โควิดทั่วโลก กว่า'42ล้าน' ไทยเพิ่มอีก4


เพิ่มเพื่อน    


    ศบค.เผยพบป่วยโควิดเพิ่ม 4 ราย มาจาก ตปท. มี 1 รายในประเทศเป็นเคส “หญิงฝรั่งเศส” เกาะสมุย ส่วนทั่วโลกแตะ 42 ล้านราย นายกฯ สั่งเดินหน้า 3 แนวทาง เร่งจัดหาวัคซีน ให้คนไทย ยืนยันมีใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นทั่วโลก
    เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยวันเดียวกันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,731ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,529 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 143 ราย  ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 59 ราย
    สำหรับผู้ป่วยใหม่รายที่ 1 เดินทางมาจากออสเตรีย เป็นหญิง สัญชาติไทย อายุ 38 ปี อาชีพแม่บ้าน เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 18 ต.ค. ตรวจครั้งแรก วันที่ 22 ต.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ก่อนเดินทางมีอาการไอ ปวดศีรษะ และอาเจียน เข้าพักในสถานที่กักกันของรัฐ กทม. รักษาตัวที่สถาบันประสาทวิทยา
    ส่วนผู้ป่วยใหม่รายที่ 2 เดินทางมาจากฮ่องกง เป็นหญิง สัญชาติไทย อายุ 26 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 21 ต.ค. ตรวจครั้งแรก วันที่ 21 ต.ค. ผลตรวจพบเชื้อ และในวันที่ 26 ก.ย. มีอาการไอ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย และการได้รับสัมผัสกลิ่นและรสลดลง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ
    ขณะที่ผู้ป่วยใหม่รายที่ 3 เดินทางมาจากฮ่องกง เป็นหญิง สัญชาติไทย อายุ 38 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 21 ต.ค. เคยมีอาการไอ และเมื่อวันที่ 2 ต.ค. จมูกไม่ได้กลิ่น และเข้ารับการกักตัววันที่ 3-13 ต.ค. ตรวจครั้งแรก ผลตรวจพบเชื้อ เคยมีประวัติป่วยเป็นโควิดเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ และผู้ป่วยรายที่ 4 เดินทางมาจากฝรั่งเศส เป็นหญิง สัญชาติฝรั่งเศส อายุ 57 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทย วันที่ 30 ก.ย. ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ ตรวจครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ผลตรวจพบเชื้อ และในวันที่ 17 ต.ค. มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ และปวดกล้ามเนื้อ เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเกาะสมุย
    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 42,469,950 ราย โดยรักษาหายแล้ว 31,423,036 ราย รวมเสียชีวิตแล้ว 1,149,142 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ ในวันเดียวกันนี้  5 เที่ยวบิน 179 ราย และในวันที่  25 ต.ค.มี 7 เที่ยวบิน 146 ราย
     นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประชุม ศบค.ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติแล้ว โดยขณะนี้ได้ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ผ่านการดำเนินการ 3 แนวทาง ได้แก่
    1.การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 400 ล้านบาท เป็นช่องทางหนึ่งที่เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้ ในภาวะที่มีความต้องการใช้วัคซีนสูง ในขณะที่การผลิตในช่วงแรกอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งผู้วิจัยได้เข้าหารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ดำเนินอยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายขนาดการผลิต เพื่อทำการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ ตามแผนที่วางไว้คือในไตรมาสแรกของปี 2564
    2.การทำความร่วมมือวิจัยและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 600 ล้านบาท แนวทางนี้เป็นการเจรจาเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 และวัคซีนมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทั้งในเอเชียและยุโรป เช่น บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่สำคัญ ดังนี้ คือ กระทรวงสาธารณสุข, บริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด โดยขอบข่ายของหนังสือแสดงเจตจำนงครอบคลุมถึงความร่วมมือในด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนของหน่วยงานภายในประเทศ โดยให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งหนึ่งของบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด และมีการตกลงที่จะยอมรับความเสี่ยงในการผลิตร่วมกัน รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานควบคุมกำกับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัคซีนได้
    แนวทางนี้มีการเจรจาเพื่อให้เกิดการลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เพื่อเตรียมการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส (ร้อยละ 20 ของประชากร) ให้แก่ประชากรไทย     ขณะนี้ ทุกภาคส่วนได้เร่งดำเนินการเจรจาต่อรองในประเด็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563
    และ 3.การจัดซื้อ จัดหาวัคซีนด้วยการนำเข้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ แนวทางนี้เป็นการจองล่วงหน้าผ่าน COVAX Facility และการตกลงแบบทวิภาคี ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับกรมควบคุมโรค กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือ เพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้
     ที่เกาะสะระนีย์ จ.ระนอง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิดของ กองกำลังเทพสตรี (กกล.เทพสตรี) บริเวณชายแดน จ.ระนอง ว่า ได้ดูแลป้องกันการข้ามไปมาระหว่างชายแดน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในช่วงระบาดของเชื่อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นนโยบายรัฐบาลคือไม่ให้คนข้ามเขตแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตก ทั้งนี้ จ.ระนองมีชายแดนติดกับเพื่อนบ้านทั้งทางบก และทางทะเล คนสองฝั่งไปมาหาสู่กันใช้ชีวิตประจำวัน ค้าขาย รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งฝั่งตรงข้าม จ.ระนอง คือ จ.เกาะสอง ซึ่งข้อมูลพบว่าภายในหนึ่งวันมีเรือข้ามไปมา 500-700 เที่ยว แต่ปัจจุบันไม่มีการข้ามไปมาแล้ว
    ผบ.ทบ.กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ในอนาคตถ้าเรายังอยู่ในลักษณะแบบนี้ ฝั่งเมียนมาไม่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ ฝั่งไทยก็ป้องกันเต็มที่ไม่ให้รุกล้ำเข้าประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่จะเกิดผลกระทบ ระนองเป็นจังหวัดที่ดีจังหวัดหนึ่ง และไม่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อสถานการณ์ในเกาะสองติดเชื้อจำนวนน้อย ตรวจพบแค่ 3 คน และทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลในพื้นที่ ผมมีความเห็นว่าถ้าใช้จังหวัดนี้เหมือนภูเก็ต เปิดให้มีการผ่อนคลายได้ในระดับหนึ่ง จะทำให้วิถีชีวิตคนสองประเทศดีขึ้น และหากดูจากข้อมูลโควิดแล้วคิดว่าน่าจะดูแลกันได้ ต้องพิจารณาว่าจะผ่อนคลายได้แค่ไหน
    ส่วนฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะฝ่ายทหาร จะสามารถอุดช่องโหว่ตามช่องทางต่างๆ ได้หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ไม่มีอะไรร้อยเปร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่ช่องทางที่จะเข้ามาได้ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เส้นทางที่มีรถยนต์ขนส่ง หรือมีทางเดิน แต่ถ้าเป็นทางธรรรมชาติเองก็ลำบาก เพราะไกลจากเส้นทางหลัก แต่ในเส้นทางประเทศ เราเดินทางสะดวก ทำให้การทำงานของเราสะดวกมากขึ้น และสามารถป้องกันได้ แม้แต่ทางน้ำ ในส่วนของเรามีการป้องกันได้ดีกว่า โดยเฉพาะเครื่องมือที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยเหนือ ทำให้การดูแลป้องกันสมบูรณ์มากที่สุด แต่จะให้บอกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้
    เมื่อถามว่า ศบค.ทบ.จะเสนอข้อมูลคลายล็อก จ.ระนองให้รัฐบาลต่อไปใช่หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า เราจะรวบรวมข้อมูลส่งไปให้รัฐบาลพิจารณาเหมือนกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถ้ามีความรุนแรงเราก็สั่งปิดด่าน แล้วเมื่อสถานการณ์เบาบางลง เราก็เปิดด่านให้สามารถค้าขายและผ่านไปมาได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"