“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯ ธปท.ป้ายแดง กับบทนโยบายการเงิน“กองหลัง”ดันเศรษฐกิจไทย


เพิ่มเพื่อน    

        “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดภารกิจ 5 โจทย์ใหญ่ กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งวิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก

        ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่า ปัญหาครั้งนี้หนักและนาน แต่ท้ายที่สุดก็ยังเชื่อว่าทุกฝ่ายจะแก้ปัญหาไปได้ แต่ต้องใช้เวลา เพราะปัญหาครั้งนี้เป็นเรื่องที่เจอกันทั่วทั้งโลก และเป็นวิกฤติปัญหาที่คนทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ “ไม่เคยเจอ” มาก่อน โดยหากมองย้อนไปถึงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับภาคการเงิน ภาคการคลัง เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก วิกฤติเหล่านี้คนทำนโยบายด้านเศรษฐกิจคุ้นเคยกันดี เพราะมีอยู่ในตำรา ทุกอย่างจึงชัดเจน ไม่ซับซ้อน

        แต่วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้เป็นของใหม่ เป็นวิกฤติที่เกิดจากด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบลุกลามเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก การได้เห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาตรการในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เหมือนเป็นการลองผิดลองถูกจึงเกิดขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั่วทั้งโลก เมื่อออกมาตรการไปแล้ว ค่อยๆ มาพิจารณาถึงปัญหาในแต่ละส่วน แล้วจึงค่อยๆ มาปรับมาตรการในการให้ความช่วยเหลือกันไปเรื่อยๆ แต่สำหรับ “เศรษฐพุฒิ” มีแนวทางในการแก้วิกฤติต่างๆ ด้วยการเน้น “ความยืดหยุ่นสูง” ในการดำเนินการแก้ปัญหา นั่นหมายถึง วิธีการดำเนินการต่างๆ ที่ออกมาต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

        “เศรษฐพุฒิ” มองว่า บริบทของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นั่นหมายถึงประเทศไทยเหมือนผู้ป่วยที่ออกมาพักฟื้นจากไอซียูแล้ว ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมา (Uneven) ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของเศรษฐกิจ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะใช้เวลานาน (Long) ไม่น้อยกว่า 2 ปีในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า และ 3.ยังมีความไม่แน่นอนสูง (Uncertain) ว่าวัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ระดับไหน จึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน?

        ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากการระบาดของโควิด-19 แต่ช่วงระยะเวลาที่เกิดการระบาดอาจจะสั้นกว่าหลาย ๆ ประเทศ ทำให้ผู้รับผิดชอบได้ออกมาตรการในการช่วยเหลือในลักษณะ “ปูพรม เหมาเข่ง” เน้นช่วยเหลือให้ทั่วถึง เพราะโควิด-19 มาเร็วและแรง ทำให้มีเวลาในการนั่งแยก จำแนกความเดือดร้อนลำบาก ทำให้นโยบายช่วยเหลือจากหลายๆ ส่วนที่ออกมา รวมถึงฝั่งการเงินก็จะเป็นประมาณเดียวกันทั้งหมด

        เมื่อบริบทเปลี่ยน ธปท.จึงประเมินว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องปรับจากการใช้มาตรการที่ปูพรม การให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน มาเป็น “การช่วยเหลือแบบตรงจุด (Targeted) ครบวงจร (Comprehensive) และยืดหยุ่น (Flexible)” โดยต้องพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัด จึงต้องใช้ให้ถูกจุด เพื่อช่วยคนที่จำเป็นให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

        ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การพักหนี้ จากการปูพรมช่วยช่วงล็อกดาวน์ที่ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ พนักงานหันมาทำงานจากที่บ้าน (work form home) หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ มาเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมตามความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งเป็นการช่วยแบบตรงจุดกว่า เช่นเดียวกับหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย

        “การออกมาตรการช่วยเหลือหลังจากนี้ จะต้องมองไปข้างหน้า ต้องมองยาว เพราะโจทย์ไม่ใช่แค่ว่า ธปท.ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องคิดโดยมองไปข้างหน้าอย่างน้อย 2 ปี นั่นเพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีว่าเครื่องมือที่จะรองรับระยะเวลาในการแก้ปัญหา 2 ปีมีอะไรบ้าง โจทย์หลักของ ธปท.ตอนนี้คงไม่ใช่แค่การพักชำระหนี้ แต่ต้องมาดูถึงกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องมีหนี้เสียเกิดขึ้น ต้องดูว่าจะจัดการกับหนี้เสียส่วนนี้อย่างไร กลไก เครื่องมือต่างๆ ต้องครบ เพราะปัญหาที่เจอมาจากหลากหลาย และด้วยความที่การฟื้นตัวครั้งนี้มีลักษณะของความยาว และไม่แน่นอนสูง ด้วยปัญหาในลักษณะนี้จึงต้องคิดถึงผลข้างเคียงและผลระยะยาวเป็นหลัก” “เศรษฐพุฒิ” ระบุ

        ธปท.เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรงพอที่จะก้าวพ้นวิกฤติครั้งนี้ เพราะไทยสามารถคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะ และยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ขณะที่ตลาดแรงงานยังมีความยืดหยุ่นสูง

        โดย 5 โจทย์ใหญ่ของ ธปท. สำหรับช่วงเวลาต่อจากนี้ คือ 1.แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจพ้นวิกฤติโควิด-19 และฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อย ซึ่งเรื่องสำคัญคือ การดูแลสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้ 2.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินให้เข้มแข็งเพียงพอ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบสถาบันการเงินจะมีความสามารถเพียงพอในการทำหน้าที่ของตัวเองในการหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้ 3.การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และระยะต่อไปได้ดี

        4.การสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท.เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด ตรงนี้ “เศรษฐพุฒิ” ระบุว่า เป็นโจทย์สำคัญ ถ้าการแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการต่างๆ แล้วมีคำถามตามมา จะทำให้การทำงานของ ธปท.ลำบากมากๆ เพราะหากมองตามธรรมชาติของงาน เวลา ธปท.ทำอะไรก็จะมีคนไม่พอใจ ถือเป็นเรื่องปกติ และคนที่ไม่พอใจก็จะส่งเสียงดัง แต่หน้าที่ของ ธปท.คือต้องดูภาพรวม ต้องสร้างความมั่นใจผ่านการสื่อสารให้คนเข้าใจในภาพรวมให้ได้ ด้วยชื่อของเราคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” นั่นหมายถึงเราต้องดูทั้งประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ ธปท.ดำเนินการจะต้องคำนึงถึงภาพรวม ซึ่งหนี้ไม่พ้นจะมีกลุ่มที่ถูกกระทบ เป็นเรื่องปกติที่จะมีเสียงต่อต้าน แต่การทำให้คนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ ธปท.ทำนั้นเหมาะสมสำหรับส่วนรวม คือโจทย์สำคัญ!

        ผมได้คุยกับทีมงาน ซึ่งมีการคิดแนวทางการสื่อสารถึงกระบวนการทำงานของ ธปท.ใหม่ เพื่อตอบโจทย์เรื่องความเชื่อมั่น นั่นคือ “คิดรอบ ตอบได้” เป็นการสะท้อนแนวทางการทำงานของ ธปท. ว่าเวลาจะทำอะไรต้องคิด คิดให้รอบคอบ คิดให้เยอะ คิดให้มาก เป็นการยืนยันว่า ธปท.คิดจนครบทุกด้าน เพราะที่ผ่านมาการทำงานของ ธปท.เจอปัญหาเยอะ การเอาคนจากหลายด้านมาช่วยกันคิดเพื่อให้ได้โซลูชั่นที่มองให้ครบทุกด้าน จนนำมาสู่การ “ตอบได้” เพราะเมื่อคิดมาดีแล้ว ก็ต้องตอบทุกคน จากทุกคำถามได้เช่นกัน เพราะ ธปท.เป็นองค์กรที่ไม่มีผลประโยชน์ ดังนั้นการทำงานและการสื่อสารจะเป็นไปตามเนื้อผ้า

        และ 5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ ธปท.เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยืนยันให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ธปท.มีคนเก่ง ทุ่มเท และตั้งใจเยอะ แต่ที่ผ่านมาผลลัพธ์ของงานอาจจะยังไม่โดดเด่น เพราะหลายอย่างยังติดเรื่องภายใน ทั้งโครงสร้าง และกระบวนการทำงานขององค์กร ซึ่งอาจทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับในส่วนนี้เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานที่ออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น

        ส่วนกรณีที่มีการพูดว่า นโยบายการเงินมาถึงทางตันในการช่วยดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ นั้น “เศรษฐพุฒิ” ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนอกจากจะอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคด้วย จึงทำให้มี room ที่จำกัด ดังนั้นเห็นว่าในช่วงนี้บทบาทของ “มาตรการทางการคลัง” คงจะต้องเป็นหลักหรือเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่ ธปท.จะต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงคือ จะต้องให้เรื่องของดอกเบี้ย สภาพคล่องทางการเงิน และสภาวะตลาดเงินโดยรวม ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

        "การจะให้มาตรการการเงินเป็นตัวขับเคลื่อน หรือเป็นตัว drive คงเป็นไปไม่ได้ การที่ภาคท่องเที่ยว การบริโภค ซึ่งเป็นดีมานด์ที่หายไปจากประเทศไทยนั้น จะให้ฝั่งนโยบายการเงินหาดีมานด์มาทดแทน คงไม่ใช่ แต่ต้องอาศัยเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วย ในขณะที่ฝั่งการเงิน จะต้องทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถ้าเปรียบกับทีมฟุตบอลแล้ว นโยบายการเงินไม่ใช่กองหน้า แต่เราเป็นกองหลัง ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เราก็มีข้อจำกัด เพราะทีมฟุตบอลถ้ากองหลังไม่แข็ง เตะอย่างไรก็แพ้ เราต้องเมคชัวร์ในเรื่องต่างๆ แต่จะให้ทีมชนะเพราะกองหลัง ก็คงไม่ใช่อีก มันต้องมีการประสานกัน และอาศัยเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยด้วยในยามนี้ คงไม่เฉพาะไทยเอง แต่ประเทศอื่นๆ ก็คงเช่นกัน" “เศรษฐพุฒิ” กล่าวทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"