แน่นอนว่าภาคการท่องเที่ยวไทยต้องเตรียมปรับตัวรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่หลังโควิด-19 โดย Booking.com ได้นำผลการสำรวจข้อมูลผู้เดินทางมากกว่า 20,000 คน ใน 28 ประเทศทั่วโลก มารวมเข้ากับข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมการค้นหาและการบอกต่อของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตของการเดินทาง ทั้งในปีหน้าและปีต่อๆ ไป
แนวโน้มแรกเริ่มจากความปรารถนาสู่ความจำเป็น เมื่อการอยู่บ้านเป็นเวลานานยิ่งทำให้ผู้คนโหยหาการเดินทางมากขึ้น โดยในช่วงล็อกดาวน์นักเดินทางชาวไทย 71% รู้สึกตื่นเต้นที่จะมีโอกาสได้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง โดย 2 ใน 3 ของนักเดินทางชาวไทยปรารถนาที่จะออกไปสำรวจโลกกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม และอีก 60% ตั้งใจที่จะจองทริปที่ต้องยกเลิกไปก่อนหน้านี้อีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาคงเป็นเรื่องความคุ้มค่าต้องมาก่อน เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนมองหาความคุ้มค่าในทุกการจับจ่ายใช้สอย ไม่เว้นแม้แต่ด้านท่องเที่ยว โดยผู้เดินทางชาวไทย 78% ให้ความใส่ใจกับราคามากขึ้นขณะวางแผนการเดินทาง และคนจำนวนเท่ากันยังมีแนวโน้มมองหาโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษต่างๆ มากขึ้น โดยพฤติกรรมเช่นนี้จะคงอยู่ไปอีกหลายปี
แต่ทั้งนี้ความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคคาดหวังไม่ได้มีเฉพาะเรื่องราคา โดยผู้เดินทางไทยจำนวน 4 ใน 5 หรือประมาณ 80% ระบุว่าต้องการให้แพลตฟอร์มจองการเดินทางเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายการยกเลิก ขั้นตอนการคืนเงิน และตัวเลือกประกันการเดินทาง โดย 37% มองว่าตัวเลือกที่พักแบบยกเลิกฟรีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทริปถัดไป ที่สำคัญผู้เดินทางชาวไทย 87% สนใจที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ 84% อยากให้การจองการเดินทางของตนสามารถช่วยเหลือชุมชนให้ฟื้นตัวได้
เนื่องจากการท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงเป็นเรื่องไกลตัวในปัจจุบัน การเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียงและท่องเที่ยวภายในประเทศได้กลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เนื่องจากสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และมักช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้มากกว่า โดยผู้เดินทางชาวไทย 61% วางแผนจะเดินทางในประเทศภายใน 7-12 เดือนข้างหน้า และ 53% วางแผนจะเดินทางในไทยในระยะยาวช่วง 1 ปีขึ้นไป
ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความสุขและหากิจกรรม ทำในช่วงล็อกดาวน์คนไทยส่วนใหญ่ 98% เคยใช้เวลาไปกับการค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับทริปพักผ่อน โดยกว่า 2 ใน 3 ได้ค้นหาจุดหมายท่องเที่ยวต่างๆ บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ 41% ตอบว่ารู้สึกหวนคิดถึงวันวานเมื่อเปิดดูภาพถ่ายเก่าๆ จากทริปก่อนๆ ขณะมองหาแรงบันดาลใจการท่องเที่ยวในอนาคต โดยผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเกือบ 9 ใน 10 จะใช้ความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้น สืบเนื่องจากโคโรนาไวรัส และผู้เดินทาง 83% คาดหวังให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีการปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
นักเดินทางชาวไทยส่วนใหญ่เกิน 2 ใน 3 ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต โดย 86% คาดหวังให้ภาคการท่องเที่ยวนำเสนอตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น และคนไทยมากกว่า 4 ใน 5 ต้องการตัวเลือกในการเดินทางที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูจุดหมายปลายทางนั้นๆ ได้ และ 82% ต้องการเห็นว่าเม็ดเงินที่จ่ายไปจะกลับเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
การทำงานจากบ้านได้กลายเป็นพฤติกรรมกระแสหลักในช่วงของการระบาด แต่ผลที่ตามมาทางอ้อมคือทางเลือกในการวางแผนการเดินทางที่ยาวนานขึ้น โดยรวมการทำงานเข้ากับทริปท่องเที่ยว ทำให้เห็นพฤติกรรมของนักเดินทางแบบ “Workation” หรือเที่ยวไปทำงานไปเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยผู้เดินทางชาวไทย 60% เคยวางแผนจะจองที่พักเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานในสถานที่แปลกใหม่
ตลอดปี 2563 เป็นช่วงที่ท้าทายเป็นพิเศษ และทำให้เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก ผู้เดินทางจะเปลี่ยนไปมองหาระดับความปลอดภัยในการเดินทางที่สูงขึ้น มองหาข้อเสนอด้านการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงนิยามใหม่ของการท่องเที่ยวที่รวมเอาการทำงานจากทางไกลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |