หวั่นซ้ำรอยตปท. ปรับมาตรการเข้ม หลังฝรั่งติดโควิด


เพิ่มเพื่อน    


     ศบค.เผยพบผู้ป่วยใหม่ 7 รายมาจากต่างประเทศ สธ.จ่อปรับมาตรการกักตัวเข้มงวดขึ้น  หลังแหม่มฝรั่งเศสติดโควิดในไทย กรมอนามัยสั่งฟิตเนสคุมเข้ม เช็กอินไทยชนะ-เว้นระยะห่าง-เช็ดล้างอุปกรณ์
     เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 รายในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,743 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 13 ราย รวมยอดหายป่วยสะสม 3,543 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 141 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 59 ราย สำหรับผู้ป่วยใหม่ รายที่ 1 มาจากบาห์เรน เป็นชายไทย พนักงานนวด อายุ 67 ปี รายที่ 2 มาจากออสเตรีย เป็นหญิงไทย พนักงานนวด อายุ 49 ปี รายที่ 3 มาจากจอร์แดน เป็นชายไทย นักศึกษา อายุ 25 ปี รายที่ 4  มาจากอิรัก เป็นหญิงไทย พนักงานนวด อายุ 39 ปี รายที่ 5 มาจากกาตาร์ เป็นหญิงไทย อายุ 40 ปี  รายที่ 6 มาจากตุรกี เป็นหญิงไทย อายุ 42 ปี และรายที่ 7 มาจากคูเวต เป็นชายไทย อาชีพรับจ้าง อายุ  49 ปี 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดกรณีพบผู้ป่วยหญิงชาวฝรั่งเศสติดเชื้อโควิด-19 ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่าจากการสอบสวนโรคค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามาจากการสัมผัสเชื้อในสถานที่กักกัน Alternative State Quarantine (ASQ) ซึ่งการสอบสวนโรคได้พยายามหาสาเหตุว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นได้อย่างไร หากพบว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในสถานที่กักกันจริงจะต้องมีการทบทวนมาตรการต่างๆ และเข้มงวดในส่วนที่อาจจะก่อให้เกิดการแพร่โรค เพื่อทำให้เกิดความเหมาะสมต่อไป เพราะในหลายประเทศได้เคยเกิดการระบาดในสถานที่กักกัน จนส่งผลให้เกิดการระบาดในที่ชุมชนมาแล้ว เช่น ในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นการกำกับให้สถานกักกันสามารถป้องกันและควบคุมโรคได้เต็มที่จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด 
    นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า การสอบสวนเชิงระบาดวิทยากรณีพบเชื้อโควิด-19 ในสิ่งแวดล้อมที่ฟิตเนส  โดยเป็นการตรวจในวันที่ 22 ต.ค. ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่าเป็นเชื้อของหญิงฝรั่งเศส เพราะออกจากสถานที่กักตัวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ฉะนั้นต้องมีการตรวจสอบและค้นหาผู้ป่วยที่เข้าไปใช้บริการและขยายระยะเวลากักตัวเพิ่ม โดยแบ่งการเสี่ยงออกเป็นเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง และเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ประสานให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพทบทวนมาตรการของ ASQ โดยตามมาตรฐานของการควบคุมโรคต้องห้ามผู้มารับการกักตัวออกจากห้องตลอด 14 วันอย่างเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสการรับเชื้อหรือแพร่โรคสู่ผู้อื่น
     สำหรับกรณีของหญิงชาวฝรั่งเศสรายนี้มีผู้สัมผัสรวม 120 คน แบ่งเป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง 40  คน ประกอบด้วย คนในครอบครัว, คนในชุมชน, ผู้โดยสารเที่ยวบินเดียวกัน และผู้โดยสารแท็กซี่ ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อแล้ว 28 คน ผลออกมาแล้ว 27 คนไม่พบเชื้อ อีก 1 คนยังอยู่ระหว่างรอผล  ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ 80 คนนั้นกำลังอยู่ระหว่างการติดตามให้ครบทุกราย ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีใครที่มีอาการ แต่ได้ให้ติดตามอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิด
     ส่วนสถานการณ์ที่พบชาวเมียนมาติดเชื้อโควิดที่ อ.แม่สอด จ.ตากนั้น หลังจากที่มีเหตุการณ์คนขับรถส่งของชาวเมียนมา ทำให้มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งมีการค้นหาเชิงรุกไปแล้วเกือบ 9 พันคน เจอผู้ป่วยติดเชื้อ 6 คน และล่าสุดยังไม่เจอผู้ติดเชื้อในชุมชนอื่นเพิ่มเติม มีแค่เพียง อ.แม่สอดเท่านั้น ดังนั้นถือว่าสถานการณ์ควบคุมโรคที่ อ.แม่สอดค่อนข้างคลี่คลาย ไม่เจอผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีกนับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.63 
    รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สถานการณ์ของไทยเป็นเพียงการพบผู้ป่วยใหม่เท่านั้น ยังไม่ใช่การระบาดใหม่รอบสอง ซึ่งการเจอผู้ป่วยใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศตามแนวชายแดน หรือมาจากการเดินทางเข้ามาจากการโดยสารเครื่องบิน สิ่งที่สำคัญคือไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น แต่คือการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ได้เร็ว และควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง และสนับสนุนให้เปิดประเทศเปิดเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นอย่างปลอดภัย 
    นพ.ธนรักษ์กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะลดจำนวนวันกักตัวว่า การกักตัวด้วยระยะเวลาที่ 14 วันยังมีความเหมาะสม ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าผู้ป่วยถึง 99% จะมีการแสดงอาการภายใน 12 วันหลังจากติดเชื้อ และผู้ป่วยถึง 75% จะแสดงอาการภายใน 7 วันเท่านั้น ดังนั้นถ้าไทยสามารถบริหารจัดการการกักกันตัวที่ดี ไม่ปล่อยให้คนที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงออกมาสัมผัสกับคนอื่นนอกสถานกักกัน ในอนาคตก็มีความเป็นได้มากที่จะสามารถลดจำนวนวันกักตัวลงได้
    ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีหญิงชาวฝรั่งเศสติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และพบเชื้อที่พื้นผิวอุปกรณ์ออกกำลังกายในห้องฟิตเนสภายในสถานที่กักกันนั้น การเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการจึงยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยผู้ประกอบการสถานที่ออกกำลังกายหรือฟิตเนสต้องคุมเข้ม ตั้งแต่กำหนดจุดลงทะเบียนคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ ส่วนพนักงานและเทรนเนอร์ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องออกกำลังกาย บริเวณที่นั่งและส่วนที่เป็นจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสซ้ำทั้งก่อนและหลังใช้อุปกรณ์ ในส่วนของผู้มาใช้บริการต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าใช้บริการ โดยขณะที่ออกกำลังกายสามารถถอดออกได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"