23 ต.ค.63- ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่ำวานนี้ (22 ต.ค.) ที่เพจคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการ "ก้าวหน้า ทอล์ก" พูดคุยถึง สถานการณ์ทางการเมือง การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน รวมถึงท่าทีล่าสุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พยายามอธิบายขอความร่วมมือให้ถอยคนละก้าว โดยนายปิยบุตร ระบุว่า ถ้าพิจารณา จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่ถอยคนละก้าว เพราะตั้งแต่ยึดอำนาจมาจนปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยถอย มีแต่รุกคืบกินแดนประชาธิปไตย กินแดนเพื่อรักษาอำนาจตนเองเข้ามาเรื่อยๆ และเวลามีการคัดค้าน ก็จะรักษาที่มั่น รักษาสถานะตนเองไว้แต่ไม่เคยถอย
ตัวอย่างเช่น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ มีการพูดตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อสืบทอดอำนาจสำเร็จ ลึกๆ ก็ไม่อยากแก้ แต่ก็ยอมเติมให้ 1 บรรทัดในนโยบายของรัฐบาล ให้มีการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่แก้ไข หลังจากนั้นมีเสียงเรียกร้องมากขึ้น ก็ใช้วิธีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา ทอดเวลาอีกหลายเดือน มีเสียงเรียกร้องอีก ก็ยอมให้ แต่เป็นการแก้ที่ซื้อเวลา เพราะกว่าจะมี สสร. กว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลนี้คงอยู่อีกนานจนครบวาระ นี่ยังไม่นับหากสามารถยึด สสร. ได้ แล้วตอนนี้ก็มาตั้ง กมธ. พิจารณาก่อนรับหลักการ อย่างนี้แสดงว่าไม่เคยมีความจริงจังหรือจริงใจเลย
"ยังมีเรื่องการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่มีทั่วประเทศ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เทคนิคเดิมซ้ำซาก นั่นคือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ กำจัดเสรีภาพการชุมนุม ไม่ให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น และพอมีการชุมนุมเสร็จแล้วตั้งข้อหา ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.การชุมนุม พ.ร.บ.ความสะอาด หรือเรื่องกีดขวางจราจร อีกสารพัด เป็นการตั้งข้อหาเยอะๆ และออกหมายจับทิ้งไว้ก่อน แล้วค่อยเลือกจับ ซึ่งโดยมากก็ไปจับตอนกลางคืน ให้สายสืบนอกเครื่องแบบไปจับ ไม่ยอมจับซึ่งหน้า นี่คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ และพอจับแล้วก็ไม่ให้ประกัน และถึงได้ประกัน พอมีปล่อยตัว ก็มีหมายจับจากพื้นที่อื่นมาอายัดตัวไป การจับๆ ปล่อยๆ แบบนี้คือกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้ชุมนุมอ่อนแรง ซึ่งอย่างนี้ไม่เรียกการถอยอย่างแน่นอน" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ยังมีกรณีหนังสือ ถึงประธานรัฐสภาเพื่อขอให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งถ้าปิดชื่อหัวหนังสือ 3 ข้อที่ระบุไปนั้น อ่านแล้วนึกว่านี่คือประกาศคณะรัฐประหาร หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวโทษผู้เยาวชนผู้ชุมนุมเต็มไปหมด ซึ่งถ้าผู้ชุมนุมได้อ่าน คิดว่าพวกเขาจะคาดหวังการเปิดสภาพูดคุยเรื่องอะไร ซึ่งตนได้ข่าวมาว่า ส.ส. ฝั่งรัฐบาล และ ส.ว. เตรียมใช้เวทีประชุมสภาวิสามัญนี้ ในการถล่มม็อบนักเรียนนิสิตนักศึกษา และเผลอๆ อาจลามมาถล่ม ส.ส. ก้าวไกล พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และตนเองด้วย ซึ่งถ้าเปิดสภาคุยกันมีแต่เรื่องว่า นักเรียนนักศึกษาไม่มีความคิด ถูกปลุกปั่น มีผู้อยู่เบื้องหลัง จาบจ้วง ฯลฯ ถ้าออกมาลูกนี้คงดูไม่จืดแน่ เพราะแทนที่จะเปิดสภาเพื่อหาทางออก จะเป็นการเปิดประชุมสภาที่เอาน้ำมันสาดเข้ากองไฟ ดังนั้น ถ้า ส.ส. รัฐบาล หรือ ส.ว. คิดแบบนี้ โปรดอย่าทำ เพราะทำเมื่อไหร่เดือดแน่นอน จนคุณควบคุมไม่ได้ ตนหวังว่าการเปิดสภาจะเป็นการช่วยหาทางออก ไม่ใช่ถล่มขบวนการนิสิตนักศึกษา
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า กรณีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ซึ่งขณะเดียวกันมีอีกฝ่ายออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ลองพิจารณาว่า คำว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตรงไหนเป็นประโยคหลัก ตรงไหนเป็นอนุประโยค ซึ่งถ้าตามนี้ก็ต้องเอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง และประมุขของรัฐคือกษัตริย์ ที่ต้องจัดวางตำแหน่งให้ที่ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ซึ่งในรัฐธรรมนูญ หมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อยู่ในหมวด 2 เป็นองค์กร สถาบันตามรัฐธรรมนูญ นี่คือความหมายว่าพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น
ดังนั้น ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้เสมอ เช่นเดียวกับรัฐสภา ที่ถกเถียงออกแบบกันจะเอาสภาเดี่ยวสภาคู่ หรือศาลว่าจะเอาอย่างไรปฏิรูปอย่างไรก็ต้องถกเถียงเช่นกัน เวลาเราพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปต่างๆ เป็นเรื่องปกติที่จะมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือเหนือกาลเวลา เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ปัจจุบัน สังคมกำลังยกเว้นให้กับพระมหากษัตริย์มากเกินไป จนคลุมไปทุกเรื่อง
"ตำแหน่งประมุขของรัฐต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น แต่ละตำแหน่งมีเอกสิทธิ์ อำนาจหน้าที่ ตามแต่ระบบอการปกครองจะให้ เช่น ประมุขของรัฐ ในช่วงดำรงตำแหน่งจะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี มีบ้านที่พักอาศัย มีคนติดตาม มีขบวนรถ มีพิธีกรรม พิธีการ ฯลฯ นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญมอบให้กับประมุขของรัฐ สร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐ และก็มีข้อยกเว้นได้ที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นก็กินแดนเข้ามาในประชาธิปไตย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่ตามประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปตามเวลา นั่นคือไม่มีใครยอมให้ใครสืบทอดอำนาจตามสายโลหิตในรัฐ แต่เมื่อยังหลงเหลืออยู่ก็ต้องปรับตัวให้อยู่ได้ โดยออกแบบให้เป็นประมุขและจำกัดเรื่องพระราชอำนาจ ข้อยกเว้นที่มีให้ก็ต้องพอสมควร ไม่ใช่มากเกินไป ดังนั้น ประมุขของรัฐต้องดำรงอย่างมีเกียรติด้วยตามที่ระบอบประชาธิปไตยให้ไป ซึ่งวันนี้ต้องถามว่า ตกลงแล้ว เราสร้างข้อยกเว้นให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมากเกินไปหรือไม่ ถ้าใช่ จะลดลงมาหรือไม่" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า วันนี้เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาวางอยู่บนโต๊ะ พูดกันบนท้องถนนแล้ว คำถามคือรัฐบาลจะจัดการอย่างไร ซึ่งก็มี 2 วิธี คือ 1. ใช้ความรุนแรง ลงโทษ อุ้มฆ่า ฯลฯ แล้วหวังว่าคนจะกลัว กับ 2. ยอมรับว่ามีคนเรียกร้องเรื่องนี้ มีคนตั้งคำถามเรื่องนี้ ดังนั้น สร้างพื้นที่ในการพูดคุย ออกแบบว่าสังคมไทยจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างไรให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ซึ่งในความเห็นตนนั้น เห็นว่าต้องใช้วิธีแบบหลัง เพราะแบบแรกไม่มีทางปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้
และวันนี้ กลุ่มคนปกป้องสถาบันกษัตริย์ที่ทำๆ กันอยู่นั้น ไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์เลย การใช้วิธีเกณฑ์คนมา จัดคนมาประจัญหน้ากัน ถามว่าทำแบบนี้จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์หันมารักได้เหรอ ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม มีคนไทยอายุน้อยๆ รุ่นหนึ่งที่มีความคิดไม่เหมือนกับคนรุ่นอาวุโส หรืออนุรักษ์นิยม คุณปราบไม่หมดแน่นอน และคนรุ่นนี้คือคนที่จะอยู่ในสังคมอีกนาน ขณะที่ผู้อาวุโสมีแต่จะหมดไป
"ดังนั้น ผมอยากเชิญชวนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยังมีสติ มีเหตุมีผลอยู่บ้างช่วยกันพูดเรื่องนี้ เพื่อเราจะได้ควบคุม คาดการณ์ คาดหมายสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ สถาบันกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในโลกเหลือไม่มากแล้ว เราต้องตั้งคำถามว่าจะเอาแบบไหน ถ้าเลือก ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ต้องออกแบบเป็น ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และสิ่งที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาพยายามเรียกร้องนั้น ไม่ใช่มากเกินไป ไม่ใช่เรื่องทะลุเพดาน ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหรือทำไม่ได้ เพราะเขาเรียกร้องประเทศไทยปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่ปรับข้อยกเว้นลงมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการอยู่รวมกัน ตอนนี้ศตวรรษที่ 21 แล้ว การรักษาสถาบันกษัตริย์ดีที่สุดคือประชาธิปไตย เผด็จการอำนาจนิยมไม่มีทางรักษาได้ ทำได้แต่เพียงอ้างตัวเองเพื่อให้ได้ประโยชน์ ทำได้แต่เพียงประคับประคองเท่านั้น แต่คลื่นลมความเปลี่ยนแปลงจะทำลาย มีแต่เพียงประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ เว้นเสียแต่ว่าคุณไม่ต้องการให้ประชาธิปไตย แต่ต้องการให้เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ " นายปิยบุตร กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |