เร่งเครื่องสมาร์ทพาร์ค ดันไทยรับอุตสาหกรรมดิจิทัล


เพิ่มเพื่อน    

 

      “หลังก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าพื้นที่จะถูกเช่าหมดภายในระยะเวลา 4 ปี เนื่องจากเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ”

      ประเทศไทยในปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางความปั่นป่วนของโลกนั้น ก็ได้เผยด้านที่เป็นจุดแข็งออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดจากสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน ไทยก็ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง และยังมีช่องทางที่จะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ด้วยการตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ของอาเซียน เผยความเข้มแข็งของพื้นที่และศักยภาพที่จะรองรับการผลิตและการส่งออกได้ เพื่อใช้ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนที่ต้องย้ายฐานการผลิต

      รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบให้กับทั่วโลก โดยประเทศไทยสามารถร่วมมือกันเพื่อลดปัญหาดังกล่าวจนปัจจุบันทุกอย่างเริ่มจะกลับมาเป็นปกติแล้ว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นช่องทางที่สามารถโชว์ศักยภาพและความพร้อมของประเทศให้แก่ภาคเอกชนต่างชาติได้เห็น รวมถึงสร้างความไว้วางใจและความประทับใจในสายตาชาวโลกได้ดีอีกด้วย

        แต่ใช่ว่าแค่ปัจจัยที่กล่าวมาจะสามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ 100% หากไม่มีการดำเนินงานที่จริงจังภายในประเทศ โดยเฉพาะหากจะต้องการดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาได้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหานี้ ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมการที่มากกว่าเดิม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ การเชื่อมโยงต่างๆ ระบบสาธารณูปโภค สิทธิพิเศษในการสนับสนุนการลงทุน รวมถึงปัจจัยภายใน เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่จะต้องไม่เกิดปัญหาซ้ำซ้อนและไม่มีทางออกจนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้

        โดยการทำงานที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่จะมาจากหลายฝ่ายทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลุงทน (บีโอไอ) รวมถึงหน้าที่หลักในการจัดเตรียมพื้นที่ อย่าง การนิคมฯ แห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาทุ่มเงินเพื่อเปิดโรงงาน และใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากมาย ผ่านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่แบ่งแยกไปตามความเหมาะสมของพื้นที่

        ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มุ่งไปที่เป้าหมายการลงทุนใหม่ โดยยึดหลักอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือเอส-เคิร์ฟ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จึงได้สั่งการให้ กนอ.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค (Smart Park) ที่เป็นนิคมฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล

        ที่นอกจากจะเป็นปัจจัยไว้รองรับนักลงทุนจากต่างชาติได้แล้ว ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่ที่เริ่มให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 ก็ได้เห็นชอบการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 1,383 ไร่ มูลค่าประมาณ 2,370 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

        เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลสำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยนิคมฯ ดังกล่าวตั้งอยู่ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีระยะทางห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 7 กิโลเมตร สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 17 กิโลเมตร ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 29 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 53 กิโลเมตร และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ 150 กิโลเมตร เนื้อที่โครงการทั้งหมด 1,383 ไร่ โดยได้แบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 1.พื้นที่อุตสาหกรรม จำนวน 621.55 ไร่ 2.พื้นที่พาณิชยกรรม จำนวน 150.54 ไร่ 3.พื้นที่สาธารณูปโภค เช่น พื้นที่จอดรถส่วนกลาง ระบบผลิตน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย สถานีไฟฟ้าย่อย และถนน จำนวน 373.35 ไร่ และ 4.พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน จำนวน 238.32 ไร่

        โดย นิคมฯ สมาร์ทพาร์ค จะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่ง 4 อุตสาหกรรมข้างต้นจะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุน จาก บีโอไอ คือได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หรือสูงสุด 13 ปี ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีตามเกณฑ์ปกติ  โดยมีเงื่อนไขว่าต้องร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ในการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานนั้นๆ หรือขั้นต่ำ 50 คน ต่อ 1 ปี

        ทั้งนี้ นิคมฯ ได้ใช้งบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 2,370 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่านิคมฯ ทั่วไป เนื่องจากในสมาร์ทพาร์ค จะเป็นนิคมฯ ต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน เช่น ตารางสายใยแก้วนำแสงร้อยท่อใต้ดิน ที่บริษัท ทีโอท จำกัด (มหาชน) จะร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งจะเข้ามาวางระบบไฟฟ้าอัจฉริยะในโครงการสมาร์ทพาร์ค มีรถรางไฟฟ้าขนส่งในพื้นที่ ลดการใช้รถยนต์ รวมทั้งอาคาร โรงงาน จะต้องได้มาตรฐานอาคารสีเขียว

        รวมถึงมีบริการระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัย เพื่อบริการสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ และศูนย์รวมข้อมูลพื้นฐาน หรือดาต้า เซ็นเตอร์ (Data Center) ด้วยรูปแบบคลาวด์ แพลตฟอร์ม (Cloud Platfrom) รวมถึงมีระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ หากสถานประกอบการในพื้นที่สมาร์ทพาร์คต้องการระบบโทรคมนาคมที่รวดเร็วขึ้นในอนาคต  บมจ.ทีโอทีก็พร้อมที่จะลงทุนระบบ 5G ในพื้นที่ดังกล่าว

(สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ)

        นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบให้มีการลงทุนในโครงการแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท

        ขณะเดียวกัน จะเกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้โดยตรง เช่น มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในท้องถิ่น เกิดประโยชน์ทางอ้อมต่อหน่วยงานปกครองท้องถิ่น  หรือประโยชน์ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ

(สมจิณณ์ พิลึก)

        ด้าน นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า  นิคมฯ สมาร์ทปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี โดยปัจจุบันเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเอส-เคิร์ฟ โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ตามแผนการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาปรับพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประมาณ 3 ปี โดยในช่วงระยะการก่อสร้างคาดว่าจะทำให้มีการจ้างงานประมาณ 200 คน และเกิดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในชุมชน ประมาณ 23.7 ล้านบาท/ปี (คิดอัตราฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 330 บาท) อีกด้วย

        นอกจากนี้ ในส่วนของทำเลที่ตั้งของโครงการฯ ถือว่าอยู่ตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ดี โดยอยู่ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 7 กม. ห่างจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 17 กม. และห่างจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 29 กม. ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 53 กม. และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 150 กม. อีกทั้งมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบ และอยู่ในเขตส่งเสริมของอีอีซี

        “หลังก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าพื้นที่จะถูกเช่าหมดภายในระยะเวลา 4 ปี เนื่องจากเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อมรวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ” นางสาวสมจิณณ์กล่าว

        ขณะเดียวกัน จากการออกมายืนยันของนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ว่าแม้จะเกิดสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นบนโลก รวมถึงประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่พื้นที่อีอีซียังเดินหน้าต่อ และมีความคืบหน้าหลายโครงการ ทั้งโครงการที่เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการ โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (พีพีพี) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ รวมการลงทุนที่ได้ตกลงไปแล้วมีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท

        “ที่ผ่านมามีคนสงสัย และถามมาเป็นจำนวนมากว่า โครงการอีอีซีมีการอนุมัติโครงการลงทุนไปแล้วเท่าไร ยังคงทำงานอยู่ต่อใช่หรือไม่ มีการลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะตอนที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอยืนยันว่า โครงการไม่ได้หยุด และยังมีการลงทุนที่ทำต่อเนื่องในช่วงต่อจากนี้” นายคณิศกล่าว

      ขณะเดียวกัน ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังเห็นชอบแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติผ่าน 3 โครงการลงทุน วงเงินรวม 1.18 ล้านล้านบาท คือ โครงการท่าเรือบก, โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง แลนด์บริดจ์) และโครงการสะพานไทย โดยได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) กำกับการบูรณาการโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

      โดยให้กระทรวงคมนาคม และ สกพอ. ร่วมกันศึกษาโดยเน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน และการจัดลำดับความสำคัญต่อไป สำหรับโครงการทั้ง 3 คือ โครงการท่าเรือบก จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญๆ  คาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์ จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปี

      นอกจากนี้ ด้านโครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน จะมีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวงมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย

        ขณะที่โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซี ไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรี และ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร สามารถประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2-3  ชั่วโมง โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง

        อย่างไรก็ตาม ในวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทที่เป็นวงเงินลงทุนรวมของพื้นที่อีอีซีนั้น แยกเป็นงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 61-64 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และปี 65-67 มูลค่า 16,930 ล้านบาท, โครงการพีพีพี ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท

        โดยจะมีการลงทุนในปี 63 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 64 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 60 ถึงมิ.ย.63 รวมเป็นมูลค่าการลงทุน 987,408 ล้านบาท

        จะเห็นได้ว่าการที่รัฐบาลเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์คนั้น เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ของการพัฒนาพื้นที่อีอีซีเช่นเดียวกัน และนิคมฯ ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นนิคมฯ ที่สามารถตอบโจทย์การลงทุนของอนาคตได้ เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนดนั้นเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้งสิ้น และด้วยความใหม่และทันสมัยนี้ จึงเป็นตัวชี้วัดที่ดีของ กนอ. ผู้รับบทดำเนินการหลักว่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน

        ขณะเดียวกันนักลงทุนของไทยที่มีศักยภาพเพียงพอและต้องการการสนับสนุนที่เต็มที่นั้น ก็สามารถเข้าไปลงทุนในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าหากสมาร์คพาร์คได้รับความนิยมและเสียงตอบรับที่ดีจากนักลงทุนขึ้นมานั้น จะเป็นใบเบิกทางให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นของนักลงทุนโลก และตอบโจทย์เรื่องศักยภาพของประเทศที่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะยืดหยัดได้ในช่วงเวลาที่โลกเกิดความปั่นป่วน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"