'สื่อโซเชียล-การเมือง'พลิกตำรานักการตลาดโจทย์ใหญ่พิสูจน์การสื่อสารยุคดราม่า


เพิ่มเพื่อน    

 

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง(ทรานฟอร์ม)หลายอย่างในภาคของธุรกิจ ทำให้ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก ทำให้นักการตลาดต้องมีโจทย์เพิ่มมากขึ้น  ไม่ใช่เพียงแต่เน้นสร้างยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่หากยังต้องเลือกสื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย แบรนด์ รวมถึงบริหารความเสี่ยงในการรับมือดราม่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อโลกของดิจิทัลทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงกระแสในเชิงลบที่จะขึ้นเทรนด์อย่างฉับพลัน นับเป็นโจทย์ที่พิสูจน์นักการตลาดยิ่งนัก  ขณะเดียวกันการที่ผู้คนต่างพุ่งไปใช้ชิวิตบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้เกิด Influencer และเน็ตไอดอลขึ้นมากมาย แบรนด์ต่างๆ จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อหันไปทำการตลาดและลงโฆษณากับบุคคลเหล่านั้น แน่นอนว่าซูเปอร์สตาร์ที่เคยได้รับความนิยมเป็นหลักในอดีต ต้องถูกชิงแชร์เม็ดเงินในส่วนนี้ไป  

หัวใจหลักยังคงเป็นลูกค้า 

นายอนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า  การตลาดเป็นศาสตร์ที่มีความไดนามิกมากและมีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่หัวใจการตลาดนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป คือ ลูกค้ายังเป็นศูนย์กลาง นั่นยังคงเป็นหัวใจของนักการตลาด การจะทำให้ลูกค้าชื่นชอบและสนับสนุนสินค้าต้องนำเสนอคุณค่าที่เขาต้องการ สื่อสารด้วยเนื้อหาและภาษาที่สามารถเข้าใจรับรู้ถึงคุณค่านั้น โดยเลือกทำการตลาดผ่านช่องทางที่ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันรูปแบบและช่องทางของการนำเสนอนั้นอาจจะเปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เข้าถึงคนได้ในระดับ Mass-customization มากขึ้น 

สำหรับในอดีตนักการตลาดไทยมีทางเลือกในการสื่อสารไม่มาก หากจะสร้างความน่าเชื่อถือ และจะติดต่อกับกลุ่มลูกค้า ก็ต้องใช้ช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ เช่น ทีวี วิทยุ สื่อนอกบ้าน เป็นต้น แน่นอนนอว่าวิธีการจะถูกนำเสนอผ่านคนดังที่ผู้บริโภคชื่นชอบและศรัทธาให้ความเชื่อถือ ทำให้หลายๆแบรนด์เลือกที่จะใช้ดาราดังที่มีเป็นพรีเซ็นเตอร์ของสินค้าหรือองค์กร 

แต่ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ช่วยให้สามารถติดต่อกับลูกค้าได้โดยตรงโดยไม่ผ่านช่องทางการสื่อสารเดิมๆ ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) นี้ ทำให้เกิด  Micro-Influencer ขึ้นมากมาย กลายเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์กับลูกค้า จึงไม่จำเป็นต้องเป็นดาราดังอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะลูกค้าบางกลุ่มจะเลือกดูเลือกฟังและเชื่อ  Micro-Influencer เหล่านั้นตามความสนใจของเขา ดังนั้น สิ่งที่นักการตลาดต้องพิจารณา คือ วัตถุประสงค์ทางการตลาดตอนนี้คืออะไร และต้องการจะสร้าง Action นั้นในกลุ่มลูกค้าอย่างไร ต้องพิจารณาถึง what & why ก่อนจะไปคิดถึง how  

“สื่อโซเชียลที่มากมายหลากหลายในยุคนี้ นักการตลาดต้องวางแผนให้รอบคอบมากขึ้น และใช้กลยุทธ์ของแบรนด์เป็นตัวนำไม่ให้หลงทาง เพราะไม่ว่าวิธีการจะเปลี่ยนไปอย่างไร นักการตลาดต้องไม่ลืมว่า เนื้อหาสาระสำคัญที่ตอบวัตถุประสงค์ของแบรนด์คือตัวตั้งต้นเสมอ” 

ส่วนแนวทางที่จะช่วยให้นักธุรกิจข้ามผ่านวิกฤติเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นี้ นักการตลาดต้องมีองค์ความรู้ด้านการตลาดแนวใหม่ยุคดิจิทัลโดยเน้น 4 แกนหลัก คือ กลยุทธ์ชัดเจน, นวัตกรรมสร้างสรรค์, สื่อสารอย่างมีศิลปะ และต้องเติบโตอย่างยั่งยืนช่วยสังคมให้รอด 

ชูจุดยืนของแบรนด์ให้ชัดเจน 

ขณะเดียวกันการตลาดและการเรียกร้องให้มีการเลือกข้างมีมาในทุกประเทศ และมีมาในหลายๆประเด็นที่เป็นกระแสสังคม ไม่จำเพาะแค่เรื่องการเมือง หากนักการตลาดจะสื่อสารจุดยืนใดๆของแบรนด์ออกไป ต้องพิจารณาจากจุดยืนและ วัตถุประสงค์ของแบรนด์ (Brand Purpose) ไม่ใช่จุดยืนของตัวนักการตลาดหรือผู้บริหารเอง เพราะสุดท้ายการสื่อสารที่ออกไปจะเป็นการสื่อสารของธุรกิจของแบรนด์ ไม่ใช่ของบุคคลๆนั้น และผลลัพธ์ก็จะเกิดแก่ธุรกิจมากกว่าตัวบุคคล 

ดังนั้น หากจะพิจารณาว่าจะประกาศจุดยืนอย่างไร หรือมีแอคชั่นอย่างไร ก็ต้องพิจารณาบน Brand DNA ของตัวเองว่า  ตำแหน่งทางการตลาด และ วัตถุประสงค์ ของแบรนด์คืออะไร และ นำเสนอ ในจุดยืนของแบรนด์ เช่น หากไม่สนับสนุนการใช้แรงงานเด็ก บริษัทนั้นก็ต้องชัดเจนในการตรวจสอบทั้งกระบวนการ คู่ค้าไม่ให้ละเมิดข้อนี้ และหากแบรนด์เปิดกว้างเรื่องเสรีภาพและความหลากหลายทางเพศ ก็ต้องมีการทำ DNA นี้ให้เกิดเป็นการกระทำทั้งภายในองค์กรและภายนอก 

นายอนุวัตร กล่าวว่า เรื่องการเมืองก็เป็นอีกเรื่องที่ตั้งอยู่บนความเชื่อและความศรัทธาของคนกลุ่มใหญ่ที่มีความหลากหลาย เช่นเดียวกับเรื่องศาสนา ฯลฯ ซึ่งเป็นการชื่นชอบหรือเชื่อถือคุณค่าที่แต่งต่างกันไป โดยไม่ได้ใช้เหตุผลเป็นหลักแต่จะเป็นคุณค่าด้านจิตใจมากกว่า ดังนั้นทุกๆจุดยืนของแบรนด์ที่นำเสนอไปมีผลลัพธ์ตามมาเสมอ ทำให้แบรนด์ต้องพิจารณาว่าการตัดสินใจนั้นยืนอยู่บนฐานของความเป็นตัวตนของแบรนด์นั้นๆ เพราะเรื่องผลกระทบทางสังคมต่างๆนี้ ไม่ใช่เรื่องของความชอบส่วนบุคคล แต่มันมีผลมากกว่ากระทบกว่านั้น และความชัดเจนในสิ่งนี้ จะทำให้ทางบริษัทไม่เสียใจกับผลลัพธ์ภายหลัง เพราะมีการพิจารณามาอย่างดีแล้ว 
วางแผนแป็นระบบรับมือเฟคนิวส์ 

ส่วนเรื่องการรับมือต่างๆ ท่ามกลางวิฤติหรือเฟคนิวส์นั้น ทุกแบรนด์ต้องมีการเตรียมการเรื่อง Risk Management ที่ดี และมีการเตรียมวางขั้นตอนการแก้ปัญหา หรือความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดปัญหาจะเกิดขึ้น ให้เป็นระบบก่อนเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ซึ่ง  Fake News หรือ ข่าวปลอม ข่าวปล่อย ก็จัดเป็นหนึ่งในความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นได้ 

หากแบรนด์ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่าปัญหาที่อาจเกิดในโลกปัจจุบันอาจจะมีอะไรได้บ้าง แล้ววางขั้นตอนในการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนอย่างชัดเจน ก็จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยมุ่งเน้นเรื่องของการบริหารภาวะวิกฤต (Crisis management) ที่ดี มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 3 ข้อ คือ 1.การกำจัดวิกฤตนั้นให้หมดไปให้เร็วที่สุด 2.การจำกัดความเสียหาย และ 3.การสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นั้น ต้องอาศัยการวางแผนและการนำไปปฏิบัติที่ดี 

นักการตลาดจึงต้องมีการเตรียมการรับภาวะวิกฤต คือการกำหนดความเสี่ยงให้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความสามารถในการบรรยายถึงสิ่งที่บริษัทจะทำเพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงอาจเกิดขึ้น ความสามารถในการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของความเสี่ยงนั้น การแสดงออกถึงแผนความรับผิดชอบ โดยสรุป แผนการรับมือใดๆก็ตามต้องมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าให้พร้อมแบบไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบต้องมีความพร้อมอยู่เสมอและต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ แต่ปัญหาสำคัญที่มักเจอเมื่อวิกฤตมาเยือนคือการสื่อสารที่ดีและเหมาะสม 

ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เกิดง่ายแต่ไม่ยาว 

นายนพดล ศรีเกียรติขจร ประธาน บริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การเกิดของ Micro-Influencer ค่อนข้างจะง่าย แต่ในบางรายก็อยู่ได้ไม่นานหรือไม่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับศิลปิน ดารานักแสดง ที่มีชื่อเสียงและความดังจะแตกต่างกัน เพราะบุคคลเหล่านี้จะมีการปรากฏตัวต่อสาธารณะชนอยู่เป็นประจำ มีอายุยืนยาวกว่า Micro-Influencer ซึ่งหากจะยกตัวอย่างในกรณีของ ลุงพล ก็ต้องบอกว่าเป็นเหมือนเรียลลิตี้ประเภทหนึ่ง ที่ถูกเซ็ตขึ้นเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์มากกว่า แต่ตัวลุงพลมีพื้นที่สื่อตลอดทำให้เรื่องราวสามารถยืดยาวได้ ส่วนหนึ่งก็ถูกจริตกับผู้ที่ชื่นชอบข่าวในลักษณะดังกล่าว หรือจะเรียกว่าเป็นกึ่งๆ ละคร เป็นรายงานข่าวที่มีสีสัน ยิ่งหากมีคอมพิวเตอร์กราฟฟิคเข้ามายิ่งทำให้เนื้องเรื่องเกิดความน่าสนใจเข้าไปอีก  

“ความยากหนึ่งของการสื่อสารในสมัยนี้คงเป็นเรื่องของการทำคอนเทนต์ ทำให้คนติดตาม hard facts ก็ยากเพราะค่อนข้างหน้าเบื่อ วิธีของการอธิบายแบบวิทยาศาสตร์และผสมกับความเชื่อเลยทำให้คนบางกลุ่มชอบและติดตาม ลุงพลไม่ได้เป็น Influencer ในสายตาผม เหมือนว่าเวลาผ่านไปเขาดังและคนที่ใช้เลือกเขามาในจังหวะนี้” 

ส่วนเรื่องการเมืองที่ถูกแบ่งเป็นหลายฝ่ายนั้น มองว่าเป็นเรื่องบรรยากาศของสังคม อย่างตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นการสินใจของแต่ละคน อย่างกรณีที่มีผู้บริหารออกมาให้ความเห็นทางการเมือง ก็มองว่าอาจจะแสดงออกในฐานะคนไทยในสังคมแต่เขาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งเขาอาจจะมีความแข็งแรงพอที่จะยอมรับ เพราะโลกของอินเตอร์เน็ตเปิดกว้างต่อการให้แสดงความคิดเห็น แต่ก็ต้องยอมผลที่ตามมา แน่นอนว่าตัวเองในตอนนี้ก็เหมือนถือหมวกสองใบ เป็นคนไทยปกติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้บริหารของบริษัทฯ ด้วย บริษัทฯ จะบอกเสมอว่าแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย  

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแพลตฟอร์มด้านการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากมีเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อแบรนด์ แอดมินในเฟสบุ๊คจะจัดการยังไง หากเป็นการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียก็อาจจะติดต่อหลังบ้านก่อน ดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อเท็จจริงแบบไหน เพื่อจะได้แก้ไขได้อย่างถูกต้อง ในตอนนี้มีเครื่องมือมากกว่าเมื่อก่อน ทั้งในเรื่องเทคโลยีและแพลตฟอร์ม หากมีโจทย์แบบนี้จะต้องหาวิธีดำเนินงการว่าจะแก้ยังไง และเรียลไทม์มากแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียเร็วมาก มองว่าความท้าทายใหญ่ที่สุดคงเป็นการรีแอ็คกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น  

นายนพดล กล่าวอีกว่า ความคิดสร้างสรรค์คือหัวใจของบริษัทฯ เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึก การตอบสนอง และการมีส่วนร่วม ถึงแม้ว่าความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิตของคน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนวิธีที่เขารู้สึกได้ หน้าที่ของบริษัทฯคือต้องผนวกความคิดสร้างสรรค์เข้ากับดาต้าและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ การที่จะแตกต่างและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงให้ได้จริงๆ ต้องสามารถผสานความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในทุกกระบวนการทำธุรกิจของลูกค้า การที่ได้ครีเอทีฟที่เชี่ยวชาญทั้งสี่คนนี้มานำทีม จะช่วยให้เราทำภารกิจนี้สำเร็จ และคงความเป็นผู้นำทั้งในไทยและโลกต่อไปอีกด้วย 

 

ปรับคัมภีร์การตลาดให้รับยุคดิจิทัล 

นายภวัต เรืองเดชวรชัย  ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กล่าวว่า จากกรณีของลุงพลที่ได้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์รถยนต์นั้น เป็นการดำเนินงานผ่านดีลเลอร์ท้องถิ่นของจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็เป็นเกระแส แน่นอนว่าตอบโจทย์เรื่องความดัง และหากมองย้อนกลับไปในอดีตกับการเลือกใช้พรีเซ็เตอร์เป็นระดับดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง ก็ต้องยอมรับว่าในยุคปัจจุบันเริ่มมีให้เห็นกันน้อยลง แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์มาเป็นเน็ตไอดอล และ Influencer นั่นคือเรื่องของสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลให้งบประมาณด้านการตลาดมีจำกัด และอีกส่วนหนึ่งคงเป็นเรื่องของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป  

ในอดีตสื่อหลักๆ เลยคงหนีไม่พ้นสื่อในรูปแบบทีวี ซึ่งดารานักแสดงชื่อดังก็เกิดขึ้นจากการแสดงละครทีวีจำนวนมาก แต่ตอนนี้ละครบางเรื่องก็ได้รับความนิยม กระแสดี แต่บางเรื่องก็ได้มีกระแสดีเหมือนในอดีต แต่กลับไปเกิดขึ้นในอีกหนึ่งโลกที่เป็นโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาต่อยอดขาย จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนงบประมาณจะใช้กันค่อนข้างเยอะมาก เพราะเศรษฐกิจดี และหากใช้พรีเซ็นเตอร์ดังราคาสูงก็จริง แต่ยอดขายมาแน่นอน แต่ตอนนี้การใช้เงินไม่ได้เยอะเหมือนเมื่อก่อน การจะไปจ้างดาราในราคาเจ็ดหลักแปดหลักก็ลดน้อยลงไปตามกำลังของงบการตลาด  

“ตอนนี้มีดาราที่ดังอยู่บนโลกออนไลน์จำนวนมาก  เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถอย่างพวกแรปเปอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์ เชฟ ต้องบอกว่าดังเกินสเกลในอดีต และบนโลกออนไลน์มีกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้น ทำให้ซูเปอร์สตาร์ถูกเบียดเม็ดเงิน แต่ในขณะที่บางแบรนด์สินค้าก็ยังต้องใช้ระดับซูเปอร์สตาร์อยู่ อย่างระบบมือถือที่เดิมอาจจะใช้เน็ตไอดอล แต่ก็ใช้ดาราดังระดับประเทศและต่างประเทศ เพื่อภาพลักษณ์ การใช้คนเหล่านี้เพื่อภาพกว้าง อยู่ที่ objective แต่แน่นอนว่าซูเปอร์สตาร์ดังถูกเบียดบังมาร์เก็ตแชร์ไป” 

ขณะที่เรื่องการเมืองกับเจ้าของแบรนด์หรือธุรกิจนั้น มองว่าการแสดงจุดยืนเจ้าของแบรนด์ในฐานะคนไทยหลีกหนีเรื่องการเมืองไม่ได้ แต่ในมุมของเอเจนซี่ที่พยายามยึดหลักเรื่องแบรนด์เป็นหลัก ในแง่ของสินค้าตัวหนึ่งแบรนด์ก็คือคนๆ หนึ่ง จะพยายามหลีกเลี่ยงว่าถูกฟันธง ต้องพยายามอยู่เป็นกลางให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีแผนรองรับ และแบรนด์ต้องมีจุดยืนชัดเจน มีการแถลงและให้ข้อมูลโดยตรง ต้องมีแผนตั้งรับทีดี เพราะไม่รู้ว่าปัญหาและวิกฤติจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  

อย่างกรณีของการแสดงความคิดเห็นด้านการเมืองของผู้บริหารในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าเคสนั้นเป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่มีภาพชัดเจนว่าเป็นภาพเจ้าของธุรกิจ ทำให้ทัวร์ไปลงที่ธุรกิจและสินค้าทันที แต่ในแง่ของแบรนด์ หากจะเลือกพรีเซ็นเตอร์จะต้องไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากเลือกไปแล้วและเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องมีแผนเป็นกลาง หรือชี้แจงว่าการกระทำหรือการจ้างงานเกิดขึ้นก่อนการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ทันควันไม่ก่อให้เกิดปัญหา เพราะทุกวันนี้หากมีประเด็นให้จุดติดพรุ่งนี้ทัวร์ลงทันที  

นายภวัต กล่าวว่า หลายแบรนด์ที่ถูกโจมตีจากฝั่งตรงกันข้าม อาจจะเกิดขึ้นจากการมีข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นธรรม แต่ในฐานะแบรนด์ที่จะเลือกลงสื่อทีวีเหล่านั้น จะมองว่าการลงโฆษณาผ่านทีวีเป็นไปตามหลักวิชาการของการสื่อสารแบรนด์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางแบรนด์อาจจะมีจุดยืดบางอย่างที่ชัดเจน แต่บางแบรนด์เลือกลงโฆษณาตามหลักวิชาการ โดยที่แบรนด์ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมือง แต่มีการฟันธงว่าแบรนด์นั้นๆ เกิดการเลือกข้าง ในฐานะแบรนด์และองคก์กรที่ไม่ได้เลือกข้างและการเมือง ลงโฆษณาตามหลักวิชาการ ไม่ได้ใส่มุมมองของการเมืองใดๆ ก็ต้องย้ำจุดยืนและชี้แจงว่าไม่ได้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หากสื่อนั้นไม่มีจรรยาบรรณก็จะไม่สนับสนุน   

“หลายตำราทางด้านการตลาด หลายๆ คัมภีร์และทฤษฎี ไม่ได้ใช้ไม่ได้เลย แต่หยิบมาใช้ตรงๆ ไม่ได้ อย่างนักการตลาดชื่อดังหลายคนที่เขียนหนังสือออกมาก่อนหน้า ในวันที่เขาเขียนและค้นคว้าวิจัยมันมีแต่สื่อแมสและสื่อดั้งเดิม แต่ยกทิ้งเลยไม่จริง แต่การใช้ SWOT, Five force model, BCG Matrix จะเอามาใช้เลยในยุคนนี้คงยาก ต้องเอามาคิดต่อกับโลกปัจจุบัน เรื่องบางเรื่องล้าสมัย บางเรื่องใช้ได้ โดยหลักการยังใช้ได้แต่ต้องปรับ ในอีก 5 ปีหากมาคุยกันทีก็ต้องปรับให้อัพเดทให้เชื่อมโยงกับปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้การตลาดเป็นแบบลองผิดลองถูกและเรียนรู้” นายภวัต กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"