ชาวเชียงใหม่กว่า 40 องค์กร 5 พันคน โชว์พลังชุมนุมใหญ่ทวงคืนป่าดอยสุเทพ ประกาศเจตนารมณ์ทุบทิ้งบ้านพักศาล ขีดเส้น 1 สัปดาห์ขอคำตอบ "บิ๊กตู่" ขู่ยกระดับสงคราม 9 ทัพเคลื่อนไหวอีก นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่หนุนรื้อถอนบ้านพักตุลาการ ชี้ทำลายธรรมชาติ
ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 เมษายน เวลา 07.30 น. ประชาชนชาวเชียงใหม่จากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ กว่า 40 องค์กร รวมกว่า 5,000 คน นำโดยนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ, นายบัณรส บัวคลี่ ภาคีคนฮักเจียงใหม่, นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ มูลนิธิสืบสานล้านนา, ครูแอ๊ด ภานุทัต อภิชนาธง และนางสุนทรี เวชานนท์ ศิลปินล้านนา ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเดินรณรงค์มายังข่วงประตูท่าแพ เพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ของประชาชนชาวเชียงใหม่ ในการทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โดยนัดหมายกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการผูกริบบิ้นสีเขียวที่บริเวณข้อมือ ป้ายข้อความต่างที่สื่อสารเพื่อขอทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ นอกจากนี้ ได้มีการตั้งเวทีเล็กๆ มีการแสดงของศิลปินล้านนาในบทเพลงขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ
สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่มีการด่าทอ หรือใช้ถ้อยคำรุนแรงใด แต่มุ่งเจตนาขอพื้นที่ป่าดอยสุเทพคืน พร้อมประกาศชัด คนที่จะมาร่วมเป็นกลุ่มไหนก็ได้ โดยไม่ให้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด จากนั้นมีการอ่านแถลงการณ์ในการขอคืนพื้นที่ป่า เรียกร้องให้มีการดำเนินการรื้อถอนบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ออกจากดอยสุเทพตามเจตนารมณ์ที่ได้ร่วมกันเรียกร้องก่อนหน้านี้ เพื่อส่งสัญญาณไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาตัดสินใจ แก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนชาวเชียงใหม่
ทั้งนี้ ได้ให้ผู้มาร่วมชุมนุมแสดงพลังให้ความคิดเห็นว่า สมควรจะทำอย่างไรกับบ้านพัก ซึ่งทุกคนตะโกนด้วยเสียงดังว่าให้ "เตคว้าง" (รื้อทิ้งสถานเดียว) ดังลั่นไปหมด อย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยนายธีระศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยืนยันว่า การชุมนุมครั้งนี้ เป็นการชุมนุมที่บริสุทธิ์ และไม่มีความเกี่ยวข้องในทางการเมือง เป็นการใช้สิทธิร้องขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาแบบไม่ยืดเยื้อ
จากนั้นเวลา 09.00 น. ผู้ชุมนุมทั้งหมดได้เคลื่อนขบวนโดยขี่จักรยานผูกริบบิ้นเขียว และบางส่วนเดินเท้าออกจากลานอเนกประสงค์ข่วงประตูท่าแพ เดินไปตามถนนราชดำเนิน เข้าสู่ถนนประปกเกล้า และไปสิ้นสุดที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ใจกลางเมืองเชียงใหม่ รวมระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มีพิธีอ่านแถลงการณ์อีกรอบ พร้อมพิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวสาปแช่งผู้ที่บุกรุกครอบครองพื้นที่ดอยสุเทพ พร้อมวิงวอนเทพเทวา ผีอารักษ์ที่ปกปักรักษาเมืองให้ออกมาช่วยเหลือและรักษาผืนป่าดอยสุเทพให้คงอยู่ต่อไป
ขีดเส้น"บิ๊กตู่"1สัปดาห์
เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม นายธีระศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า จะให้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ขอให้นายกรัฐมนตรีรีบตัดสินใจให้คำตอบคนเชียงใหม่โดยเร็ว ขอวิงวอนและขอร้อง เพราะเห็นแล้วว่าคนเชียงใหม่ออกมาเต็มเมือง และจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เราไม่อยากให้ปัญหาเรื้อรัง เพราะแนวทางที่ต่อสู้เพื่อขอทวงคืนผืนป่าได้ทำถูกต้องแล้ว รู้สึกชื่นใจมาก ที่เห็นพลังคนเชียงใหม่ออกมามากอย่างนี้ เราใกล้ถึงเส้นชัยแล้ว และการชุมนุมครั้งนี้ แม้ว่าจะมีประชาชนที่อยากจะมาร่วม แต่มาไม่ได้นั้น ได้ช่วยกันแชร์โพสต์ว่า "ชุมนุมออนไลน์คู่ขนาน" ซึ่งเป็นการชุมนุมทางออนไลน์ด้วย
"หากไม่มีคำตอบที่เป็นแนวทางชัดเจน ก็จะมีการยกระดับในรอบที่ 3 ก็จะกลายเป็นสงคราม 9 ทัพ และจะมีประชาชนชาวเชียงใหม่ออกมาเคลื่อนไหวมากกว่านี้แน่นอน" ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ระบุ
ด้านนางสุนทรี เวชานนท์ ศิลปินล้านนา กล่าวว่า การรวมตัวครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของคนเชียงใหม่ ที่วัดกำลังพล และคงจะไม่เลิกราวีกันง่ายๆ จนกว่าจะได้รับคำตอบว่าจะจัดการอย่างไรกับบ้านป่าแหว่งแห่งนี้ และอยากฝากบอกถึงรัฐบาลว่า อย่าคิดเพียงแค่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว ควรคิดถึงหัวใจของคนเชียงใหม่ด้วย เรามีวัฒนธรรม ประเพณีของเรา ควรจะเคารพสิทธิตรงนี้ของคนเชียงใหม่ด้วย
สำหรับแถลงการณ์เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ฉบับที่ 1 เรื่องต้องคืนผืนป่าดอยสุเทพเท่านั้น ลงวันที่ 29 เม.ย.2561 มีเนื้อหาว่า "ดอยสุเทพ เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ชัยมงคลสำคัญของเมืองเชียงใหม่ล้านนา ต่อเนื่องมาถึง 722 ปี เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยพญามังรายมหาราชเจ้า กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งขององค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง มีพิธีกรรมสักการบูชา สืบเนื่องต่อกันมา
ดังนั้น พื้นที่ดอยสุเทพจึงเป็นสมบัติอันสูงค่าร่วมกันของชาวเมือง ขนบจารีตที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี จากบรรพชนคนเชียงใหม่รุ่นสู่รุ่น จากปู่ทวดย่ายาย สู่ลูกหลานเหลน ความผูกพันดังกล่าวจึงลึกซึ้ง มีศักดิ์
และสิทธิ์เหนือกว่ากฎหมายใดๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง
ประชาชนคนเชียงใหม่จึงผูกพันกับดอยสุเทพ.. ตื่นมาก็เห็น กลับถึงบ้านก็เห็น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ชาวเชียงใหม่ ตลอดถึงชาวไทยทั้งปวง จึงมีสิทธิ์อย่างเต็มเปี่ยม ที่จะปกปัก ดูแลรักษา มิให้ดอยสุเทพ รวมถึงอาณาเขตป่าที่ประกอบขึ้นเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพวกเรา ถูกกระทำย่ำยีบีฑา ละเมิดทำลาย
โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” แม้จะอ้างว่าก่อสร้างในพื้นที่ราชพัสดุ แต่แท้จริงแล้วก็คือเขตป่าดอยสุเทพที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียว มีการถางทำลาย เปิดหน้าดิน ก่อความอัปลักษณ์ อุจาดนัยน์ตา ก่อให้เกิดอัปมงคลใหญ่ ระดับ “ขึดหลวง” ล่วงละเมิดสิทธิ์ของประชาชนชาวเมือง ละเมิดระบบนิเวศวัฒนธรรม อันเป็นสมบัติอันล้ำค่า ไม่มีแม้แต่ไต่ถาม ขอความเห็นใดๆ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ จนใกล้แล้วเสร็จ
เจตจำนงเรา ต้องการสิ่งเดียวเท่านั้น คือให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอุจาดอัปมงคล และคืนพื้นที่ป่าให้ป่ากลับเป็นป่า ให้ดอยยังเป็นดอย! เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องตัดสินใจเร่งแก้ไขโดยด่วนทันที ให้มีการประกาศคำมั่นสัญญาจะคืนผืนป่าดอยสุเทพกลับคืน
เครือข่ายประชาชนขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าในที่นี้ ขอประกาศยืนยันเจตนาอันแน่วแน่ ที่จะดูแลรักษาป้องกันมิให้ผู้ใดมาทำลายดอยสุเทพ อันเป็นมิ่งขวัญและหลักชัยทางจิตวิญญาณของชาวเมืองสืบกันมาแต่ครั้งโบราณกาล ให้ยืนยงสืบไป เพราะนี่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพวกเรา
เราขอประกาศว่า พวกเราจะยืนหยัดสู้ เพื่อรักษาเจตนานี้ โดยไม่ท้อถอย เราต้องการป่าดอยสุเทพที่สมบูรณ์ ไม่ต้องการป่าแหว่ง คืนป่าให้ดอยสุเทพ คืนป่าให้กับประชาชน เอาป่าดอยสุเทพคืนมา เอาป่าแหว่งคืนไป!"
เพจ "ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ" ได้แชร์โพสต์ของ นพ.สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์ นายแพทย์และจิตอาสา โดย นพ.สมหมายระบุว่า ตั้งใจมาเชียงใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ อันที่จริงมีภารกิจอื่นที่กำหนดไว้ แต่ยกเลิกหมดเมื่อทราบข่าวว่าชาวเชียงใหม่มีกิจกรรมนี้เพื่อดอยสุเทพและเชียงใหม่ที่ตนเองผูกพัน ชีวิตตนนับจากอดีตได้เติบโตทางความรู้ความคิด มีสัมมาอาชีพทุกวันนี้เพราะเมืองเชียงใหม่ฟูมฟักให้มาเกือบทั้งหมด ดอยสุเทพคือหนึ่งในที่พึ่งทางใจ ทางวัฒนธรรม ความคิดหลายอย่างที่เพาะบ่มให้เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ การมาร่วมทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพจากความไม่เหมาะสมเป็นการกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจจากจิตที่ผูกพัน ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์เรื่องนี้มาแต่แรกด้วยสิ่งที่พอจะทำได้โดยไม่อาจเปิดเผยรายละเอียด
"วันนี้ผมยินดีมาร่วมงานนี้อย่างเปิดเผย เพื่อแสดงพลังแห่งจิตวิญญาณร่วมกับชาวเชียงใหม่ที่เคารพศรัทธาดอยสุเทพที่เป็นตำนาน เป็นมนต์ขลังคู่เชียงใหม่มานาน เราไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ว่าเราจะสมหวังหรือผิดหวัง แต่สิ่งที่เราทำมาจากความรักอันพิศุทธิ์ที่มีต่อผืนแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ บรรยากาศในงานวันนี้ มีชาวเชียงใหม่และผู้รักดอยสุเทพมาแสดงพลังจำนวนมาก ทั้งที่ข่วงประตูท่าแพและอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชื่อว่างานนี้ท่านตุลาการเจอศึกหนักแน่นอนครับ ภาพประกอบที่ผมชอบที่สุดคือภาพที่มีดอยสุเทพเป็นฉากหลัง และมีเบื้องหน้าคือการรวมพลังของชาวเชียงใหม่ทั้งที่ประตูท่าแพและอนุสาวรีย์สามกษัตริย์" นพ.สมหมายระบุ
โพลหนุนรื้อบ้านพักศาล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยคิดอย่างไร กับโครงการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-23 เม.ย.2561 จากประชาชนทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงความเหมาะสมในการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.20 ระบุว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นการทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรนำงบประมาณไปใช้ทำอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้าง บ้านพักควรสร้างในเมืองน่าจะดีกว่า รองลงมาร้อยละ 14.56 ระบุว่าเหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เป็นการบุกรุกหรือรุกล้ำพื้นที่ป่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะพิจารณาตามความเหมาะสมมาอย่างดีแล้ว และเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงาน และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านการรับทราบของประชาชนว่าตามกฎหมายแล้วสามารถสร้างบ้านพักบริเวณดอยสุเทพได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.12 ระบุว่า ไม่ทราบ รองลงมา ร้อยละ 18.56 ระบุว่า ทราบ และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพออกทั้งหมด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้คืนผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม และจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ รองลงมา ร้อยละ 43.68 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการรื้อถอน และเสียดายงบประมาณที่ใช้ไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังสามารถใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีก และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.36 ระบุว่าให้ยุติการก่อสร้าง รื้อถอนบ้านพักทั้งหมด และปลูกป่าทดแทนให้กลับเป็นตามเดิม รองลงมา ร้อยละ 25.92 ระบุว่าให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ไม่ต้องรื้อถอน แต่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์แทน, ร้อยละ 22.96 ระบุว่าให้ยุติการก่อสร้าง และรื้อถอนบางส่วนที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม, ร้อยละ 7.52 ระบุว่าให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป และให้ตุลาการศาลเข้าไปใช้พื้นที่เหมือนเดิม เพราะถูกต้องตามกฎหมาย
ร้อยละ 2.80 ระบุว่าให้ยุติการก่อสร้าง และทำความตกลงไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย, ร้อยละ 1.20 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป และปลูกต้นไม้ทดแทนไปด้วย ให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการทำเป็นรีสอร์ตเพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำ ขณะที่บางส่วนระบุว่าให้ยุติการก่อสร้าง และเรียกร้องค่าเสียหาย และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ขณะที่นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมยังยืนตามมติของ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ที่มีมติให้เรียนนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารว่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งหากได้ผลประการใด ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีบางกลุ่มออกมายั่วยุด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่สำนักงานศาลยุติธรรมนั้นไม่มีนโยบายหรือแนวคิดที่จะมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน แต่ขอให้อยู่ในกรอบแห่งกฎหมายและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ฉะนั้นเรื่องบ้านพักตุลาการจึงขอให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯและฝ่ายบริหารในการตัดสินใจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |