26ต.ค.63-"สุภัทร" เผย ศธ. กำลังยกเครื่องหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เติมเนื้อหาประวัติศาสตร์ ตั้งแต่พ.ศ. 2475-2500 เป็นต้นไป ลงไปในบทเรียน หวังสร้างการเรียนรู้ พัฒนาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คาดเห็นเป็นรูปร่าง พ.ย.นี้ และทันใช้ปี 2565
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ร่วมกับนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ประชุมได้หารือเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการปรับใช้นำร่องมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ประชุมส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีใช้นำร่องจัดการเรียนการสอนเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ไปแล้วนั้น หลักสูตรดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้เรียนในระดับชั้นอื่นๆ ได้จริงหรือไม่ ดังนั้นคณะทำงานปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงมีข้อสรุปว่าให้นำทั้งหลักสูตรฐานสมรรถนะและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มาแจกแจงในรายละเอียดทั้งหมดของเนื้อหาภายในหลักสูตร และนำมาผสมผสานปรับเนื้อหาการเรียนรู้ใหม่ โดยจะแบ่งและจัดหมวดหมู่การเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงชั้น
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบใหม่นั้น จะเป็นการปรับหลักสูตรใน 8 กลุ่มสาระวิชาหลัก จากหลักสูตรเดิมมาอัพเดทใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น วิชาสังคมศึกษา ด้านเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475-2500 เป็นต้นไป มีเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญบางช่วงบางตอนขาดหายไป อย่างเรื่องแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ทั้งยังไม่มีการใส่เนื้อหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเหล่านี้เอาไว้ในบทเรียนจึงทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้การพัฒนาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในแต่ละยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นหลักสูตรใหม่จะเติมเนื้อหาที่ขาดหายเหล่านี้ใส่ไว้ด้วย รวมถึงวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะปรับให้เป็นการเรียนพื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์เบื้องต้นผสมผสานกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรใหม่จะไม่เน้นการท่องจำแต่จะสร้างบทเรียนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น โดยการปรับเนื้อหาในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น จะมีมหาวิทยาลัยมาช่วยออกแบบหลักสูตรให้
“ผมคาดว่าคณะทำงานปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเสนอโฉมใหม่ของหลักสูตรให้รมว.ศธ. พิจารณาได้ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจาก รมว.ศธ.ต้องการให้หลักสูตรใหม่ได้ทันใช้ในปีการศึกษา 2565 นอกจากนี้เรายังมีสิ่งที่เรากำลังเป็นกังวล คือ เมื่อมีการปรับหลักสูตรแล้วครูจะสามารถปรับแผนการเรียนการสอนล้อตามหลักสูตรใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งก็ฝากสถาบันผลิตครูจะต้องปรับการเรียนของนักศึกษาครูให้เชื่อมโยงกับหลักสูตรใหม่ด้วย”ปลัด ศธ. กล่าว