"บิ๊กตู่" ปักหลักสู้ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ถอยคนละก้าวก่อนชาติหายนะ เอาปัญหาข้อขัดแย้งเข้าไปคุยในสภา เพราะใช้ไม้แข็ง วิกฤติไม่จบ วอนช่วยกันรักษาบาดแผลให้ทุเลาลง เผยจ่อยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ลั่นไม่บริหารประเทศตามเสียงประท้วง
ความคิดเห็นและความเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อกรณีการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้ โดยเฉพาะหลังรัฐบาลใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้
โดยเมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อ่านแถลงการณ์ในช่วงเย็น เรื่อง “ถอยคนละก้าว เข้าสภา ใช้สติและปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน”
มีเนื้อหาโดยสรุปว่า "พี่น้องประชาชนคนไทยที่รักทุกท่านครับวันนี้ ผมมาพูดกับทุกท่าน เป็นช่วงเวลาที่ผมหวังว่า ในอนาคต เมื่อเรามองย้อนกลับมาที่ช่วงเวลานี้ เราจะสามารถพูดได้ว่า นี่คือช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง สละความรู้สึกส่วนตัว และความต้องการส่วนตัวบางอย่าง เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศ หน้าที่ของผมในฐานะผู้นำประเทศ คือผมต้องดูแลทุกคนในประเทศไทย ผมต้องพยายามรักษาสมดุล ระหว่างมุมมองความคิด และความต้องการต่างๆ ที่แตกต่างกันในสังคม และบางอย่างก็แตกต่างกันเป็นอย่างมาก นั่นเพื่อที่จะทำให้คนไทยทุกคน สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน ประเทศเดียวกัน และอยู่ร่วมกัน บนผืนแผ่นดินเดียวกันได้ แผ่นดินของพวกเราทุกคน ที่ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นไปทางไหน ผมเชื่อว่าทุกคน รักผืนแผ่นดินนี้ด้วยกันทั้งสิ้น"
พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "อีกหน้าที่ของผมในฐานะผู้นำประเทศ ผมต้องทำให้แน่ใจว่าบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของแต่ละคน ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า และผมต้องปกป้องประเทศจากพลังมืด ที่ไม่ว่าจะมาจากที่ไหนก็ตาม ไม่ให้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยของเรา ผมต้องทำให้แน่ใจว่าประเทศไทยยังคงมีความยุติธรรมในสังคม มีความเท่าเทียมกันของคนไทยทุกคน ที่อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ทุกสิ่งที่ผมทำ ผมคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศเสมอ คนส่วนใหญ่ที่นิ่งเงียบ ที่กำลังพยายามทำมาหากินอย่างหนัก หาเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว ผมต้องบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้ละเลยที่จะดูแลประชาชนคนอื่นๆ ของประเทศด้วย ผมต้องบริหารประเทศบนพื้นฐานหลักการตามกฎหมาย และตามแนวทางและการตัดสินใจจากรัฐสภา ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนไทย นั่นคือระบบรัฐสภาที่เราต้องเคารพ"
"เราไม่สามารถบริหารประเทศตามเสียงประท้วงหรือความต้องการของผู้ประท้วงกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มประท้วงได้ แม้ผมจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ผมได้ยินเสียงความต้องการของผู้ประท้วงก็ตาม" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วงจรที่เราเคยเห็นกันมาตลอดว่า ไม่ว่าฝ่ายไหนมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ก็จะต้องเจอกับม็อบอีกฝ่ายเสมอ และในที่สุด การบริหารประเทศก็ทำไม่ได้ และประเทศก็ไหลลงไปสู่ทางที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายและหายนะพวกเราทุกคนต้องช่วยกันทำลายวงจรนี้ พวกเราต้องร่วมทำด้วยกัน
"ในเวลานี้ เราต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหว เส้นทางที่จะพาประเทศไทยของเราค่อยๆ ตกลงไปสู่หายนะ และสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจะเริ่มเกิดขึ้นมากขึ้นๆ การใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ก็จะยิ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ร้อนมากยิ่งขึ้น และการใช้ความรุนแรง จะยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงที่มากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้สอนเรามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งตอนจบของทุกครั้งก็คือความเสียหายที่ทิ้งไว้กับประเทศ
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นคนไทย ก็คือสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย ที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมและคุณค่าของความเป็นไทยมายาวนานหลายร้อยปี ถ้าหากเราทำลายมรดกที่มีค่าจากบรรพบุรษ เราก็จะสูญเสียสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเป็นคนไทย และเป็นประเทศที่พิเศษประเทศหนึ่งของโลก" นายกรัฐมนตรีย้ำ
นายกฯ ยันม็อบใช้คีมเหล็ก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เราได้เห็นเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่มีใครอยากเห็นว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย เราได้เห็นการกระทำที่น่าหดหู่ใจอย่างมากที่เกิดขึ้นกับตำรวจ มีการทุบตีทำร้ายตำรวจด้วยคีมเหล็กขนาดใหญ่ และพฤติกรรมรุนแรงอีกหลายอย่างต่อเจ้าหน้าที่ เป็นการตั้งใจทำร้ายคนไทยด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามองให้ลึกลงไปกว่านั้น แม้เราจะเห็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีเจตนาร้าย และปฏิบัติตัวไม่ดีอย่างรุนแรง แต่เวลาเดียวกัน เราก็เห็นว่ายังมีคนอีกมากมายที่แม้ว่าจะกำลังทำผิดกฎหมาย แต่ก็ปฏิบัติตนด้วยความสงบ มีเจตนาดีที่ต้องการขอความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และมีความจริงใจที่อยากจะเห็นประเทศดีขึ้น เรามองเห็นคนกลุ่มนี้ด้วย
เราจะไม่สามารถได้มาซึ่งสังคมแบบที่เราต้องการ ด้วยการใช้คีมเหล็กขนาดใหญ่ตีใส่กัน หรือด้วยการทำลายเศรษฐกิจ การหาเลี้ยงปากท้องของคนไทยด้วยกัน หรือด้วยการโจมตีสถาบันอันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของคนไทย ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถได้มาซึ่งสังคมแบบที่เราต้องการ ด้วยการขอคืนพื้นที่ ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงด้วยเช่นเดียวกัน รัฐบาลพยายามผ่อนปรน หลีกเลี่ยง มีการประกาศให้ทราบก่อนทุกครั้ง ตามมาตรฐานสากล เราจะทำให้เกิดสังคมแบบที่เราต้องการได้ ด้วยการพูดคุยกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน พร้อมรับฟังและเข้าใจกัน และพร้อมที่จะประนีประนอม
"วิธีเดียวที่เราจะได้ทางออกของปัญหา ที่จะยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ทั้งสำหรับประชาชนที่ออกมาอยู่บนท้องถนน และสำหรับประชาชนอีกหลายสิบล้านคนที่ไม่ได้ออกมา คือผมรู้ว่าเส้นทางนี้อาจจะต้องใช้เวลา และอาจจะไม่รวดเร็วทันใจ แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่จะไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ซึ่งเราต้องแสดงความใจเย็น และความเป็นผู้ใหญ่ในตัวของเราทุกคนออกมา กล้าที่จะเดินในเส้นทางสายกลาง
หากผู้ประท้วงคิดว่าจะทำให้สิ่งที่ต้องการเกิดขึ้นได้ โดยการออกมาบนท้องถนน พวกเขาอาจจะชนะ และสามารถก้าวข้ามหัวรัฐสภาได้สำเร็จ หรือพวกเขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ก็เป็นไปได้ ตัวอย่างมีให้เราเห็นมาแล้วว่าเกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หรือฝ่ายรัฐ ถ้าหวังว่าปัญหาต่างๆ จะหายไปได้ ด้วยการเพียงอย่างเดียว รัฐอาจจะประสบความสำเร็จตามนั้น หรืออาจจะไม่สำเร็จก็ได้ เกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง ประวัติศาสตร์มีตัวอย่างให้เราเห็นมาแล้วเช่นเดียวกัน" นายกรัฐมนตรีกล่าว
เรียกร้องหันหน้าคุยแก้ปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีวิธีเดียวที่เราจะก้าวผ่านปัญหาไปได้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่าต้องเกิดขึ้นจากการพูดคุยกัน จากการเคารพกระบวนการของกฎหมาย และจากการมองเห็นความต้องการของประชาชนที่แสดงออกมา ผ่านทางกระบวนการรัฐสภา นี่คือวิธีการเดียวผู้ประท้วงได้แสดงความคิดของเขาแล้ว เสียงและความคิดของพวกเขา ถูกได้ยินโดยทุกฝ่ายและทุกคนเป็นที่เรียบร้อย
"ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะนำความคิดและความต้องการของผู้ประท้วงมาพิจารณาร่วมกับความต้องการของประชาชนส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย หาเส้นทางที่เหมาะสมและเห็นชอบร่วมกันส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการในระบบรัฐสภา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปิดประชุมวิสามัญ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาแล้ว คาดว่าจะเปิดประชุมสภาได้ประมาณวันจันทร์ที่ 26 และวันอังคารที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้
ในฐานะผู้นำประเทศที่ต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพที่ดีของประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประท้วง หรือจะเป็นประชาชนที่นิ่งเงียบ ไม่ว่าเขาจะมีความคิดความรู้สึกแบบไหนก็ตาม วันนี้ ผมจะเป็นคนที่เริ่มก้าวแรก เพื่อที่จะลดอุณหภูมิความรุนแรง"
พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "กำลังเตรียมที่จะยกเลิก พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ เร็วๆ นี้ ยกเว้นหากมีสถานการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น ในเวลาเดียวกัน ผมก็ขอให้ผู้ประท้วง แสดงความจริงใจในเจตนาดีของท่านที่มีต่อประเทศดังที่ท่านพูด โดยการเคารพกฎหมาย เคารพระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ขอให้ท่านแสดงความคิดความต้องการผ่านผู้แทนราษฎรของท่าน ซึ่งมีขั้นตอน กำหนดเวลา ไปตามลำดับ"
"ผมขอพวกท่านด้วยความจริงใจของผม เมื่อผมยอมก้าวไปในแนวทางนี้ ผมก็ขอให้พวกท่านก้าวไปในแนวทางเดียวกันด้วย และลดระดับเสียงของการสาดถ้อยคำที่สร้างความแตกแยกและเกลียดชังในสังคม สร้างความเจ็บปวดให้กับคนในสังคม ผมขอให้ทุกคนร่วมใจกัน ทำให้เมฆดำที่กำลังเคลื่อนมาปกคลุมประเทศไทยของเราให้หายไป"
นายกฯ กล่าวว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ เรายังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เร่งด่วน นั่นคือการช่วยกันบรรเทาปัญหาปากท้อง ที่ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องเดือดร้อน จากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิดทั่วโลก และในเวลาเดียวกัน ภารกิจที่ต้องเริ่มทำคู่ขนานกันไป ก็คือ เราต้องนำเอาประเด็นต่างๆ ที่ถูกพูดถึงว่าควรได้รับการแก้ไข เพื่อผลดีในระยะยาวของประเทศ มาเริ่มพูดคุยกัน
"เราต้องรักษาบาดแผลให้ทุเลาลง ก่อนที่มันจะบาดลึกมากไปกว่านี้" นายกรัฐมนตรีระบุ
โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงเช้า ที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เขตคลองสาน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลและทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 120 ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทั้งนี้ ก่อนกลับได้มีประชาชนในชุมชนใกล้เคียง ได้สวมเสื้อสีเหลืองมารอให้กำลังใจนายกฯ โดยยกนิ้วโป้ง และพร้อมใจกันตะโกนว่า “นายกฯ สู้ๆ”
สภาพร้อมเปิดวิสามัญ 26-27 ต.ค.
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-27 ต.ค.ว่า ขั้นตอนการบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยเป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อหาทางออกปัญหาการชุมนุมการเมือง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้กำหนดประเด็นในการอภิปรายตามมาตรา 165 เพราะเป็นผู้เสนอขอเปิดสมัยวิสามัญ และจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถบรรจุระเบียบวาระได้ เนื่องจากต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมก่อน ซึ่งสมมติว่ากรอบเวลาระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. ตามข่าวก็ต้องเตรียมการไว้ โดยในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จะมีการหารือร่วมกัน 4 ฝ่าย เพื่อกำหนดเวลาให้แต่ละฝ่ายได้อภิปรายอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ แต่จะต้องอยู่ในประเด็นที่รัฐบาลกำหนดไว้
เมื่อถามว่า กรอบเวลาการอภิปรายจะเพียงพอสำหรับการร่วมหาทางออกของปัญหาหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ใช้เวลาเท่าที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และเคยแจ้งสมาชิกรัฐสภาไปแล้ว ขอให้ช่วยกันให้ความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อให้ปัญหาทุเลาลง ซึ่งทุกคนต่างห่วงใยบ้านเมือง อย่าไปสร้างอะไรที่ซ้ำเติมสถานการณ์
“ในการประชุมนอกรอบที่ผ่านมา มีสมาชิกบางคนที่ไม่เห็นด้วยในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ โดยบอกว่าเปิดแล้วไม่มีประโยชน์อย่างดีก็แค่ด่ากัน ประชาชนก็เบื่อหน่าย ผมจึงบอกสมาชิกว่าอย่างนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนั้น ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เปิดสภาเพื่อไม่ไว้วางใจหรือด่ากัน” นายชวนกล่าว
นายชวนกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยก็ไม่จำเป็นต้องขอกำลังตำรวจหรือทหารเพิ่มเติม เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรง เพราะสภาเปิดกว้างให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาทำกิจกรรมได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงและปราศจากอาวุธ
ในช่วงค่ำ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ สมควรที่จะเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.63.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |