ภายหลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศให้ “ม็อบราษฎร” ถอยคนละก้าว โดยจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ในค่ำคืนวันที่ 21 ตุลาคม ปรากฏว่า จากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในวันที่ 22 ตุลาคม ได้ลงนามยกเลิกประกาศดังกล่าว
นัยหนึ่ง “บิ๊กตู่” ต้องการแสดงให้เห็นว่า ได้ยอมถอย 1 ก้าว เพราะการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง
การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่า สิ่งที่ตัวเองเรียกร้องได้รับการตอบสนองจากฝ่ายผู้มีอำนาจ หรือความรู้สึก “ชนะ”
ขณะเดียวกัน การยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังเป็นการลดบรรยากาศที่ตึงเครียดมาตลอดสัปดาห์ ว่าไม่ได้มีเจตนาจะใช้ความรุนแรง
ขณะที่ฝั่งม็อบคณะราษฎรให้เวลา “บิ๊กตู่” 3 วัน นับจากวันที่ 21 ตุลาคมเป็นต้นมาว่า จะต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นจะยกระดับการชุมนุมให้สูงขึ้นกว่าเดิม
การยกระดับการชุมนุมคือสิ่งที่หลายคนเฝ้าติดตามว่า จะมาในรูปแบบไหน เพราะจุดยืนของม็อบคณะราษฎรคือ การชุมนุมโดยสันติวิธี ปราศจากอาวุธ และความรุนแรง
เพราะมีการคาดการณ์กันว่า “บิ๊กตู่” จะไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้องของม็อบแน่นอน หลังหากจากดูถ้อยแถลงการณ์เมื่อคืนวันที่ 21 ตุลาคม โดยพยายามที่จะใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหา
“ทุกสิ่งที่ผมทำ ผมคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศเสมอ คนส่วนใหญ่ที่นิ่งเงียบ ที่กำลังพยายามทำมาหากินอย่างหนัก หาเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว ผมต้องบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้ละเลยที่จะดูแลประชาชนคนอื่นๆ ของประเทศด้วย ผมต้องบริหารประเทศบนพื้นฐานหลักการตามกฎหมาย และตามแนวทางและการตัดสินใจจากรัฐสภา ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนไทย นั่นคือระบบรัฐสภาที่เราต้องเคารพ เราไม่สามารถบริหารประเทศตามเสียงประท้วงหรือความต้องการของผู้ประท้วงกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มประท้วงได้ แม้ผมจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ผมได้ยินเสียงความต้องการของผู้ประท้วงก็ตาม"
หรือท่าทีจากกลไกหลักของรัฐสภาอีกแห่งอย่าง “วุฒิสภา” หลังนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ออกมาแสดงความเห็นว่า การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะทำให้กลับไปสู่จุดที่ทุกคนไม่พึงประสงค์
“การออกจากตำแหน่งใดๆ มีขั้นตอนปฏิบัติตามกฎหมาย หากนำข้อเรียกร้องของกลุ่มคนมาดำเนินการ อาจเปิดช่องให้ใช้อำนาจนอกกฎหมาย และนำไปสู่การปฏิวัติได้”
ในมุมของ “พรเพชร” น่าจะหมายถึงการแก้ไขปัญหาด้วยการลาออก ไม่มีอะไรการันตีว่าทุกอย่างจะสงบ โดยเฉพาะ 1 ในข้อเรียกร้องของม็อบคณะราษฎรที่ “ทะลุเพดาน” อย่างการเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งประชาชนอีกส่วนหนึ่งของสังคมไม่เห็นด้วย
นั่นจึงเป็นสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงว่า สถานการณ์ ณ วันนั้นจะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่า หลักการเรื่องการชุมนุมของม็อบราษฎรคือ การชุมนุมโดยสันติ แต่ในผู้ชุมนุมเองมีความหลากหลายเช่นเดียวกัน
ยุทธศาสตร์ทุกคนคือ “แกนนำ” อาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปหยุดยั้งการเคลื่อนไหว แต่มีช่องโหว่ตรงการไร้แกนนำที่ชัดเจน จะทำให้การควบคุมการชุมนุมเป็นไปได้ยาก
การเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ชุมนุมออกเป็นหลายประเด็น
ไม่ว่าจะเป็นการการแสดงความไม่เห็นด้วยที่มีการเคลื่อนม็อบไปสู่ทำเนียบรัฐบาลในตอนกลางคืน เพราะถือเป็นความเสี่ยงของผู้ชุมนุมในเรื่องความปลอดภัย หรือการสร้างความหวังให้ผู้ชุมนุมด้วยการบุกไปทำเนียบรัฐบาล แต่สุดท้ายทำเพียงยื่นหนังสือแล้วกลับ จนทำให้บางคนอยู่ในสภาวะ “อารมณ์ค้าง”
หลายๆ ครั้ง ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ยอมเดินทางกลับบ้านและเกิดเรื่อง เช่น เหตุการณ์ชุลมุนที่แยกบางนา ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและป้อมตำรวจเสียหาย เมื่อ และหากลงมาสัมผัสการชุมนุม ในหลายๆ ครั้งจะพบว่า ผู้ชุมนุมมีการกระทบกระทั่งกันเองอยู่บ่อย จนต้องช่วยกันห้ามปราม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดดไลน์ของม็อบราษฎรที่ขีดเอาไว้ จะไปสิ้นสุดชนกันพอดีกับการประชุมสมัยวิสามัญรัฐสภา เพื่อหาทางออกประเทศ ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม มันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับสู่บรรยากาศของการพูดคุยกันในระบบ หรือจะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองร้อนแรงขึ้น
เนื่องจากหลายคนกังวลว่า สภาฯ จะถูกใช้เป็นเวทีของการถกเถียงและโจมตีกันมากกว่าหาทางออก โดยเฉพาะเรื่องการอภิปรายที่หมิ่นเหม่ ที่อาจจะทำให้สถานการณ์ภายนอกรัฐสภาลุกเป็นไฟได้
โดยต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนมีความกังวลว่า สถานการณ์ในประเทศจะกลับสู่จุดวิกฤติ หลังหลายพื้นที่เริ่มมีการแสดงออกคู่ขนานของกลุ่มคนที่ออกมาแสดงพลังปกป้องสถาบัน เช่น จังหวัดชลบุรี นราธิวาส ที่มีการจัดไปแล้ว
พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำรัฐบาลก็ดำเนินการอย่างเป็นทางการ ด้วยการมีมติให้สมาชิก และ ส.ส.ทุกคนปกป้องสถาบัน และสามารถจัดกิจกรรมในพื้นที่เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี อาทิ การใส่เสื้อเหลือออกมาเคลื่อนไหว แสดงจุดยืน
ขณะที่ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการชุมนุมในหลายพื้นที่เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างคณะราษฎร กับประชาชนที่ออกมาใส่เสื้อเหลืองแสดงพลังปกป้องสถาบันในช่วงนี้ เช่น เหตุการณ์ปะทะกันจนมีผู้บาดเจ็บที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 ตุลาคม
หรือการที่นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” อดีตที่ปรึกษาเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ออกมายืนถือป้ายปกป้องสถาบัน ขวางทางการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร เมื่อหัวค่ำวันที่ 21 ตุลาคม จนหวิดจะเกิดการปะทะกัน
ในหลายพื้นที่เริ่มมีการปะทะคารมกัน ระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่าย จนหลายฝ่ายเริ่มแสดงความเป็นกังวลว่า สักวันจะเกิด “ม็อบชนม็อบ”
ดังนั้นเวทีรัฐสภาจึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่มีส่วนกำหนดอุณหภูมิทางการเมืองหลังจากนี้ไม่น้อย
การก้าวและถอยระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับม็อบคณะราษฎร อาจจะมีขึ้นไปจนถึงการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีวาระจะพิจารณาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบเสร็จแล้ว
เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องสำคัญของม็อบคณะราษฎร ที่รัฐบาลส่งสัญญาณออกมาชัดว่า จะเปิดให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะมาตรา 256 และการให้มีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 อุณหภูมิการเมืองจะลดลงหรือไม่ ในขณะเดียวกันยังเป็นการหยั่งเชิงผู้ชุมนุมอีกว่า เมื่อได้รับการตอบสนองแล้ว จะมีท่าทีอ่อนลงหรือแข็งกร้าวกว่าเดิม
เพราะเป็นการถอยของรัฐบาลอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ก็ประเมินปฏิกิริยาของคนในสังคมที่มีต่อสถานการณ์ หลังรัฐบาลหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรง และทำตามข้อเสนอบางอย่างแล้ว เพื่อกำหนดท่าทีต่อไปหลังจากนี้ว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร
สถานการณ์การเมืองในช่วงสัปดาห์หน้า และอีกสัปดาห์ถัดไป ล้วนมีวาระสำคัญเกิดขึ้น
หากกลไกปกติยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ และการปะทะกันของมวลชนสองฝ่ายไม่เกิดขึ้น มีภาพของการประนีประนอม หรือยอมถอยให้กันทีละก้าวเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ก็ยังไม่น่าจะถึงจุดวิกฤติ
ยกเว้นมันออกมาตรงกันข้าม ก็น่าเป็นห่วง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |