ชำแหละแผนปฏิรูปสื่อ เจ้ากี้เจ้าการกำกับจริยธรรม


เพิ่มเพื่อน    

      แผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ จัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกาศใช้แล้วตั้งแต่ 6 เมษายนเป็นต้นมา และอาจไม่สอดคล้องกับแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ที่มุ่งเน้น ทวงคืนเสรีภาพสื่อ ปลดล็อกคำสั่ง คสช.

      เนื่องจากแผนปฏิรูปนี้มีความพิลึกพิลั่นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปที่ 2 ว่าด้วย แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ กำหนดเป้าหมายรวมไว้ประการหนึ่งว่า...

      การมุ่งเน้นการสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพของการทำหน้าที่ของสื่อบนความรับผิดชอบกับการกำกับที่มีความชอบธรรม และการใช้พื้นที่ดิจิทัลเพื่อการสื่อสารอย่างมีจรรยาบรรณ ดำรงรักษาเสรีภาพของการแสดงออกการรับรู้ของประชาชน ด้วยความเชื่อว่าเสรีภาพของการสื่อสารคือเสรีภาพของประชาชนตามแนวทางของประชาธิปไตย

      โดยระบุตัวชี้วัดไว้ที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชนบังคับใช้ และคู่มือมาตรฐานกลางทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพสื่อ

      ทั้งนี้ในแผนปฏิรูปสื่อได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้ว่าภายในปี 2561 จะตรา พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนออกมาให้มีผลบังคับใช้  

      โดยวางขั้นตอนดังนี้ ภายในเดือนมิถุนายนจัดตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา, ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ, ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ, ตัวแทนภาควิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

      เดือนกรกฎาคม-กันยายน นำเสนอร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ตรวจเพื่อนำเสนอ ครม.อนุมัติหลักการ ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อ สนช.พิจารณา

      เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้การก่อเกิดคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนก็จะตามมา ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อโดยมีมาตรการลงโทษองค์กรสื่อและสื่อที่เข้มข้นขึ้น อีกทั้งให้กำหนดมาตรฐานกลางทางด้านจริยธรรมของสื่อ

      มาดูกันว่าแผนปฏิรูปสื่อมีความพิลึกพิลั่นอย่างไร เริ่มต้นกันที่การปฏิรูปสื่อที่เริ่มกันมาตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอแนวทางการปฏิรูปสื่อไปให้นายกฯ โดยเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนไปพร้อม เมื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามาแทนที่ ก็ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนให้ตัวแทนภาครัฐเข้ามาร่วมถึง  4 คน ทำให้องค์กรสื่อต่อต้านอย่างรุนแรงกล่าวหาว่าเป็นร่างกฎหมายกดหัวสื่อ และได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ใช้ชื่อเดิมไปให้นายกฯ

      มาถึงปัจจุบันคณะกรรมการปฏิรูปสื่อยกเลิกของเดิมทั้งหมด เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ แล้วให้เริ่มต้นยกร่างกันใหม่ ด้วยการตั้งคณะทำงานมาจัดทำและรับฟังความเห็นกันอีก

      เท่านั้นไม่พอในแผนยังมีมาตรฐานกลางทางด้านจริยธรรมสื่อผนวกเข้าไปด้วย ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อจัดทำกันเอง

        ในร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่มีการคุ้มครองเสรีภาพสื่อ มีแต่การกำกับควบคุมดูแล ทั้งที่องค์กรสื่อถูกจำกัดเสรีภาพไว้ด้วยกฎหมายไม่เป็นธรรมหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์,  ประกาศ  คสช.ฉบับที่ 97/2557, ประกาศ คสช.ฉบับที่ 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 (ข้อ 5)  ฯลฯ

      เฉพาะประเด็นการควบคุมจริยธรรมสื่อเรื่องเดียวที่จะทำกฎหมายออกมา และการทำพิมพ์เขียวมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อไว้พร้อมสรรพ ก็หนักหนาเกินกว่าที่องค์กรสื่อจะยอมรับได้

      องค์กรสื่อยังไม่ลืมเหตุการณ์รวมพลังคัดค้านประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42  หรือ ปร.42 มรดกของคณะรัฐประหารที่จำกัดเสรีภาพมาตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 กว่ารัฐสภาจะยกเลิกประกาศนี้ก็เข้าปลายปี 2533 กินเวลานานถึง 13-14 ปี

       นับจาก คสช.เข้ามามีอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันนี้เวลาที่ผ่านไป 4 ปี ภาษีประชาชนถูกใช้ไปเท่าไรกับการปฏิรูปสื่อ   

      สุดท้ายก็วนเวียนซ้ำซากอยู่กับการจำกัดเสรีภาพสื่อ โดยอ้างว่านี่คือการปฏิรูป นี่คือแผนที่จะนำมาบังคับให้สื่อต้องปฏิบัติตาม ด้วยข้ออ้างว่าต้องควบคุมจริยธรรมสื่อให้อยู่หมัดเพื่อได้คุณภาพมาตรฐาน

        น่าสงสัยว่าในคณะกรรมการปฏิรูปก็มีสื่ออาวุโสหลายคนเข้าไปอยู่ แล้วเหตุไฉนจึงเขียนแผนปฏิรูปสื่อออกมาแบบนี้!     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"