เนื้อหาการเยือนไทยของ 'หวัง อี้' ในสถานการณ์เผชิญหน้าสหรัฐฯ


เพิ่มเพื่อน    

 

       การมาเยือนไทยของหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเมื่อสัปดาห์ก่อน มีประเด็นน่าสนใจหลายข้อ...โดยเฉพาะในแง่ "ภูมิรัฐศาสตร์"

            ทุกความเคลื่อนไหวของจีนกับสหรัฐฯ ในช่วงนี้ (และหลังวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในต้นเดือนหน้า) ถูกจับตาว่าเป็นความพยายามสร้างพันธมิตรในย่านนี้เพื่อลดทอนอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน

            การมาเยือนไทยของหวัง อี้เมื่อช่วง 14-15 ตุลาคมที่ผ่านมา ในฐานะแขกของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยถือเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกที่เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในไทยเริ่มซาลง

            ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความเป็น "หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดและรอบด้าน บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน"

            เป็นการเน้นความร่วมมือ "เชิงยุทธศาสตร์" ที่ "ใกล้ชิดและรอบด้าน"

            ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเมืองหรือเศรษฐกิจเท่านั้น

            มีการตกลงกันระหว่างสองรัฐมนตรีในการเร่งรัดการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือช่องทางพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางในระยะสั้นให้แก่กลุ่มนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นของทั้งสองประเทศ

            ซึ่งจะนำร่องสู่การเปิดภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไป การพิจารณาจัดทำ "ช่องทางสีเขียว" เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าระหว่างกัน

            อีกทั้งยังพูดถึงการอำนวยความสะดวกให้นักเรียนและนักศึกษาไทยสามารถเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีนได้

            และพูดถึงการพิจารณาให้สายการบินของทั้งสองประเทศกลับมาทำการบินพาณิชย์ในเส้นทางไทยกับจีน

            นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19

            ไทยได้รับคำมั่นจากหวัง อี้ ว่าจีนจะจัดให้ไทยเป็น "กลุ่มประเทศแรกๆ" ที่จะเข้าถึงการจัดหาวัคซีนในโอกาสแรกที่จีนพัฒนาได้สำเร็จตามความต้องการของฝ่ายไทย พร้อมยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัคซีน

            คุณดอนแสดงความชื่นชมจีนที่ได้ประกาศให้การผลิตวัคซีนต้านโรคโควิดเป็น "สินค้าสาธารณะของโลก" ที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้ในราคาสมเหตุสมผล

            ขณะเดียวกันก็สนับสนุนข้อริเริ่ม "เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข" ของจีนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขในภูมิภาค

            ในคำแถลงข่าวหลังการพบปะนั้น ทั้งสองฝ่ายยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจของไทยและจีน รวมถึงภูมิภาคจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด

            และเห็นชอบที่จะเร่งดำเนินการตามผลการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมปีนี้ให้มีผลเป็นรูปธรรม

            เช่นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน

            ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

            การขจัดความยากจน

            และการใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างยั่งยืน

            ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน การเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย (Eastern  Economic Corridor - EEC) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao  Greater Bay Area-GBA) ซึ่งจะสนับสนุนข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI)  ของจีน

            และรวมทั้งการลงทุนใน EEC ที่จะพัฒนาเป็นจุดศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียผ่าน "โครงการสะพานไทย" หรือ Landbridge ข้ามอ่าวไทยที่รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่

            หวัง อี้ได้พูดถึงโครงการเชื่อมต่อสามสนามบินและเมืองอัจฉริยะใน EEC ว่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับความร่วมมือให้แก่ภูมิภาคด้วย

            ที่ไม่มีรายละเอียดแต่เป็นหัวข้อที่น่าจับตามากคือ ที่ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน

            เช่นสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

            ประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

            ตลอดจนการส่งเสริมพหุภาคีนิยมและระบบระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง

            ผมไม่รู้ว่าคุณดอนกับหวัง อี้ได้คุยกันเป็นการส่วนตัวหรือไม่เรื่องการที่สหรัฐฯ ประกาศว่าจีนเป็นศัตรูอย่างโจ่งแจ้ง และผลที่ตามมาสำหรับการเมืองระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร

            แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่า คุณดอนคงจะได้อธิบายให้หวัง อี้ได้เข้าใจมุมมองของรัฐบาลประยุทธ์เกี่ยวกับการประท้วงของนักศึกษาไทย

            เพราะนายกฯ ไทยเกือบจะต้องย้ายที่ต้อนรับอาคันตุกะจากปักกิ่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมจากทำเนียบรัฐบาลไปที่อื่น หากไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อเคลียร์พื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเช้าวันนั้นเสียก่อน!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"