เศรษฐกิจไทยเจอภาวะ “ช็อก” แรง เพราะโควิด...ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี กว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโรคระบาด...แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก
นั่นคือจะพัฒนาวัคซีนได้เมื่อไหร่
และการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแค่ไหนอย่างไร
บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ตรงไหนของสมการการแก้วิกฤติครั้งนี้เป็นหัวข้อสำคัญที่จะต้องวางให้ถูกที่ถูกทางและถูกจังหวะ
นี่เป็นแนววิเคราะห์ของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ระหว่างพบกับสื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา
เป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมๆ กันในทุกประเทศ
ประเทศไทยต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก
ที่น่าตกใจที่สุดคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน
หรือเท่ากับรายรับที่หายไปถึงประมาณ 10% ของจีดีพี
ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 มีอัตราการหดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี
ไม่ต่างกับอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู...และยังไม่รู้ว่าจะออกจากห้องฉุกเฉินนี้เมื่อไหร่...หรือในสภาพใด
ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่า หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือเมื่อผู้ป่วยออกมาพักฟื้นจากไอซียูแล้ว บริบทประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ
หนึ่ง การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก (Uneven) ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ
สอง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานาน (Long) ไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
และสาม ยังมีความไม่แน่นอน (Uncertain) ว่าวัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ระดับไหน
คำถามใหญ่คือ จะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้ และต้องแก้ได้อย่างยั่งยืนด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริบทเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
ทาง ธปท.จึงประเมินว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องปรับจากการใช้มาตรการที่ปูพรมการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน มาเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด (targeted) ครบวงจร (comprehensive) และยืดหยุ่น (flexible) โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียง
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่บอกว่า เมื่อมีทรัพยากรจำกัดจึงต้องใช้ให้ถูกจุดเพื่อช่วยคนที่จำเป็นให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การพักชำระหนี้ จากการปูพรมช่วยช่วงล็อกดาวน์ที่ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ พนักงานต้องหันมาทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้
ปรับมาเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมตามความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งเป็นการช่วยแบบตรงจุดกว่า
เหมือนหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย
ดร.เศรษฐพุฒิเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า
“ธปท.เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอที่จะก้าวพ้นวิกฤติในครั้งนี้ เพราะไทยสามารถคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดี เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะ และยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ และตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น”
พรุ่งนี้ : 5 โจทย์ใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |