'ปิยบุตร' ชี้ปกป้องสถาบันในยุคนี้ต้องเปิดพื้นที่พูดคุย ไม่ใช่เกณฑ์คนไปรุมทำร้ายฝ่ายตรงข้าม


เพิ่มเพื่อน    

22 ต.ค.63 - เวลา 13.00 น. ณ ห้องริมน้ำ 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเริ่มเวทีเสวนา “ประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และในฝรั่งเศสกับในไทย” นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีการชุมนุมของประชาชนและแถลงการณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ปฏิกิริยาของนายกรัฐมนตรีน้อยเกินไปและสายเกินไปทุกครั้ง ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมามีเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ท่านก็ไม่สนใจ เอาไปเขียนในนโยบายรัฐบาลหนึ่งบรรทัด พอมีเสียงเรียกร้องขึ้นอีก ก็ไปตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เวลาเป็นปีแทน ต่อมาเมื่อกระแสเรียกร้องมากขึ้นอีกก็ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญในแบบที่ท่านได้ประโยชน์ เพื่อซื้อเวลาต่อไป จนมาถึงในวาระหนึ่งก็ยังไม่ยอมโหวต ดึงดันให้ตั้ง กมธ. ศึกษาต่ออีกรอบ ถ้าหากมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ก็ต้องทำทันที ไม่ใช่ยื่อเวลาแบบนี้ เวลานายกฯบอกว่าทำตามข้อเสนอแล้ว นั่นเป็นเพียงการทำเพียง 1/4 ทำน้อยไป และทำช้าไป

นายปิยบุตร กล่าวว่า หากรัฐสภา รัฐบาล สถาบันการเมืองในระบบมีความจริงใจในการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องไปอยู่บนท้องถนน ทุกวันนี้ที่ประท้วงกัน ก็เพราะประชาชนเรียกร้องกันมาเป็นปี แต่การเมืองในระบบไม่เคยตอบสนองข้อเรียกร้องของเขาเลย จึงเป็นธรรมดาที่ต้องหันไปใช้เสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุมสาธารณะ

“ยกตัวอย่าง ข้อเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ข้อนี้สามารถทำได้เลย การแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา Too little, Too late คือ น้อยเกินไปและช้าเกินไป หากพลเอกประยุทธ์ลาออกก่อน บรรยากาศจะดีขึ้นเยอะ แคนดิเดตนายกฯ ยังมีอีกหลายคน ในสภาการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ในวาระหนึ่ง รีบนำมาโหวตให้ผ่านได้เลย การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก็นำมาอภิปรายกันอย่างมีวุฒิภาวะ ถ้อยทีถ้อยอาศัย  เข้าอกเข้าใจ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่างในสภาผู้แทนราษฎร สถาบันการเมืองในระบบยังทำงานได้อยู่หากมีความจริงใจในการแก้ปัญหา” นายปิยบุตร กล่าว

ถามว่า หากนายกฯ ลาออกจะทำให้รัฐบาลพ้นไปทั้งคณะอาจกระทบต่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่ได้ เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การลาออกของนายกรัฐมนตรี ต้องเอาความตั้งใจมานำ อย่าเอาเทคนิคกระบวนการมานำ ไม่อย่างนั้นจะเอาเทคนิคกระบวนการมาเป็นข้ออ้างทำลายความตั้งใจเสมอ สมมติหากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญในสภาจะพังหมดเพราะนายกรัฐมนตรีลาออกก็ไม่เห็นเป็นอะไร หากมีความตั้งใจที่จะแก้จริง รัฐบาลใหมก็รีบผลักดันเข้าไปได้อีก มันอยู่ที่เจตจำนง ถ้าเจตจำนงจะทำจริงๆ เทคนิคกระบวนการทุกอย่างทำได้หมด

นายปิยบุตร ชี้ว่า การที่พลเอกประยุทธ์บอกว่ายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เป็นการถอย ปัญหาคือไม่ควรจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ ผู้ที่ติดตามการชุมนุมมาโดยตลอดต้องยอมรับว่าแกนนำการชุมนุมมีทักษะบริหารจัดการชุมนุมได้ดี ไม่มีการปะทะ หากไม่อยากให้มีการชุมนุมบนท้องถนน การเมืองในระบบต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน เขาตะโกน พูดแสดงออกอะไร หากเห็นแล้วขัดเคือง ระคายหู ไม่สบายใจ ก็ต้องสร้างเวทีปลอดภัยให้พูดในสภาฯ แต่นี่กลับไปจับแกนนำหมด ดำเนินคดีหมด ก็ยิ่งไม่พอใจ ยิ่งเดือดกันใหญ่ ตนอยากให้ฝ่ายที่มีอำนาจลองกลับไปทบทวนดูว่าในที่สุดจะเอาอย่างไร อยากให้รัฐบาลแสดงออกซึ่งความจริงใจในสัปดาห์หน้า ยังพอมีโอกาสอยู่

“ผมไม่รู้ว่าท่านจะอยู่อีกนานไปเพื่ออะไร ท่านอยู่มาแล้ว 6 ปี ท่านต้องยอมรับว่าท่านเป็นตลอดชีวิตไม่ได้ ท่านเป็นนายกฯ ยาว 20 ปีตามภาพฝันของท่านไม่ได้ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลก็มีเยอะ แคนดิเดตของพรรคฝ่ายค้านก็มีอยู่ พลเอกประยุทธ์ต้องออกไปก่อน สร้างรัฐบาลใหม่ว่ากันตามกระบวนการที่มีอยู่ เพื่อมาเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบปกติ มาแก้รัฐธรรมนูญให้จบ แล้วออกไป กลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่หากมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังพลเอกประยุทธ์ลาออก คนที่เข้ามาต่อจากพลเอกประยุทธ์ ต้องตระหนักตั้งแต่วันแรกว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่เข้ามาเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบอบประยุทธ์ไปสู่ระบอบปกติเท่านั้น จากนั้นต้องกลับไปสู่สนามการเลือกตั้งเพื่อแข่งขันกันใหม่”

ส่วนการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกสถานการณ์การเมืองในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ นายปิยบุตร มองว่า อยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีความจริงใจกับข้อเรียกร้องของประชาชนแค่ไหน คือ เปิดสภามาเพื่อแก้ไขปัญหาจริงๆ หรือเปิดสภามาเพื่อช่วยนายกรัฐมนตรีในการลดกระแสการชุมนุม ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องตอบประเด็นนี้ให้ชัด

“หากต้องการแก้ไขปัญหา ท่านต้องเอาข้อเรียกร้องของการชุมนุมทั้ง 3 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากตำแหน่งของนายกฯ การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปพูดในสภาทั้งหมด แต่ถ้าเปิดสภาไปแล้ว ปล่อยให้ ส.ส. จากฝั่งรัฐบาล และ ส.ว. มานั่งถล่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน ถ้าทำกันแบบนี้จะไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการเทน้ำมันบนกองไฟอีก ต้องไม่ลืมว่าเดือนที่แล้วตอนโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระหนึ่ง ก็ทำแบบนี้กันไปแล้วครั้งหนึ่ง อย่าทำให้พี่น้องประชาชนเสื่อมศรัทธากับรัฐสภาไทยไปมากกว่านี้” นายปิยบุตร กล่าว

เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าประเด็นปัญหาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกยกขึ้นมาพูดโดยผู้ชุมนุม นิสิต นักศึกษา และเป็นปัญหาของการเมืองไทย ดังนั้นมีวิธีแก้อยู่ 2 วิธี วิธีที่หนึ่งคือยอมรับข้อเท็จจริงแล้วนำมาหาทางออก วิธีที่สองคือทำไม่รู้ ไม่เห็น ไม่พูดถึง ฆ่า จับ ปราบ เพื่อให้เขาหยุดพูด

“ผมคิดว่าคนทั่วไปมองออกว่าวิธีที่สองไม่ได้ผล หากดึงดันที่จะใช้วิธีที่สองต่อไป ผมกังวลว่าจะยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากจะมีทัศนคติในแง่ลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ เขาแสดงออกได้หรือไม่ ไม่รู้ แต่หากจะจัดการกับพวกเขาแบบนี้ ต่อไปๆ เขาจะมีทัศนคติแง่ลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน ต้องยอมรับความเป็นจริงแล้วนั่งคุยกัน นี่คือวิธีเดียวที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้ในศตวรรษที่ 21 วิธีการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการเกณฑ์มวลชนมาใส่เสื้อสีเดียวกันหมด ไปแสดงกิริยาอาการรุมทำร้ายอย่างเมื่อวานที่เกิดขึ้นที่รามคำแหง ท่านคิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะได้ความนิยมชมชอบเพิ่มขึ้นหรือ? นี่หรือวิธีการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์? บางคนบอกว่าไม่เป็นไรจะขอปกป้องในรุ่นของตนเอง แต่การพูดแบบนี้ถือว่าเห็นแก่ตัว เพราะการจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ตลอดในประเทศไทยมีแต่วิธีการเสรีภาพ ใช้ประชาธิปไตย ความอดทนอดกลั้น ทำความเข้าใจกับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น” นายปิยบุตร กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"