ทางออก คลายวิกฤติการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

     แทนที่เราจะแยกความขัดแย้งทางการเมืองออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับมีการไปมัดรวม คือผู้ชุมนุมเองเขาก็มีข้อเสนอที่มัดรวมกันอยู่ แต่รัฐบาลเองรวมทั้งการแสดงออกของนายกรัฐมนตรีหลายครั้งก็มัดให้มันแน่นเข้าไปอีก...รัฐบาลหากจะดึงความขัดแย้งออกมาได้ ต้องแยกประเด็นทางการเมืองออกไปก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะถูกครหาว่าที่พูดว่าปกป้องสถาบัน  กลับกลายเป็นการนำสถาบันมาปกป้องตัวเอง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับใครเลย

 

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน พูดได้

แต่อย่าแสดงออก แบบเป็นปฏิปักษ์

      สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาพตึงเครียด กับปรากฏการณ์ม็อบสามนิ้วที่ยังมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เช่นเมื่อ 21 ต.ค.ที่มีประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันบริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายในสามวัน ขณะที่เมื่อช่วงวันศุกร์ที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากหลายจังหวัดทั่วประเทศ  พร้อมใจกันออกมาใส่เสื้อเหลือง จัดกิจกรรมแสดงพลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่รัฐสภาก็จะประชุมสมัยวิสามัญวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ เพื่อหารืออภิปรายเรื่องสถานการณ์ร้อนๆ ในประเทศไทยเวลานี้

      อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี-อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สมัยเป็นนายกฯ  ช่วงปี 2552-2553 เคยเจอกับม็อบ แดงทั้งแผ่นดิน มาแล้ว โดยตอนนั้นกลุ่ม นปช.เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุบสภา และชูประเด็นสงคราม อำมาตย์ VS ไพร่ กับสภาพการณ์ปัจจุบัน อภิสิทธิ์วิเคราะห์สถานการณ์ พร้อมกับให้ความเห็นถึงแนวทางการคลี่คลายสถานการณ์ โดยเน้นย้ำเรื่องที่นายกรัฐมนตรี และผู้มีอำนาจ ต้องแสดงออกถึงท่าทีในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ตลอดจนต้องเร่งแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งทางการเมือง

      โดย อภิสิทธิ์ เริ่มต้นให้ความเห็นว่า เป็นห่วงสถานการณ์ในขณะนี้มาก กังวลมาสักพักแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะลุกลามและถูกยกระดับขึ้นไป ซึ่งแม้จะคาดการณ์ว่าอาจจะต้องมีปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้น แต่ก็ยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจที่การลุกลามมันรวดเร็วมากหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผมคิดว่าแทบไม่มีใครเชื่อว่า จากช่วงต้นปีนี้ที่จะคิดว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นแบบนี้ และที่มันชัดเจนก็คือ มาถึงวันนี้ความขัดแย้งมันผสมผสานทับซ้อนกันหลายมิติ ความเป็นขั้วการเมืองของเดิม จริงๆ ก็ยังไม่ได้หายไป เพราะเราจะสังเกตเห็นได้ว่าการตอบโต้ การด่าทอกันไปมาก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ

ขณะเดียวกันปมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเงื่อนไขของปมจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กับตัวพลเอกประยุทธ์ ก็มาเติมปัญหาตรงนี้ในเรื่องของระบอบประชาธิปไตย และการที่คนรุ่นใหม่เขามีกรอบความคิดที่ต่างไปจากเดิม และอยากจะตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างของประเทศทั้งหมด มันก็เพิ่มตรงนี้เข้ามาอีก

...รวมถึงรูปแบบการชุมนุมก็พัฒนาขึ้นไปอีกแบบหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ไม่ใช่การชุมนุมที่มีเป้าหมายว่าต้องไปยึดสถานที่ราชการหรือพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวนัดหมายล่วงหน้านาน ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนรอนอะไรมากมาย แต่วันนี้แค่การใช้โซเชียลมีเดียนัดหมายล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมงก็มีคนที่พร้อมจะไป อาจไปแค่แสดงออก ไม่ได้แม้แต่จะไปฟังการปราศรัย และแม้จะมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน มีการประกาศห้ามการชุมนุม ก็เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถใช้บังคับได้จริง และที่พยายามจะบังคับใช้โดยการใช้วิธีฉีดน้ำ ก็ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าทำให้เกิดปัญหาของการต่อต้านสูงขึ้น  เพราะคนมองไม่เห็นว่าทำไมจำเป็นต้องทำแบบนั้นในสถานการณ์นั้น

      ...เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะปัญหาขัดแย้งก็อย่างที่บอกคือมันสะสม มีการทับซ้อนเข้าไปในมิติใหม่ๆ  ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป มีประเด็นที่ขยายไปถึงแทบจะเรียกว่าทุกเรื่องแล้ว ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่แตะต้องกันแล้ว โดยตอนที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินก็มีการจับกุมกุมขัง ทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้ปล่อย จะต้องไม่จับต้องไม่มีการคุกคาม 

      ...ต้องบอกว่าสถานการณ์มันน่าเป็นห่วง ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ทั้งที่เราเห็นปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายมาหลายเดือนแล้ว แต่จนถึงวันนี้ฝ่ายผู้มีอำนาจกับฝ่ายที่เคลื่อนไหวแทบจะไม่ได้มีการสื่อสารถึงกันได้เลย ต่างคนก็ต่างยืนอยู่ในจุดของตัวเอง ซึ่งในแง่มุมของการแก้ปัญหา หากผู้มีอำนาจยังไม่แม้แต่พยายามทำความเข้าใจกับข้อเรียกร้องหรือประเด็นของการชุมนุม มันก็ยากที่จะแก้ไข

      อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ รัฐบาลก็ควรแสวงหาข้อตกลงกับผู้ที่แสดงออกในการชุมนุมว่า ขอบเขตของการชุมนุม เช่นขอให้อย่าไปทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทั่วไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องดูที่ต้นเหตุ (ของการชุมนุมเรียกร้อง) ที่ต้องมาหาคำตอบกัน ซึ่งการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ ก็เป็นเวทีหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยกันหาทางออก แต่หากสมาชิกรัฐสภาไม่ตระหนักว่าคนจำนวนมากต้องการเห็นสภาเป็นที่พึ่ง โดยหากประชุมไปแล้วไม่มีอะไรที่เป็นความคืบหน้าออกมาเลยในการคลี่คลายปมของปัญหา สถานการณ์จะหนักขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการฟ้องว่า ระบบสภาที่มีตัวแทนของประชาชนอยู่ก็ยังไม่สามารถเคลื่อนบ้านเมืองให้ไปข้างหน้าเพื่อให้พ้นจากวิกฤติได้

      ...ผมก็มีข้อห่วงใยในประเด็นที่เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้านี้ คือ 1.การให้มีการประชุมดีกว่าไม่มีการประชุม แต่การที่จะให้ประชุมกันสัปดาห์หน้านี้ก็อาจสายไป เพราะจากวันที่ให้สัมภาษณ์ (21 ต.ค.) ถึงวันประชุมก็อาจมีอะไรเกิดขึ้นได้อีกเยอะ อาจมีเงื่อนไขใหม่ๆ เติมเข้ามา

 2.หากเปิดประชุมแล้วเป็นแค่การอภิปรายทั่วไป ก็แสดงว่าความคืบหน้าเรื่องรัฐธรรมนูญในมุมของสภาเองยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งมันก็เกิดยากอยู่แล้วเพราะร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอเข้าไปให้สมาชิกรัฐสภาโหวต ก็ต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการซึ่งรัฐสภาตั้งขึ้นมา ส่วนร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน (ไอลอว์) ก็อยู่ในขั้นตอนให้สิทธิ์ประชาชนโต้แย้งว่าได้ลงชื่อจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นหนึ่งในประเด็นที่ต้องคลี่คลายก็คือเรื่อง รัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีคำตอบจากตรงนี้

...ประเด็นที่ 3 ผมคาดการณ์ว่าความยุ่งยากจะเกิดขึ้นในการประชุมสภา เพราะว่าเนื่องจากในการชุมนุมเคลื่อนไหวมีข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คงจะมีคนที่อาจอยากอภิปรายเรื่องนี้ และผมก็คาดการณ์ว่าก็คงจะมีกลุ่มคนที่จะประท้วงไม่ยอมให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ ซึ่งในข้อบังคับการประชุมก็จะมีการห้ามอภิปรายพาดพิงในทางเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น ผมเชื่อว่าจะมีการโต้แย้งเรื่องนี้เยอะมากในสภา แต่ก็อยากจะบอกว่าถ้าสภาไม่สามารถหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาได้ มันก็ไม่มีทางที่จะไปตอบโจทย์การเคลื่อนไหว ส่วนการหยิบขึ้นมาแล้วมีการอภิปราย ผู้อภิปรายทุกคนก็ต้องตระหนักถึงความละเอียดอ่อน ความเหมาะสมและขอบเขตของการอภิปรายในเรื่องนี้ อันนี้ก็จะเป็นข้อยุ่งยาก

        อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ฟังดูเสมือนกับว่าเมื่อมีการอภิปรายกันแล้ว จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ซึ่งเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่คำตอบ ทุกครั้งเวลาจะตั้งคณะ กมธ.ขึ้นมาในลักษณะนี้ จะถูกมองจากกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวว่าเป็นเหมือนกับการประวิงเวลา และไม่ได้เป็นการสื่อสารถึงคู่กรณีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรณีของตัวนายกรัฐมนตรี ผมจึงมองว่าสภาต้องเปิด แต่เมื่อเปิดมาแล้วและต้องการแก้ปัญหานี้ด้วยระบบรัฐสภา คิดว่าฝ่ายบริหารต้องมีความชัดเจนว่าจะตอบโจทย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร เช่นการต้องตอบปัญหาเกี่ยวกับการคุกคามเสรีภาพต่างๆ จะมีการหยุดยั้งไม่ให้เป็นประเด็นแบบนี้ได้อย่างไร

...นายกรัฐมนตรีจะย้ำอย่างเดียวว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ท่านต้องเข้าใจด้วยว่า วันนี้มันมีเครื่องหมายคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าเป็นธรรม เสมอภาคแค่ไหน และมีคำถามด้วยว่า การใช้กฎหมายบางฉบับมันมีความชอบธรรมแค่ไหน อย่างไร เพราะอย่างเช่นที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สิ่งที่มีความผิดตามประกาศดังกล่าว โดยปกติมันไม่ใช่ความผิด ถ้าจะพูดเพียงว่าต้องบังคับใช้กฎหมาย มันก็มีประเด็นที่ต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า แล้วกฎหมายบางฉบับจะต้องนำมาใช้ในสถานการณ์แบบไหน อย่างไร อันนี้คือโจทย์หนึ่งที่ผู้มีอำนาจต้องตอบ ถ้าอภิปรายเฉยๆ แล้วรัฐบาลไม่สามารถตอบตรงนี้ได้ ปมนี้ก็ยังไม่ได้แก้

      ...ปมที่สองในการประชุมที่จะมีขึ้น คือเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลายบทบัญญัติขัดกับหลักประชาธิปไตยที่เป็นสากล ถ้าจะประชุมรัฐสภาแล้วยังไม่มีคำตอบหรือสัญญาณที่ชัด ว่าตกลงรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรื่องอะไรบ้าง ตรงนี้ก็จะไม่ได้แก้ปัญหาอีก     

      "อยากเห็นฝ่ายบริหารยืนยันกับสภาได้ว่า ตกลงรัฐบาลจะขอให้รัฐสภาสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องอะไรบ้าง อย่างเรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หากเห็นชอบก็ให้บอกไปเลยว่าเห็นชอบด้วยในหลักการ ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมี ส.ส.ร.กี่คน, ที่มาของ ส.ส.ร., ขอบเขตของการร่าง รธน.ฉบับใหม่ ก็ไปว่ากันในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการร่วมที่จะตั้งขึ้นได้"

      ...ถึงเวลาแล้วที่จะส่งสัญญาณว่าตกลงจะเดินเพื่อจะให้มีการตั้งสภาร่าง รธน. ในความเห็นผมแม้ตรงนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะในกระบวนการให้มี ส.ส.ร. สมมุติว่าเห็นชอบให้มี ส.ส.ร. ก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณสองปีกว่าจะมีกติกาใหม่บังคับใช้ได้จริง ซึ่งจากวันนี้ไปอีกสองปีปมปัญหากรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา การลาออก มันก็ยังต้องอยู่ภายใต้กติกาเก่า ซึ่งแปลว่าจะทำให้ทางออกทางการเมืองทั้งหลายมันใช้ไม่ได้อีก เพราะมันวนกลับไปที่เดิม

      ดังนั้นสิ่งที่ยอมรับแล้วว่ามันเป็นปัญหา อย่างเช่นอำนาจของวุฒิสภาในบทเฉพาะกาล ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้มีอำนาจจะบอกว่าตรงนี้ต้องแก้ไข ผมมองว่าถ้ารัฐบาลเปิดใจกว้างแบบนี้ บอกมาว่ารัฐธรรมนูญให้เดินหน้าแก้ไข ให้มีการตั้งสภาร่าง รธน. และปมไหนใน รธน.ที่ยังเป็นปัญหา-ทำเลย มันก็จะคลี่คลายไปได้เยอะพอสมควร

ต้องดึงสถาบันออกจาก

ความขัดแย้งทางการเมือง

      อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องสุดท้ายที่คนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุดคือเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ ผมก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ สิ่งที่ผู้มีอำนาจและรัฐบาลพึงกระทำให้มากที่สุดคือ ต้องมีเป้าหมายในการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมาจากความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งนี้คือเป้าหมายสำคัญที่สุด  ปัญหาที่ผ่านมามันกลายเป็นว่า แทนที่เราจะแยกความขัดแย้งทางการเมืองออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับมีการไปมัดรวม คือผู้ชุมนุมเองเขาก็มีข้อเสนอที่มันมัดรวมกันอยู่ แต่รัฐบาลเองรวมทั้งการแสดงออกของนายกรัฐมนตรีหลายครั้งก็มัดให้มันแน่นเข้าไปอีก ยกตัวอย่างเช่นวันก่อนนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การประกาศภาวะฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีก็ไปจบว่าทั้งหมดทำเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจริงๆ การตัดสินใจบังคับใช้ทางกฎหมายเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล รัฐบาลต้องรับผิดชอบ พอนายกฯ ไปอ้างอิงแบบนี้ก็ไปมัดรวมเรื่องนี้อยู่ในความขัดแย้ง แล้วพอไม่ตอบโจทย์เรื่องรัฐธรรมนูญให้มันชัด มันก็ยิ่งทำให้คนที่เขาออกมาเคลื่อนไหวเขามีความรู้สึกว่า แสดงว่าโครงสร้างทั้งโครงสร้างต้องเปลี่ยนหมด

      "รัฐบาลหากจะดึงความขัดแย้งออกมาได้ ข้อที่หนึ่งต้องแยกประเด็นทางการเมืองออกไปก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะถูกครหาว่าที่พูดว่าปกป้องสถาบัน กลับกลายเป็นการนำสถาบันมาปกป้องตัวเอง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับใครเลย"

      ...ทีนี้เมื่อแยกมาแล้ว และประเด็นข้อเรียกร้องเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังมีอยู่ ตรงนี้มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องพูดกันว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ ในวันนี้จะคิดแบบเดิมๆ ไม่ได้ วันนี้คนที่ไม่พอใจการเคลื่อนไหวเรื่องนี้คิดแต่จะแสดงพลัง คนที่ไม่ยอมรับเรื่องนี้แล้วจะออกมา ผมตั้งคำถามว่าเราไม่ได้มีสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือสำหรับคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อย เราจะมีสถาบันหลักของชาติอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นสถาบันของทุกคน การไปตอบโต้ด้วยการจะไปชี้หน้าคนที่เขาออกมาเรียกร้องขณะนี้ว่าเขาใช้ไม่ได้ เขาผิด ไปไกลถึงขั้นบอกว่าไม่สมควรอยู่ในประเทศนี้  มันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย และไม่ได้ช่วยให้คนที่เรียกร้องต่างๆ ในเวลานี้มีความเข้าอกเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ดีขึ้นเลย การจะไปบอกว่าห้ามพูดเรื่องนี้ปิดเรื่องนี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ จึงต้องคิดว่าเราจะหาเวทีหรือกลไกอะไรที่จะพูดเรื่องนี้ได้ด้วยเหตุด้วยผล ต้องสร้างมันขึ้นมา เพื่อให้คนที่เขาจะมีข้อเรียกร้อง มีคำถาม เขาสามารถจะมาคุยเรื่องนี้บนหลักการและเหตุผลได้ โดยที่หากจะทำเรื่องเหล่านี้  การแสดงออกอะไรก็ตามที่กระทบกระเทือนกับจิตใจของคนหมู่มากก็ควรต้องหยุด เพราะจะมีการเปิดช่องทางให้มาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล

      ...ข้อเรียกร้องแม้กระทั่งจะพูดถึงเรื่องการปฏิรูปเป็นสิ่งที่พูดได้ แต่การปฏิรูปไม่ใช่เป็นการปฏิปักษ์  ถ้าอยากคุยเรื่องการปฏิรูป ผมคิดว่าผู้มีอำนาจก็ต้องบอกว่าปฏิรูป แบบนี้คุยได้ แต่ถ้าแสดงออกในลักษณะเป็นปฏิปักษ์ แบบนี้มันทำให้การพูดคุยเกิดขึ้นได้ยาก โดยที่อะไรก็ตามที่ไปกระทบกระเทือนความรู้สึกของคนที่เขาเคารพนับถือ มันก็จะเป็นแต่การไปสร้างความขัดแย้งในสังคม โดยที่หากมีการวางประเด็นเหล่านี้ทั้งหมด ที่อาจจะใช้เวทีสภาหรืออาจไม่ใช้เวทีสภา แต่ตัวนายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจ จะพูดเรื่องหลักๆ เหล่านี้ เช่นส่งสัญญาณว่ารัฐธรรมนูญจะมีการแก้ไขแน่ สร้างรูปแบบที่เหมาะสมในการจะพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แบบมีเหตุมีผล ก็เป็นทางที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศเดินหน้า และออกจากหล่มความขัดแย้งตรงนี้ไปได้

       สำหรับวิธีอื่นๆ แม้จะทำให้สงบลงในช่วงนี้มี แต่ก็เหมือนกับวางระเบิดเวลาเอาไว้สำหรับวันข้างหน้า เพราะมันก็ค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เขามองและมีกรอบความคิดที่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนๆ

-ถึงตอนนี้หากพลเอกประยุทธ์ลาออก สถานการณ์จะจบไหม?

      นายกรัฐมนตรีลาออกทุกอย่างก็ยังคงอยู่ใต้กติกาเดิม ก็ต้องมีการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ขึ้นมา  โดย ส.ว.ชุดปัจจุบันก็ยังมีสิทธิ์ลงคะแนน ผมก็มองว่ามันยากในการสร้างการยอมรับความชอบธรรมขึ้นมา มันพันกันหมด

 ผมถึงบอกว่าจริงๆ วันนี้เรื่องรัฐธรรมนูญ มันเป็นก้าวแรกที่ควรเร่งสะสางให้มันเสร็จ ซึ่งหากทำให้เสร็จก่อนหน้านี้ มันอาจคลายอะไรไปได้หลายอย่างแล้ว และวันนี้มันสำคัญที่ว่า คนเป็นผู้นำจะทำอะไร มากกว่าที่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะอย่างที่บอกประเด็นมันลึกลงไปแล้ว สมมุติเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีปัญหากันในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแต่รัฐธรรมนูญยังไม่แก้ไข  เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแต่วิวาทะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นแบบนี้อยู่ มันก็ไม่ได้คลายสถานการณ์ สามเรื่องข้างต้นดังกล่าวต่างหากที่กำลังรอคำตอบ

-หากนายกฯ ตัดสินใจยุบสภา?

      การยุบสภาก็เป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรีที่จะทำ แต่ก็เหมือนกับเรื่องลาออก ก็คือแล้วจะยังไง  เพราะกติกาก็ยังเป็นกติกาเดิม แล้วก็ยังคงมีความขัดแย้ง ผมยกตัวอย่างเช่น หากมีการไปหาเสียงเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกตั้งรอบที่แล้วก็มี ก็บอกว่าจะแก้ไข รธน. แต่เมื่อกลับเข้ามาถึงก็ปรากฏว่าสมาชิกวุฒิสภาก็ยังไม่ให้ 84 เสียง แล้ว ส.ว.ก็ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ โดยก็ยังเกาะกลุ่มกันแบบนี้ มันก็กลับมาอยู่ในสถานการณ์เดิม มันก็ไม่ได้คำตอบ หัวใจจริงๆ คือเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่จะเปิดประตูไปสู่การคลายปมอื่นๆ ได้

-ถ้าสถานการณ์เริ่มเขม็งเกลียวเหมือนเหตุการณ์ในอดีตเช่น 6 ตุลาคม 2519 หรือก่อนวันที่  19 กันยายน 2549 แล้วทหารออกมารัฐประหาร?

      ผมไม่สามารถไปเดาใจทหารได้ แต่ผมตอบได้เพียงว่าวันนี้ถ้าไปจบลงที่ตรงนั้นอีก ก็มีแต่ไปเติมเชื้อของความขัดแย้งมากขึ้น ผมถึงมองว่าความจริงคนที่เคลื่อนไหวเขาก็คิดละเอียด วันที่ประกาศสามข้อเรียกร้อง ก็บอกทันทีไม่เอารัฐประหารกับรัฐบาลแห่งชาติ

-หากเกิดกรณีนายกฯ ลาออก โดยที่รัฐสภาก็โหวตเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.ให้มีการตั้งสภาร่าง รธน. อีกทั้งมีการแก้ไข รธน.รายมาตราด้วย เช่นมาตรา 272 คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะพอใจไหม  เพราะคนมองว่าวันนี้เพดานข้อเรียกร้องอาจไปไกลกว่านั้น?

      ถ้าให้ตั้งสภาร่าง รธน. มีการแก้มาตรา 272 (ให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ) แล้วนายกฯ ตัดสินใจลาออก โดยที่สภายังอยู่ มันก็คลายไประดับหนึ่ง ผมคงไม่กล้าไปบอกว่ามันจะจบ เพราะก็ยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ อย่างที่ว่า แต่มันก็จะคลาย คืออะไรที่คลายได้ ถ้าคลายไปแล้วมันก็จะเห็นภาพชัดขึ้น พูดก็พูด ลองนึกภาพสมมุติปลายทางกำลังจะมีการตั้งสภาร่าง รธน. ลองนึกภาพว่าหากเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้าตั้งแต่แรกตอนนั้นนายกรัฐมนตรีบอกว่าสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อารมณ์ของสังคมก็จะไม่เป็นแบบนี้ วันนี้คนยังมีความรู้สึกว่าทำแบบไม่เต็มใจ ทำเพื่อประคองสถานการณ์  เพราะรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมก็ยังไม่ตัดสินใจ ยังไปตั้งกรรมาธิการขึ้นมาอีก ก็เลยกลายเป็นว่าแทนที่จะคลายด้วยความรู้สึกที่ดี ก็เลยกลายเป็นมาตอบสนอง เพราะมันไปทางอื่นไม่ได้แล้ว ใช่หรือไม่

-เป็นห่วงหรือไม่กับการออกมาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง (ใส่เสื้อเหลือง) เพราะหลายจังหวัดเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว เช่นที่ชลบุรีและกรุงเทพมหานคร หากเป็นแบบนี้อาจจะมีการเผชิญหน้ากันของประชาชนสองกลุ่ม?

      ผมดูเหตุการณ์แล้วมันก็ไปได้สามทาง ทางที่หนึ่งก็คือ หากช่องว่างระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ชุมนุมยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะมีการปะทะการแตกหักเกิดขึ้น ทางที่สองคือ บริหารสถานการณ์ คลายอารมณ์ตรงนั้นตรงนี้ แต่ไม่ไปสู่ต้นตอ ซึ่งก็อาจพอทำให้เกิดความสงบได้ แต่ประเทศก็เดินวน ไม่เดินไปไหน กับทางที่สามคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ให้มีการนำทุกเรื่องมาวาง แล้วมาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วหาคำตอบ ถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรสายเกินไป แต่ทุกวันที่ผ่านไป ปัญหาก็แก้ยากขึ้น ทุกนาทีที่ผ่านไป หากยังไม่มีอะไรคืบหน้าในแต่ละเรื่อง ปัญหาก็จะแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีปมขัดแย้งใหม่ๆ  เกิดขึ้นตลอด

-คนก็ห่วงจะเกิดกระแสขวาจัด?

      ถูกต้อง ก็เกิดได้อยู่แล้ว เพราะอารมณ์ของคนมันรุนแรงมากทั้งสองฝ่าย ผมเป็นคนที่เข้าใจมาก เพราะในช่วงการเลือกตั้ง ผมเป็นคนที่พยายามบอกว่าเรามาสร้างพื้นที่ตรงกลางได้หรือยัง แล้วผลการเลือกตั้งก็ให้คำตอบผม คือคนยังไม่พร้อมที่จะมีพื้นที่ตรงกลาง คนยังคิดกันเป็นสองฝ่าย และยังมีช่องว่างสูงมาก แต่วันนี้ไม่ใช่แค่ตรงนั้นแล้ว เพราะมันมีประเด็นใหม่เข้ามา

กระตุกสภาสูงคว่ำแก้ รธน.

หากทำสถานการณ์ยิ่งรุนแรง

-เรื่องรัฐธรรมนูญ มั่นใจกับเสียง ส.ว.เวลานี้ว่าจะเปลี่ยนแปลงท่าทีในการโหวตรับร่าง รธน.หรือไม่ ทางผู้มีอำนาจสามารถสั่งการกดปุ่มเพื่อขอให้ ส.ว.ลงมติให้ถึงตามจำนวน 84 เสียงได้หรือไม่?

      ผมคงไม่กล้าที่จะไปบอกว่า 250 คนกดปุ่มได้ ใช้คำที่ถามคำนั้น แต่ผมก็คงคิดเหมือนกับคนทั้งประเทศว่า ถ้าสมมุติรัฐบาลส่งสัญญาณไปยัง ส.ว. ผมไม่คิดว่า ส.ว.จะต้านสัญญาณที่รัฐบาลส่งไป จึงไม่แปลกที่ทำไมวันนี้ผู้ชุมนุมถึงไม่ได้มองว่าปัญหาอยู่ที่ ส.ส.และ ส.ว. เพราะจริงๆ ถ้ารัฐบาลหรือตัวนายกฯ ตัดสินใจที่จะสนองข้อเรียกร้อง เขาก็มั่นใจว่าสามารถทำได้อยู่แล้ว

-หากสุดท้าย ส.ว.ลงมติไม่เห็นชอบวาระแรก เสียงไม่ถึง 84 เสียง สถานการณ์จะเป็นอย่างไร?

      ก็จะรุนแรงขึ้น มันก็จะตอกย้ำสิ่งที่ผู้เคลื่อนไหวเขาชี้อยู่ว่า ขณะนี้บ้านเมืองไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง จะยิ่งไปตอกย้ำว่าระบบไม่เป็นประชาธิปไตย

      -ทางออกไม่ให้เกิดการนองเลือด การเผชิญหน้า รัฐประหาร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบในอดีตเช่น 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภา 35?

      ท่าทีของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องชัดว่าจะตอบสนองเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างไร ต้องสนองเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร จะหาวิธีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งอย่างไร ถ้าตอบตรงนี้ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะเกิดเหตุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"