(นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (แถวหน้าที่ 4 จากขวาไปซ้าย) ร่วมงานประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติเมื่อเร็วๆ นี้ที่ พอช.)
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นองค์การมหาชนแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2543 ปัจจุบัน พอช.ดำเนินงานครบ 20 ปี มีภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรชุมชนผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนด้านต่างๆ
เช่น สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชนที่มีรายได้น้อย ส่งเสริมอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน การจัดสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน การดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ ฯลฯ
วิสัยทัศน์ ตามแผนยุทธศาสตร์ของของสถาบันฯ คือ “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทยในปี 2579” โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อน คือ “องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักและพื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”
“บ้าน” ที่มีความหมายมากกว่าคำว่า “บ้าน”
สมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญของ พอช. คือ การสนับสนุนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนทั้งในเมืองและชนบท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 คือ “โครงการบ้านมั่นคง” เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องถูกขับไล่ อยู่อาศัยในที่ดินที่ถูกกฎหมาย เช่น รวมกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนเช่าหรือซื้อที่ดินใหม่เพื่อปลูกสร้างบ้าน-สร้างชุมชนใหม่ โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ สินเชื่อ และเป็นที่ปรึกษาโครงการ
ต่อมาได้ขยายเป็นโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ เช่น โครงการบ้านมั่นคงชนบท โครงการบ้านพอเพียงชนบท (สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านผู้ยากไร้ในชนบท) ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทุกประเภทของ พอช. คือ ให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการ โดยการสนับสนุนให้ชุมชนหรือผู้ที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ตั้งแต่การสำรวจข้อมูลชุมชน ข้อมูลผู้ที่เดือดร้อน เช่าหรือจัดหาที่ดินใหม่ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อออมเงินสร้างบ้าน การออกแบบบ้าน-ผังชุมชนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน การบริหารจัดการโครงการ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในทุกๆ ด้าน
ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการแก้ปัญหาให้ประชาชนผู้ยากไร้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทุกประเภทไปแล้วกว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ ประมาณ 249,000 ครัวเรือน (บ้านมั่นคงในเมืองและชนบท 116,719 ครัวเรือน, บ้านพอเพียงชนบท 69,425 ครัวเรือน, ชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร 2,972 ครัวเรือน, ซ่อมสร้างบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 11,388 ครัวเรือน, ซ่อมสร้างบ้านในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ 48,992 ครัวเรือน ฯลฯ)
นอกจากการมีบ้านที่มั่นคงแล้ว องค์กรชุมชนที่เข้าร่วมโครงการด้านที่อยู่อาศัยกับ พอช. ระบุว่า กระบวนการทำงานด้านที่อยู่อาศัยซึ่งส่วนใหญ่ยาวนานหลายปีนั้น ทำให้ครัวเรือนมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปาลงกว่าครึ่ง องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการบริหารจัดการต่างๆ ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ทำให้คนจนเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกับภาคีการพัฒนาอื่นๆ ได้อย่างสง่าผ่าเผย สมกับคำกล่าวที่ว่า “บ้านมั่นคงเป็นบ้านที่มีความหมายมากกว่าคำว่าบ้าน”
นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของชุมชนชนบทที่สั่งสมมายาวนานคือปัญหาด้านที่ดิน เช่น ไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตป่าสงวนฯ ป่าไม้ ฯลฯ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอช.ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนได้ริเริ่มการแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในพื้นที่กว่า 1,000 ตำบลจัดเก็บข้อมูลปัญหาที่ดินในชุมชนอย่างละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาแยกแยะประเภทปัญหาแล้ววางแผนแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ การขอเช่าที่ดิน ขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของหน่วยงานต่างๆ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก., ป่าเสื่อมโทรม, ที่ดินราชพัสดุ ฯลฯ
กองทุนสวัสดิการชุมชน “Social Safety Net”
ในปี 2548 พอช. และขบวนองค์กรชุมชนได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล โดยสมาชิกส่วนใหญ่สมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือและจัดสวัสดิการให้สมาชิกกว่า 20 ประเภท ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย สร้างอาชีพ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดหาที่ดินและที่อยู่อาศัย ดูแลผู้ป่วยติดเตียง คนชรา คนด้อยโอกาส ฯลฯ ถือเป็น “ตาข่ายรองรับผู้ประสบภัยทางสังคม” หรือ ‘Social Safety Net’ ที่สร้างขึ้นโดยประชาชนอย่างแท้จริง
ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศจำนวน 6,032 กองทุน มีสมาชิกกว่า 5.9 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมกันกว่า 17,600 ล้านบาท ร้อยละ 65 เป็นเงินที่มาจากสมทบของสมาชิก เป็นการพิสูจน์พลังของเงินหนึ่งบาทได้อย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนช่วยเหลือสมาชิกทั่วประเทศไปแล้วกว่า 2.2 ล้านคน รวมเป็นเงินกว่า 2,400 ล้านบาท
สภาองค์กรชุมชนตำบล “สร้างประชาธิปไตยจากฐานราก”
ในปี 2551 พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนมีผลบังคับใช้ โดย พอช.มีฐานะเป็นหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มและองค์กรชุมชนในระดับตำบลจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ขึ้นมาทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนตำบลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นมากมายหลายด้าน
เช่น เป็นเวทีกลางปรึกษาหารือปัญหาสาธารณะ ติดตามโครงการพัฒนาต่างๆ ในตำบล การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสาธารณะต่างๆ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงจังหวัด
นอกจากนี้ในการประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กำหนดว่า “ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ (2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”
ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศเกือบทุกท้องถิ่น จำนวน 7,794 สภาฯ มีกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ร่วมจัดตั้งสภาฯ กว่า 156,000 กลุ่ม ถือเป็นการสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก เพราะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นได้กว้างขวางที่สุดกลไกหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน
สนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสินเชื่อชุมชนกว่า 10,800 ล้านบาท
ภารกิจสำคัญประการหนึ่งที่กำหนดเอาไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พ.ศ.2543 คือ การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม และหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ขณะเดียวกัน คนจนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินสินเชื่อเพื่อทำกิจกรรมพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ รัฐจึงกำหนดให้ พอช. มีภารกิจในการให้สินเชื่อแก่องค์กรชุมชนมาตั้งแต่การก่อตั้งสถาบันฯ โดยในช่วงแรกๆ เป็นสินเชื่อเพื่อการพัฒนาอาชีพและธุรกิจชุมชน ต่อมาเมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงในปี 2546 สินเชื่อส่วนใหญ่ของ พอช.จึงเป็นสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งครัวเรือนที่เดือดร้อนสามารถกู้ได้สูงสุด 360,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 20 ปี
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พอช.ให้สินเชื่อแก่ 986 องค์กรชุมชน รวมเป็นเงิน 10,863 ล้านบาท ทำให้ประชาชน 406,803 ครัวเรือน จำนวน 6,272 ชุมชน มีบ้าน มีอาชีพ มีรายได้จากการใช้สินเชื่อดังกล่าว ครัวเรือนที่ยากลำบากเหล่านี้เป็นครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินในระบบปกติ เพราะรายได้และฐานะทางการเงินไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักประกันเงินกู้ได้
20 ปี พอช. และก้าวต่อไป... “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มแผ่นดินในปี 2579”
บทบาทของ พอช.ต่อสังคมไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านต่างๆ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ที่ดิน สวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ 2.การทำงานของ พอช. ทำให้องค์กรชุมชนทั่วประเทศมีบทบาท มีสถานะ ได้รับการยอมรับเป็นภาคส่วนสำคัญของการพัฒนาสังคมทั้งในเมืองและชนบท
และ 3. คือ พอช.ในฐานะหน่วยงานของรัฐ เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างการขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นระดับชุมชนและการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะของรัฐ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางทั่วทั้งสังคม โดยใช้ตัวอย่างการพัฒนาที่ชุมชนทั่วประเทศพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีมาเป็นรูปแบบในการขยายผลไปทั่วประเทศ
ทั้งยังเป็น การพิสูจน์ด้วยว่า การจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทที่สาม นอกเหนือจากระบบราชการ และรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำงานบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการนั้น เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง ควรจักได้ขยายผลเป็นแนวทางหลักในการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป
ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาการทำงานในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พอช.และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศได้มีการทบทวนและสรุปบทเรียนการทำงานเป็นระยะๆ เพื่อปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและสังคมไทยที่ก้าวเดินต่อไปโดยไม่ยอมหยุดนิ่ง โดยยึดแนวทาง “การสนับสนุนให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนา” เพราะเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทยในปี 2579”
วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 : Housing for all A better urban future
มหกรรมงาน “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
(การจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เมื่อ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาที่หน้าสำนักงานใหญ่ UN ประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ)
องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” เครือข่ายสลัม 4 ภาคร่วมกับภาคีต่างๆ เช่น สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน คนไร้บ้าน ฯลฯ ประมาณ 2,500 คน จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ และยื่นหนังสือข้อเรียกร้องด้านที่อยู่อาศัยให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดมหกรรม “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี น่าน ขอนแก่น และชุมพร
บ้านมั่นคง : “กระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง”
สมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (อดีตผู้อำนวยการสถาบันฯ) กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของสถาบันฯ กำลังครบรอบเข้าสู่ปีที่ 20 ดังนั้นการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2563 นี้ นอกจากจะเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและรณรงค์การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินแล้ว ยังเป็นโอกาสในการทบทวนขบวนการ สรุปบทเรียน จัดการความรู้ สรุปผลการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมองทิศทางการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อขบวนองค์กรชุมชนในอนาคต และวางแผนสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป
(สมสุข บุญญะบัญชา (นั่งขวาสุด) ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ตำบลห้วยขมิ้น จ.สุพรรณบุรี)
หากมองย้อนกลับในช่วงการก่อตั้ง พอช.เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2543) สมสุขมองว่า ก่อนที่จะมีโครงการบ้านมั่นคงในปี 2546 พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในลักษณะที่ว่า ชาวบ้านที่ไหนมีปัญหา หรือว่ามีความพร้อมก็ทำ เสนอโครงการมาทีละโครงการ ที่นั่นโครงการนึง ที่นี่โครงการนึง หรือทำทีละโครงการ เมื่อ พอช.เสนอโครงการบ้านมั่นคงและได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในปี 2546 จึงนำร่องทั่วประเทศ 10 โครงการ
“พอปีถัดมาจึงเสนอว่าควรจะเป็นการทำทั้งเมือง คือแต่ละเมืองจะต้องมีการสำรวจข้อมูล มีการวางแผน มีการจัดกระบวนการว่าเมืองของเขาจะปลอดสลัม หรือว่าจะแก้ปัญหาทุกๆ สลัมในขั้นตอน ในจังหวะจะโคน ในวิธีการยังไง ในเวลากี่ปี มีหลายเมืองที่เข้าสู่กระบวนการวางแผนการแก้ปัญหาทั้งเมืองแล้วก็มีภาพรวม ไม่ได้ไปทำทีละโครงการหรือทีละชุมชนแล้วก็หายไป วิธีการแบบบ้านมั่นคงก็คือ เราจะดูจำนวนคนจนทั้งหมดที่มีปัญหาในเมืองนั้นๆ ว่ามีอยู่เท่าไร แล้วในจำนวนทั้งหมดนี้ เขาจะแก้ปัญหาในรูปแบบไหน เช่น ปรับปรุงอยู่ในที่ดินเดิม หรือขยับไปอยู่ในที่ใหม่ ไม่ไกลจากเดิม ทำให้แก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมทุกๆ ชุมชน และแก้ปัญหาทั้งเมือง” สมสุขเล่าถึงกระบวนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง
“คนจนเป็นผู้เปลี่ยนความยากจนเอง”
สมสุขกล่าวว่า ในการแก้ปัญหาทั้งเมืองจึงต้องมีหน่วยงานต่างๆ มีเครือข่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาโครงสร้าง ปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องกฎระเบียบ เรื่องสถานภาพ เรื่องสาธารณูปโภค เป็นเรื่องโครงสร้างหมด และเกี่ยวกับระบบระเบียบกลไกทั้งหลายที่มีอยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นกระบวนวิธีการแก้ปัญหาทั้งเมืองจึงต้องสร้างเครือข่าย สร้างกลไกความร่วมมือ
เพราะถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือมากพอ การแก้ปัญหามันจะติดขัดและทำได้แต่ละโครงการเท่านั้น และเมื่อโครงการบ้านมั่นคงเป็นที่ยอมรับของนโยบายและหน่วยงานต่างๆ ก็สามารถจะทำให้กลไกในระบบทั้งหลายเข้ามาร่วมมือ หรือเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาช่วยกันทำ เป็นความสำคัญของการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
“ที่สำคัญที่สุดก็คือ โครงการบ้านมั่นคงเป็นรูปแบบที่ชุมชนเป็นหลัก คนจนเป็นผู้เปลี่ยนความยากจนอันนี้เอง แล้วก็เป็นผู้สร้างโครงการเอง บริหารงบประมาณแล้วก็ทำมากกว่าบ้าน เป็นโครงการที่เกิดผลไม่ใช่เรื่องของที่อยู่อาศัยที่เป็นกายภาพหรือเป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเป็นการสร้างระบบใหม่ เปลี่ยนระบบโครงสร้างใหม่ของคนจนซึ่งเคยเป็นแบบหนึ่ง สถานะแบบหนึ่ง เราเปลี่ยนทุกเรื่อง เปลี่ยนโครงสร้างของความสัมพันธ์ภายใน เปลี่ยนโครงสร้างของเรื่องทุนที่เคยเป็นอยู่แบบเดิมที่คนจนเป็นผู้รับตลอดเวลา มีการสร้างกองทุนร่วม เช่น กองทุนรักษาดินรักษาบ้าน กองทุนสวัสดิการ มีการออมทรัพย์ นำไปเชื่อมโยงกับทุนอื่นๆ”
(ชาวบ้าน ต.ห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ช่วยกันสร้างบ้านมั่นคงเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก)
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนเศรษฐกิจพื้นฐาน คนจนเริ่มมีทรัพย์สินเพราะว่าบ้านก็เป็นทรัพย์สิน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ เช่น มีอาชีพที่ดีขึ้น มีคอนเนคชั่น มีความสัมพันธ์ คนจนรู้จักกับเมือง รู้จักกับผู้คนต่างๆ มีสวัสดิการ มีการบริหารร่วมกัน มีการทำกิจกรรมเรื่องเด็ก เรื่องทุนการศึกษา ผู้สูงอายุ ฯลฯ คือทุกสิ่งทุกอย่างมันมาพร้อมกับโครงการบ้านมั่นคง เป็น system change การเปลี่ยนระบบของคนจนจากจุดหนึ่งมาสู่อีกจุดหนึ่ง อันนี้ถือว่าเป็นสาระสำคัญ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นพัฒนาการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน และเป็นการสร้างการเปลี่ยนระดับเมืองไปพร้อมๆ กัน เป็นความก้าวหน้าและทิศทางสำคัญในการพัฒนาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา...!!
พอช.ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 ทั่วภูมิภาค
((ซ้าย) การเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา บริเวณถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ (ขวา) พอช.สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวจากเดิมเป็นชุมชนแออัด สถานภาพบุกรุก กลายเป็นชุมชนริมคลองที่ดูสวยงามและเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ขณะนี้สร้างเสร็จแล้วประมาณ 3,000 หลังใน 35 ชุมชน)
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศตามโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546 โดยยึดหลักการให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อน มีความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยได้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ พอช.ไปสร้างบ้านให้ชาวบ้าน แต่สนับสนุนให้ชาวชุมชนร่วมกันแก้ปัญหา
เช่น ร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงาน ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน ข้อมูลผู้เดือดร้อน รวมกลุ่มกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน วางแผนการแก้ไขปัญหา เช่น สร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิม เช่าที่ดิน หรือจัดหาที่ดินใหม่ ร่วมกันออกแบบผังชุมชน ออกแบบบ้าน ร่วมกันบริหารโครงการ ฯลฯ
ส่วน พอช.มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำปรึกษา ส่งเจ้าหน้าที่และสถาปนิกมาร่วมทำงานกับชุมชน สนับสนุนด้านสินเชื่อและงบประมาณบางส่วน (เช่น ระบบสาธารณูปโภค การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาคีในท้องถิ่นร่วมสนับสนุน เช่น อบต. เทศบาล การไฟฟ้า การประปา สถาบันการศึกษา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ฯลฯ โดยมีช่างชุมชน จิตอาสาร่วมสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้าน
แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี : คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยภายในปี 2579
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเป็นธรรมในสังคม และสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการพื้นฐานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี’ (พ.ศ.2560-2579) โดยมีวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”
ตามแผนแม่บทดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยอาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน (การเคหะแห่งชาติประมาณ 2 ล้านครัวเรือน) แบ่งเป็น 1.แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อยในเมือง 701,702 ครัวเรือน (บ้านมั่นคง ชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร คนไร้บ้าน) 2.ผู้มีรายได้น้อยในชนบท 352,000 ครัวเรือน (ซ่อมสร้างบ้าน)
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พอช. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทุกประเภทไปแล้วกว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ ประมาณ 249,000 ครัวเรือน
รณรงค์สร้างความตระหนักร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
ทุกๆ ปีในช่วง ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ ซึ่งองค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เมืองต่างๆ ทั่วโลกจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันดังกล่าว เฉพาะในประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาชน เช่น สลัม 4 ภาค สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ฯลฯ จะจัดกิจกรรมรณรงค์เช่นกัน โดยในปีนี้มีการจัดงานไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม ที่บริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนินนอก
ขณะเดียวกัน ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับ พอช. จัดมหกรรม “บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” (Housing For All : A better urban future) ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี น่าน ขอนแก่น และชุมพร เพื่อนำเสนอผลการงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยขบวนองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่าย ในภูมิภาคต่างๆ
โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1.รณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ให้สังคมได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
2.เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ระหว่างขบวนองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนเมือง ท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ให้รับรู้และเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยที่ต้องสร้างความมั่นคง ตั้งแต่ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในชุมชน ในเมืองของตนเอง
3.เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนเมือง ให้ลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักร่วมกับขบวนองคาพยพจากทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วม ฯลฯ
“บ้านมั่นคงตำบลห้วยขมิ้น” จ.สุพรรณบุรี : ซ่อมสร้าง 269 หลังและขยายผลสู่อำเภอต่างๆ
(นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่า ฯ สุพรรณบุรี (เสื้อดำแถวหน้า) ร่วมงานที่ตำบลห้วยขมิ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา)
พื้นที่จังหวัดภาคกลางและตะวันตก ในช่วงปี 2547 – 2563 พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งชุมชนเมืองและชนบท แบ่งเป็น 1.โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทรวม 13 จังหวัด 69 เมือง/ตำบล 108 โครงการ รวม 9,543 ครัวเรือน 2.โครงการบ้านพอเพียงชนบท (สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม ฐานะยากจน) 13 จังหวัด 448 ตำบล รวม 11,233 ครัวเรือน
จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการบ้านมั่นคงเมือง จำนวน 916 ครัวเรือน จาก 9 ชุมชน จำนวน 8 เมือง แบ่งเป็นโครงการบ้านมั่นคงชนบท จำนวน 587 ครัวเรือน รวม 20 ชุมชน/หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล และโครงการบ้านพอเพียงชนบท จำนวน 33 ตำบล รวม 728 ครัวเรือน
โดยมีกลไกการขับเคลื่อนงานทั้งในส่วนของชุมชนที่เดือดร้อน ขบวนองค์กรชุมชน และคณะทำงานการขับเคลื่อน นโยบายและแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัย และดำเนินการตามแผน พร้อมทั้งมีแผนขยายการแก้ไขปัญหา โดยการแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ ดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทั้งจังหวัด เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการจัดงาน ‘พิธียกเสาเอกบ้านหลังแรก โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ภาคกลางและตะวันตก ปี 2563’ ให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยและมีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในตำบลห้วยขมิ้น 1 หลังแรกจากทั้งหมด 269 ครัวเรือน โดยมีนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นประธานในพิธียกเสาเอกสร้างบ้าน
นายสมพร สาลีอ่อน ผู้ประสานงาน คณะทำงานบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น กล่าวว่า ตำบลห้วยขมิ้น มี16 หมู่บ้าน ประชากรจำนวน 9,337 คน รวม 2,394 ครัวเรือน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร และรับจ้างทั่วไป มีรายได้น้อย มีหนี้สิน ที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรม ครอบครัวอยู่กันอย่างแออัดแออัด ส่วนที่ดินเป็นที่ดินป่าไม้ ที่ดิน สปก. ที่ดินนิคมสร้างตนเอง และกรมชลประทาน ประชาชนครอบครองมานาน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
“จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน อบต.ห้วยขมิ้น และเครือข่ายที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยภาคกลางและตะวันตกจึงร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจัดตั้งคณะทำงานบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นขึ้นมาในช่วงกลางปี 2563 มีคณะกรรมการ 20 คน เริ่มตั้งแต่การสำรวจครัวเรือนที่เดือดร้อน อาชีพ รายได้ ต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่ เช่น แหล่งน้ำ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหา วางแผนการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ รวมทั้งจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นขึ้นมาเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนจาก พอช.” ผู้ประสานงานบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นเล่าถึงความเป็นมาของโครงการ
จากการสำรวจข้อมูลดังกล่าว พบชาวบ้านที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมใน 14 หมู่บ้าน รวม 269 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 2,325 ครัวเรือน) จึงเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนการซ่อมสร้างจาก พอช. และได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 7,767,031 บาท (ครัวเรือนละ 8,000-40,000 บาทตามสภาพที่ต้องซ่อมสร้าง) เริ่มซ่อมสร้างบ้านหลังแรกในวันที่ 19 ตุลาคม และจะทยอยซ่อมสร้างเสร็จทั้งหมด 269 หลังภายในช่วงต้นปี 2565 โดยมีทีมช่างชุมชนในตำบลจำนวน 14 คนร่วมสร้างบ้าน
นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ในจังหวัดสุพรรณบุรียังมีประชาชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวนมาก จึงจะนำโครงการที่ตำบลห้วยขมิ้นเป็นตัวอย่างและนำไปขยายในอำเภออื่นๆ ต่อไป โดยอยากฝากให้ พมจ.สุพรรณบุรีนำไปขยายผล เพราะเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่สำคัญ
“เมื่อมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว ต่อไปก็จะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น มีอาหารดี มีการศึกษา มีอนามัยถ้วนทั่ว มีรายได้ดี มีการประกอบอาชีพที่สุจริต มีจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยกันปลูกต้นไม้ จัดการขยะ จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และอยู่กันอย่างมีความสุข” ผู้ว่าฯ จ.สุพรรณบุรีกล่าว
วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือปี 2563 จังหวัดน่าน
“การจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพื่อคนทุกคน”
(พื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง เป็นป่าไม้และภูเขา จึงมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับเขตป่า)
17 จังหวัดในภาคเหนือมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยไม่ต่างไปจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขา ประชาชนตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยาน ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทับซ้อนกับที่ดินป่าไม้มายาวนาน แม้ว่ารัฐบาลในขณะนี้จะพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ขณะที่ภาคประชาชนก็มีความพยายามที่จะเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยยึดแนวทาง “คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้”
จากการประเมินศักยภาพของพื้นที่พบว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และจากการหารือแนวทางการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งภาคเมืองและชนบทที่ดำเนินการโดยขบวนองค์กรชุมชน พบว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐที่มุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน จึงไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้งเมืองและชนบทได้อย่างยั่งยืนได้ ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเองกับปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้จังหวัดน่านเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ ทั้งชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ผ่านมาทางเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดน่าน ร่วมกับหน่วยงานภาคีในจังหวัด สำรวจข้อมูลเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน (NAN SANDBOX) ระดับจังหวัด โดย พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกระบวนนำไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ดังนี้ 1. บ้านมั่นคงเมืองและชนบท 19 โครงการ 4 เมือง รวม 1,078 ครัวเรือน 2. บ้านพอเพียงชนบท 53 ตำบล รวม 527 ครัวเรือน
คณะทำงานฯ จึงได้เสนอพื้นที่เรียนรู้ในการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือที่จังหวัดน่าน ภายใต้หัวข้อ “การจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อคนทุกคน” โดยกำหนดการจัดงานในวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้ ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีเป้าหมายเพื่อ 1.สร้างความตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่อยู่อาศัยของพี่น้องคนจน 2.การประสานกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนที่มีความความเดือดร้อน
โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น จัดขบวนเดินรณรงค์เพื่อให้เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของคนจนในเมืองและชนบท โดยการยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ นิทรรศการมีชีวิต งานพัฒนามากกว่าคำว่าบ้าน แสดงพื้นที่รูปธรรม 10 พื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือ เวทีเสวนา พร้อมห้องเรียนรู้การใช้ที่ดิน (พื้นที่รูปธรรม) ฯลฯ
งานมหกรรมที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด ‘ขอนแก่นโมเดล’
(บ้านมั่นคงในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น ต้นแบบการพัฒนาทั้งเมือง)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 19 จังหวัด 84 เมือง 537 ชุมชน 28,912 ครัวเรือน เกิดรูปธรรมการดำเนินงานในหลากหลายพื้นที่ และมีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องได้รับการผลักดันให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ เพื่อสานต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการนำรูปธรรมที่ดำเนินการในพื้นที่มาแปรเป็นแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด และในระดับภาค
เฉพาะจังหวัดขอนแก่น มีรูปธรรมการดำเนินงานเต็มพื้นที่ สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย 1.โครงการบ้านมั่นคง ใน 10 เมือง 59 ชุมชน กว่า 5,700 ครัวเรือน 2.โครงการบ้านพอเพียงชนบท โดยดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ครัวเรือนยากจน กลุ่มคนเปราะบางที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในชุมชนมากกว่า 400 ครัวเรือน ใน 60 ตำบล พร้อมทั้งเกิดการประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนามากกว่า 10 องค์กร และ 3.แก้ปัญหาที่ดินทำกิน ใน 36 ตำบล
ส่วนการจัดมหกรรมที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2563 จะเน้นการนำเสนอเรื่องการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดภายใต้แนวคิด “การพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด ขอนแก่นโมเดล” โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 พฤศจิกายนนี้ บริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
ภายในงานจะมีนิทรรศการแสดงพื้นที่รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเมืองและชนบทของเครือข่ายบ้านมั่นคงภาคตะวันออกฉียงเหนือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง-ชนบท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง การจัดการภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟ งานพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ การจัดตั้งกองทุน ครัวชุมชนในช่วงสถานการณ์ Covid-19 การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์จังหวัดสู่ความยั่งยืน การประกาศแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย ระดับจังหวัด และระดับภาค ฯลฯ
งานมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ที่อำเภอท่าแซะ จ.ชุมพร
“ดินของทุกคน ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” Land for all : Strength communities”
(ที่ดิน ส.ป.ก.ที่ตำบลหงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร)
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ กำหนดจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่บริเวณแปลงที่ดิน ส.ป.ก เลขที่ 83 ตำบลหงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายนนี้ โดยใช้ชื่อการจัดงานว่า “ดินของทุกคน ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” หรือ Land for all : Strength communities
ทั้งนี้รัฐบาลในยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มีคำสั่งให้ยึดที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศคืนจากผู้ครอบครองที่ไม่ถูกต้อง คือไม่ได้เป็นเกษตรกรที่ยากไร้ แต่เป็นบุคคล บริษัทเอกชน หรือนายทุน โดยให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยึดที่ดิน แล้วนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีแต่ไม่พอเพียง ครอบครัวละ 5-6 ไร่ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯลฯ เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมอาชีพ การสร้างที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค ฯลฯ
บ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.
โดยแปลงที่ดิน ส.ป.ก.เลขที่ 83 ตำบลหงษ์เจริญ มีเนื้อที่ประมาณ 6,400 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ส.ป.ก.จึงนำมาจัดสรรให้เกษตรกร ต่อมามีบริษัทเอกชนเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านและเข้าครอบครองปลูกปาล์มน้ำมัน รัฐบาล คสช.จึงยึดที่ดินนำมาจัดสรรและแจกให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จำนวน 105 ครอบครัวๆ ละ 5 ไร่ โดยเกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด’ ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างบ้านตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ จำนวน 105 ครอบครัวๆ ละ 40,000 บาท (ส่วนที่เหลือเจ้าของบ้านจะต้องสมทบการก่อสร้างเอง) เริ่มก่อสร้างบ้านตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีชาวบ้านเข้าไปปลูกสร้างบ้านและเข้าอยู่อาศัยประมาณ 50 ครอบครัว ส่วนที่เหลือเข้าไปใช้ประโยชน์และและทำกินแล้ว เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว กล้วย มะละกอ กาแฟ ฯลฯ และมีแผนที่จะปลูกข้าวไร่เพื่อเป็นแหล่งอาหาร โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร สนับสนุนด้านความรู้ทางการเกษตร
นอกจากการสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช. จำนวน 105 ครอบครัวๆ ละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,200,000 บาทแล้ว พอช.ยังสนับสนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ด้านกายภาพ จำนวน 300,000 บาท งบพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จำนวน 165,000 บาท และงบพัฒนากระบวนการและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน จำนวน 175,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 4,840,000 บาท ขณะที่ชาวชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนที่อยู่อาศัย โดยการออมเงินเป็นรายเดือนปัจจุบันมีเงินออมทรัพย์และเงินกองทุนเพื่อที่อยูอาศัยจำนวน 132,250 บาท
(บ้านมั่นคงชนบทในที่ดิน ส.ป.ก.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร)
สำหรับการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่แปลงที่ดิน ส.ปก. ตำบลหงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท การออกแบบการใช้ที่ดินแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนทุกมิติ สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคีพัฒนาเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็ง หนุนเสริมการทำงาน พัฒนากลไกให้เกิดความเข้มแข็งระดับชุมชน ตำบล จังหวัด และภาค รวมทั้งเพื่อพัฒนานโยบายเรื่องการใช้ที่ดินที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจัดการตนเอง
ภาพรวมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในภาคใต้
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดภาคใต้โดย พอช.และภาคีเครือข่าย มีดังนี้ 1.โครงการบ้านมั่นคงภาคใต้ ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนพัฒนาตั้งแต่ปี 2546-2563 ครอบคลุม 14 จังหวัด จำนวน 90 เมือง 393 ชุมชน 27,465 ครัวเรือน งบประมาณ รวม 1,378 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านมั่นคงเมือง 83 เมือง 381 ชุมชน 26,121 ครัวเรือน งบประมาณรวม 1,322 ล้านบาท 2.โครงการบ้านมั่นคงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ทรุดโทรม มีฐานะยากจน) จำนวน 7 เมือง 12 ชุมชน 1,344 ครัวเรือน งบประมาณ 55 ล้านบาท
เฉพาะจังหวัดชุมพร มี 8 อำเภอ แบ่งเป็น 2 เทศบาลเมือง 25 เทศบาลตำบล และ 51 องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งสิ้น 78 ตำบล/เทศบาล พอช.ได้ดำเนินงานพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดชุมพร จำนวน 78 ตำบล/เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท โดยใช้กระบวนการสำรวจข้อมูลเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน/ผู้เดือดร้อน และสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการหาแนวทางแก้ไขปัญหาและมาแลกเปลี่ยนนำเสนอข้อมูลชุมชน เพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหา วางแผนการพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง และการพัฒนาร่วมกับท้องถิ่น
ตั้งแต่ปี 2547-2563 พอช.สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้วจำนวน จำนวน 16 โครงการ รวม 22 ชุมชน ผู้รับประโยชน์ 1,478 ครัวเรือน งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค รวมทั้งสิ้น 91 ล้านบาท และโครงการบ้านพอเพียงชนบท ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560-2563 จำนวนทั้งสิ้น 33 ตำบล ผู้รับประโยชน์ 978 ครัวเรือน งบประมาณรวม 17 ล้านบาท
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |