สถานการณ์การชุมนุม ‘ราษฎร’ ยังไม่รู้ว่าจะนำไปสู่จุดลงเอยทางการเมืองอย่างไร การชุมนุมนับวันยิ่งเพิ่มดีกรีร้อนแรง จากปมประเด็นการเมือง เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หรือยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน ลามไปถึงปฏิรูปสถาบัน อันเป็นปมประเด็นละเอียดอ่อน
กลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมขบวนเสด็จฯ สมเด็จพระราชินี เมื่อ 14 ต.ค. การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 15 ต.ค. ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. เหตุกระทบกระทั่งกันของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เห็นต่างทางการเมือง ม.รามคำแหง เมื่อ 21 ต.ค. มาถึงการยกขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนีเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 26 ต.ค.
เป็นเพียงเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้น ยังไม่นับรวมแฟลชม็อบรายวัน กระจายไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อแสดงสัญลักษณ์การเมือง ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นต่างเริ่มตบเท้าแสดงพลังมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่มีการเผชิญหน้า ม็อบชนม็อบ นำมาสู่ความสูญเสีย เป็นสิ่งที่ไม่ว่าฝ่ายใดไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่อยากให้กงล้อประวัติศาสตร์เลือดซ้ำรอย
จากสถานการณ์อันตึงเครียด ทำให้ 26-27 ต.ค. มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ร่วมอภิปราย ถกเพื่อหาทางออกของประเทศ แม้ในการประชุมหนนี้กำหนดเนื้อหาหลักในการอภิปรายเอาไว้ 3 ประเด็น 1.การพิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 2.การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนขวางทางและหยุดขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ที่เสด็จฯ ไปตั้งเปรียญธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน กลุ่มผู้ชุมนุมได้ล้อมรถพระที่นั่งและตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคาย แสดงอาการไม่สมควร คุกคามเสรีภาพ 3.การชุมนุมตามจุดต่างๆ เช่น สี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน ศูนย์กลางธุรกิจการค้า และสถานีขนส่งผู้โดยสาร ที่มีความวิตกจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย การคมนาคมและเศรษฐกิจ
เวทีสภาเพื่อหาทางออก พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. ได้เข้าร่วมรับฟังอย่างตั้งใจ พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่างมีข้อเสนอแนะน่าสนใจ
พรรคฝ่ายค้าน
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อรัฐบาลให้ 1.ต้องพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนอย่างจริงจัง เปิดใจรับฟังแต่ละปัญหาที่นำเสนออย่างมีวิจารณญาณ 2.ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่เตะถ่วงหรือดึงเวลาให้ล่าช้า 3.ต้องเร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขัง ยุติการปิดกั้นสื่อ ยุติการใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่าง 4.นายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพราะคือ อุปสรรคสำคัญที่เป็นภาระของประเทศ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย แนะ 2 วิธี หากนายกฯ ไม่ลาออก 1.ทำประชามติถามประชาชนอยากให้นายกฯ ลาออกหรือไม่ พร้อมกันในวันที่เลือก อบจ. 2.หรือไม่ก็ให้พรรคร่วมรัฐบาลประกาศลาออก แก้ปัญหาประเทศร่วมกัน
พรรคร่วมรัฐบาล
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ใช้การออกเสียงประชามติ ให้ประชาชนทั้งประเทศมาออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อการจัดการชุมนุม ซึ่งทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 และอาจตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ หากการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นจะเท่ากับเสียงคนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมในการออกเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม และจะได้ข้อยุติซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่คนหลักหมื่นมาอ้างเสียงของประชาชนทั้งประเทศ
นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม 3 ข้อ 1.ให้ลาออกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องลาออก 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ 3.ที่ให้ปฏิรูปสถาบัน ส่วนตัวไม่ยินยอมและไม่เห็นด้วย เพราะคนไทยทั้งประเทศเห็นพ้องตรงกันว่าอย่าเอาเรื่องนี้มาวิพากษ์วิจารณ์โดยเด็ดขาด สถาบันกษัตริย์ไทยไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศ ความเป็นปึกแผ่น ความมั่นคง ความเอกภาพ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด อย่าแตะต้องสถาบัน
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย เสนอแนะทางออก คือ 1.เปิดโต๊ะเจรจา ไม่ว่าจะมีแกนนำหรือไม่มีก็ต้องเปิดโต๊ะเจรจาว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ 2.รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรง เลิกปิดกั้นสื่อ และผู้ชุมนุมต้องไม่ทำผิดกฎหมาย
สมาชิกวุฒิสภา
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุถึงแนวทาง 9 ข้อ แก้ปัญหา 1.ให้รัฐบาลใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ใช้ไม้นวมไม้แข็ง ดูแลความขัดแย้งอย่างเหมาะสม 2.รัฐบาลต้องชี้แจงองค์กรระหว่างประเทศเรื่องการแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้ 3.ตั้งทีมจัดการข่าวปลอมเชิงรุกอย่างรวดเร็ว 4.ส.ส.และ ส.ว.ต้องร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ 5.ให้รัฐบาลเปิดเวทีกลาง ให้ผู้ชุมนุมได้เสนอความเห็นตามเสรีภาพ แทนการชุมนุมบนถนน 6.การเปิดเวทีเจรจา แม้จะยากแต่ต้องทำ 7.การปฏิรูปสถาบัน เป็นข้อเสนอสุดโต่ง 8.นายกฯ ไม่ควรลาออก เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา 9.หากการดำเนินการข้อ 1-8 แล้ว ไม่สามารถเป็นทางออกได้ ให้ใช้วิธีออกเสียงประชามติแก้ปัญหา
เป็นเพียงข้อเสนอบางส่วน แม้บางช่วงเวลาจะมีการใช้วาทกรรม กระทบกระเทียบ เสียดสีกันบ้าง ก็เป็น บทบาทตามหน้าที่ ตามซีกที่เลือกยืนอยู่แต่ละฝ่าย แต่สำหรับข้อเสนอแนะ การร่วมหาทางออก หลายสิ่งหลายอย่างควรค่าแก่การพิจารณา
สถานการณ์ในสภา สถานการณ์นอกสภา สถานการณ์การเมือง จากนี้จะนำไปสู่ทางเลือก ทางรอด ทางออก หรือทางตัน อีกไม่นานคงได้เห็นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |