โพลพบสาเหตุการชุมนุมมีเพิ่มมากขึ้นเพราะไม่พอใจการบริหารของนายกฯ แนะรัฐบาลอย่าซื้อเวลาพิจารณาแนวทางแก้ไข หวั่นม็อบคณะราษฎรจะบานปลายรุนแรง ชี้ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้างฝ่ายใด ตอกนักการเมืองอย่าชักศึกเข้าบ้าน ตร.ย้ำแม้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม็อบต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ม็อบเริ่มกร่อย "ไผ่ ดาวดิน" นำชุมนุมที่แยกราชประสงค์เปิดแฟลชมือถือชู 3 นิ้วเคารพธงชาติ "บ.ก.ลายจุด" เสนอสถาบันพระปกเกล้าเปิดเวทีกลางพูดคุย สถานทูตเยอรมนีระอุแน่! ม็อบ 3นิ้วบุก 5 โมงเย็น "ทนายนกเขา" นัดลุยบ่ายสอง
เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง การชุมนุมทางการ เมือง ณ วันนี้ กลุ่มตัวอย่าง 5,738 คน สำรวจระหว่างวันที่ 19-22 ต.ค.2563 พบว่า สาเหตุการชุมนุมทางการเมืองที่มีเพิ่มมากขึ้น คือไม่พอใจการบริหารงานของนายกฯ 62.33%, ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย/ไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการ 49.85%, เป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง 48.42%, อยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว 47.11%, ผลงานของรัฐบาลย่ำแย่ 44.15%
สิ่งที่อยากบอกกับ “รัฐบาล” เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ต้องเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไข/อย่าซื้อเวลา 72.37%, ไม่ควรใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม 61.69%, อยากให้ฟังเสียงประชาชน/ผู้ชุมนุม 60.43%, เป็นการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตย 57.41%, การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน 53.09%
สิ่งที่อยากบอกกับผู้ชุมนุม มีสติ อย่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ฝ่ายใด 73.31%, ระมัดระวังเรื่องการระบาดของโควิด 65.97%, ไม่ใช้ความรุนแรง 63.85%, เคารพกฎหมาย 60.67%, อย่าก้าวล่วงสถาบัน 60.41%
ทำอย่างไรการชุมนุมทางการเมืองจึงจะยุติ ไม่ใช้ความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย 61.44%, รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุม 57.90%, ควรมีการเจรจา/ตกลงกันแบบสันติวิธี 56.58%, ทั้ง 2 ฝ่ายควรรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุผล 49.54%, ต้องมีความยืดหยุ่นซึ่งกันและกัน/ถอยคนละก้าว 44.09%
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “รุนแรง...แตกแยก?” ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2563 จาก ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ 1,336 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม
โดยเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ว่าจะเกิดการบานปลายกลายเป็นความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม พบว่า ร้อยละ 24.48 ระบุว่ากังวลมาก เพราะกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นและอาจจะมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่บางส่วนระบุว่า กลุ่มคณะราษฎรในปัจจุบันมีความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไปหัวรุนแรง, ร้อยละ 34.21 ระบุว่าค่อนข้างกังวล เพราะกังวลว่าจะมีการสร้างสถานการณ์เหมือนในอดีต เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ, ร้อยละ 18.41 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล เพราะ เป็นการแสดงสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคณะราษฎรในการเรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบถึงเหตุผลในการชุมนุมเท่านั้น และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้, ร้อยละ 22.23 ระบุว่าไม่กังวลเลย เพราะทุกเพศทุกวัยมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เป็นการชุมนุมอย่างสงบ และเพียงระยะเวลาสั้นๆ
เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.45 ระบุว่ากำลังคิดอยู่ว่าควรจะตัดสินใจสนับสนุนฝ่ายใด รองลงมา ร้อยละ 33.46 ระบุว่าได้ตัดสินใจเลือกสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว และร้อยละ 29.94 ระบุว่าขออยู่เฉยๆ ไม่ตัดสินใจอะไร
อย่าชักศึกเข้าบ้าน
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ต่างชาติ อย่ายุ่ง เรื่องของคนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20- 24 ต.ค.2563 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.3 ระบุขอต่างชาติรักษาความเป็นมหามิตรประเทศกันมายาวนาน ปล่อยให้ประเทศไทยมีอิสระ เสรีภาพ แก้ปัญหาเอง มันเป็นเรื่องของประเทศไทย, ร้อยละ 97.6 ระบุต้องการให้นักการเมือง พรรคการเมืองร่วมมือกับประชาชน แก้ปัญหาภายในประเทศไทยด้วยกันเองอย่าชักศึกเข้าบ้าน อย่าพาต่างชาติมาแทรกแซง, ร้อยละ 97.5 ระบุนักการเมือง พรรคการเมืองบางพรรค แกนนำ ม็อบบางคน ร่วมมือกับต่างชาติ ช่วยยุยง ปลุกปั่นความแตกแยกของคนในชาติ หวังแลกผลประโยชน์กัน, ร้อยละ 97.1 ระบุต่างชาติเข้าแทรกแซง อ้างความชอบธรรม หลังประเทศไทยพังพินาศ เข้ามาจัดระเบียบกอบโกยผลประโยชน์ชาติไทยไป, ร้อยละ 87.6 ระบุต่างชาติอย่าเข้ามายุ่ง ยุยง ปลุกปั่นกระแส สนับสนุนม็อบ เพราะหวั่นว่าจะพังพินาศ เหมือนหลายประเทศ ทั่วโลกที่ต่างชาติเข้าแทรกแซง เช่น ลิเบีย ฮ่องกง ตูนิเซีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.8 ระบุม็อบไม่ใช่ทางออก เพราะซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด-19 แต่ให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจาแก้ปัญหาวิกฤติร่วมกันคือทางออก
น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลไทยรับประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบเช่นเดียวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เรียกร้องให้ทางการไทยเคารพพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าร่วมการชุมนุม สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของประชาคมโลกต่อท่าทีของรัฐบาลในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชน ใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม และยังสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เกินกว่าที่ประชาคมโลกจะยอมรับได้
"รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ควรตระหนักว่าวันนี้บริบทการเมืองของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ประเทศต่างๆ ถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี แม้ในวันนี้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะมีอยู่ แต่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะกฎหมายถูกใช้แบบเลือกปฏิบัติ ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อใจ และไม่มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ย่อมส่งผลต่อการค้าและการลงทุน นักลงทุน ต่างชาติที่ยึดหลักความโปร่งใส และกติกาที่เป็นธรรมจะมองข้ามประเทศไทย เนื่องจากมีปัจจัยความเสี่ยงสูง" น.ส.อรุณีกล่าว
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวสรุปว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 3 ผู้ต้องหาในหลายสำนวนคดี มีหนทางเดียวที่จะให้ศาลปล่อยตัวแกนนำทั้งสามก็คือ ยื่นฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาให้พิจารณา แต่เท่าที่ดูเหตุผลในคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้วน่าจะยาก คงต้องนอนคุกยาว ยิ่งถ้าดูพฤติการณ์แห่งคดีแล้วยิ่งยากที่จะต่อสู้คดี ยังไม่รวมคดีที่ทั้งสามกับพวกพูดจาดูหมิ่น จาบจ้วง แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกหลายคดี จึงนึกไม่ออกว่าทั้งสามจะได้ออกมาสูดลมหายใจ ดูโลกภายนอกวันไหน
ตร.ยึดพรบ.ชุมนุมสาธารณะ
นายเชาว์ระบุว่า นี่คือผลกรรมที่ทั้งสามกับพวกจะต้องได้รับ ตามกฎหมาย แต่นักการเมืองที่ชักใยปั่นหัวแกนนำเยาวชนเหล่านี้กลับรอดตัวไม่ต้องติดคุกไม่ถูกดำเนินคดี เป็นความขี้ขลาดและความเห็นแก่ตัวของผู้อยู่เบื้องหลัง ที่ใช้เยาวชนที่ถูกปลุกปั่นจนเกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันหลักของชาติมาเป็นเครื่องสังเวยเพื่อให้บรรลุต่อความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศของตัวเอง แบบไม่มีความปรานีต่อผู้ที่รักและศรัทธาตัวเอง นี่คือการทรยศต่อความไว้วางใจที่มวลชนมีให้ ทั้งนี้ ถ้าผู้มีอำนาจอย่าใช้อำนาจมาทุบเอาเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้สถานการณ์บานปลายที่จะเข้าสู่สงครามกลางเมือง และเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด สิ่งที่รัฐบาลต้องทำทันทีคือ แยกสถาบันออกจากความขัดแย้งทางการเมือง แล้วให้คดีจบที่เรือนจำ
พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เตรียมความพร้อมและดูแลการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์เย็นวันเดียวกัน โดยเน้นย้ำความปลอดภัยของประชาชน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในบริเวณโดยรอบ แม้ภายหลังจากได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมาย โดยยังคงต้องยึดถือการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในสถานการณ์ปกติ และ บช.น.ก็จะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผู้ชุมนุม ทั้งอำนวยความสะดวกด้านการจราจรที่อาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าว
"แม้จะไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และคำนึงถึงพี่น้องประชาชน ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมด้วย" พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าว
ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 และ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 เป็นผู้ดูแลบริเวณพื้นที่การชุมนุมแยกราชประสงค์ ส่วนบริเวณพื้นที่อื่นจะให้ตำรวจในพื้นที่นั้นรับผิดชอบดูแลอำนวยความสะดวกเรียบร้อย โดยตำรวจจะทำการประชาสัมพันธ์ขอให้ผู้ ชุมนุมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และช่วยตำรวจรักษาความปลอดภัย
ส่วนความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม ภายหลังจากกลุ่มคณะราษฎรเตรียมยกระดับการชุมนุมในวันที่ 26 ต.ค.นี้ โดยจะเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนีในเวลา 17.00 น.นั้น กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา อดีตทนายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ยืนชูป้าย "ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ห้ามผ่าน" ขวางขบวนผู้ชุมนุมไล่นายกฯ บริเวณแยกศรีอยุธยา-พญาไท เมื่อ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา แจ้งว่า วันที่ 26 ต.ค. เวลาบ่ายสองโมง เชิญชวนประชาชนคนไทยพร้อมกันที่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ถนนสาทรใต้ เพื่อยื่นหนังสือนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงของสถานการณ์ชุมนุมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมเชิญชวนว่า "ขอให้พี่น้องไปด้วยกัน รองเท้าผ้าใบ กับใจถึงๆ ไม่จำกัดสีเสื้อ"
ขณะที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน หนึ่งในแกนนำราษฎร ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศว่า ในวันนี้ (25 ต.ค.) จะย้ายสถานที่ไปชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ เวลา 16.00 น. โดยนายจตุภัทร์กล่าวถึงการจะมีการอภิปรายในรัฐสภา 26 ต.ค.นี้ว่า ผู้ชุมนุมราษฎรจะไม่ไปปักหลักชุมนุมที่รัฐสภาอย่างแน่นอน เรื่องนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.และสมาชิกรัฐสภา ก็ทำหน้าที่กันไป ว่ากันไป แต่หลังจากสิ้นสุดการอภิปรายแล้ว ผู้ชุมนุมราษฎรจะนำมาวิเคราะห์กันอีกครั้งหนึ่งเพื่อกำหนดท่าทีต่อไป
"ไผ่ ดาวดิน"นำม็อบ3นิ้วกร่อย
สำหรับบรรยากาศบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เวลา 16.10 น. ผู้ชุมนุมทยอยมาชุมนุม และเดินลงไปชุมนุมบนถนนราชดำริ พร้อมตะโกนไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้การจราจรบริเวณนี้เริ่มติดขัด ต่อมาเวลา 16.20 น. ผู้ชุมนุมได้นำแผงเหล็กมากั้นปิดถนนบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อปิดการจราจรถนนราชดำริ แต่ถนนสุขุมวิทยังเปิดการจราจรได้ปกติ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ชุมนุมมาน้อยกว่าปกติ
ต่อมา เวลา 16.30 น. พ.ต.อ.นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผกก.สน.ลุมพินี เดินทางมาชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ พร้อมอ่านเอกสารคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยระบุว่า ขอให้ยุติการชุมนุมในเวลา 17.00 น. เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ และการจัดการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้แจ้งขอจัดการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หากยังไม่ยุติการชุมนุมตามเวลาที่กำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จากนั้น เวลา 16.47 น. ไผ่ ดาวดิน เดินทางถึงสถานที่ชุมนุม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของการ์ดอาสา ขณะที่มวลชนต่างพากันโห่ร้องต้อนรับ โดยไผ่ ดาวดิน ยืนยันว่าไม่ได้แตกคอกับกลุ่มราษฎร เป็นยุทธศาสตร์เดียว แต่แยกกันจัดการชุมนุม ทั้งนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ลาออก เราจะจัดกิจกรรมเรื่อยๆ และในการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนีตนก็จะเข้าร่วมด้วย
เวลา 16.58 น. ผู้ชุมนุมขยายพื้นที่การชุมนุม โดยนำแผงเหล็กมาปิดถนนพระรามที่ 1 ถนนราชดำริ และถนนเพลินจิต ทำให้รถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านสี่แยกราชประสงค์ได้ นอกจากนี้ กลุ่ม MOB DRAG QUEEN ซึ่งเป็นกลุ่ม LGBT ได้เดินทางมาร่วมชุมนุม ต่อมาเวลา 17.30 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด ที่เดินทางมาให้กำลังใจผู้ชุมนุม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของกลุ่มราษฎรที่ให้ปฏิรูปสถาบันว่า หากพูดในการชุมนุมหรือบนเวทีปราศรัย จะมีข้อจำกัดของรูปแบบการเสนอ ซึ่งอาจมีรูปแบบกลอนพาไปบ้าง แต่หากดูในเนื้อหา คุยกันดีๆ อยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้าใจ มีตัวแทนที่เข้าใจความอ่อนไหวในเรื่องนั้นๆ จึงอยากให้มีการเปิดเวทีกลางพูดคุยกันทั้งสองฝ่าย แต่ยังไม่มีสถาบันทางวิชาการไหนเสนอตัวออกมา เท่าที่มองเห็นคือสถาบันพระปกเกล้า แต่ถ้าทำให้ไม่มีการพูดและไม่มีใครเสนอตัวออกมา จะทำให้ไม่มีทางออก ทำให้กลับมาที่ในม็อบในโซเชียล
เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร 3 ข้อ ควรจะเริ่มที่ข้อไหนก่อน นายสมบัติกล่าวว่า ข้อที่ 1 ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกคือฉันทามติอยู่แล้ว, ข้อที่ 2 เรื่องแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. ทุกคนก็เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ถ้าจะไม่พูดในข้อที่ 3 ก็จะทำให้เรื่องนี้ไม่จบ เราต้องคุยกันเลย ถ้าใครมีเหตุผลรองรับ สังคมจะเรียนรู้และเข้าใจได้
ต่อมา เวลา 17.55 น. ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมเปิดแฟลชมือถือ โดยระบุว่าเป็นไฟแห่งเสรีชน นำประชาธิปไตยมาสู่มวลชน จากนั้นเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมร่วมร้องเพลงชาติและชู 3 นิ้วกลางแยกราชประสงค์ พร้อมเปล่งเสียง “เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
เวลา 18.44 น. นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ ได้กล่าวปราศรัยโดยมีการเล่าเหตุการณ์ขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำ และได้ขอบคุณนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำนปช. ที่ได้ให้การช่วยเหลือขณะอยู่ในเรือนจำ ทั้งนี้ เชื่อว่าเพื่อนเราที่อยู่ในเรือนจำคงเหมือนตน และเพื่อนอีก 19 คน ที่เราไม่รู้ข่าวสารอะไรเลย อยากบอกว่าทุกคนคือความหวัง ทุกคนคือแกนนำ ซึ่งขอขอบคุณทุกคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อความหวัง
เวลา 19.20 น. ประชาชนทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมจนแน่นถนนราชดำริ โดยกินพื้นที่ตั้งแต่สี่แยกราชประสงค์ยาวไปจนถึงหน้าบิ๊กซีราชดำริ โดยผู้ชุมนุมต่างสลับกันขึ้นปราศรัยขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผู้ชุมนุมเปิดทางให้รถขยายเสียงเข้ามาตรงสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นจุดที่แกนนำและผู้ชุมนุมใช้ปราศรัย ท่ามกลางการโห่ร้องดีใจของผู้ชุมนุม หลังก่อนหน้านี้ต้องใช้ลำโพงขนาดเล็ก ซึ่งได้ยินไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้ เวลา 20.06 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration ได้ออกแถลงการณ์จากราษฎรเรื่อง ครบกำหนด 3 วัน หลังกดดันให้ประยุทธ์ลาออก โดยมีเนื้อหาสรุปว่า นับเป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่ราษฎรได้ออกมาต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการบนท้องถนน โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากข้อเสนอของราษฎร และให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ราษฎรได้ออกมาแสดงพลังและเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ลาออกในเวลา 3 วัน ซึ่งเส้นตายได้มาถึงแล้ว แต่ด้วยความลุ่มหลง มัวเมาในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเขี่ยทิ้ง ไม่แม้แต่ได้รับการตอบกลับใดๆ
เพจยังระบุว่า ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปล่อยปละละเลยให้สถาบันใช้พระราชอำนาจนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ และยังเปิดช่องทางให้แทรกแซงการเมือง ดังนั้นในวันจันทร์ที่ 26 ต.ค.นี้ จึงขอเชิญชวนให้ราษฎรทั้งหลายรวมตัวกัน ณ แยกสามย่าน และมุ่งหน้าสู่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือให้มีตรวจสอบมีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนเยอรมนีหรือไม่
“ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงได้มาถึงแล้ว สายธารแห่งประชาธิปไตยอันไหลเชี่ยวมิอาจหยุดยั้ง และเมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ราษฎรจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |