นประธานวุฒิสภา

     เพียงแต่ รธน.ปี 2560 ไม่สามารถทำได้เสร็จภายในวันเดียวแบบปี 2535 เพราะในมาตรา 256 บัญญัติว่า หลังโหวตวาระสองแล้ว ต้องทิ้งระยะเวลาไว้ 15 วัน จึงทำให้ไม่สามารถพิจารณาสามวาระรวดได้

     ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณจากรัฐบาล ที่น่าจะทำให้พอเห็นรูปธรรม ถึงความพยายามหาทางออก เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง บนเงื่อนไข ส.ว.ต้องยอมเทเสียงให้ 84 เสียงเพื่อแก้ไข รธน. เพราะหากทุกฝ่ายตั้งแง่ ไม่มีใครยอมใคร ที่บอกให้ถอยคนละก้าว ไม่มีใครยอมถอยจริง ทุกอย่างก็คงติดล็อกไปหมด จนปัญหาแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"