“คลัง” มองม็อบไม่มีผลกระทบโครงการคนละครึ่ง เหตุคนยังต้องจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ฟุ้ง 3 วันคนแห่ลงทะเบียนแล้ว 5.8 ล้านคน เอกชนเสนอเปิดสภา-เจรจาม็อบ หวั่นโควิดระลอก 2 ทุบดัชนีความเชื่อมั่นร่วง ขณะที่ ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก.ย. ปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 85.2 ยังหวั่นโควิด-19 ระลอก 2 ทำความเชื่อมั่นอีก 3 เดือนหด เสนอรัฐเปิดเวทีสภาสมัยวิสามัญถกกลุ่มผู้ชุมนุม หาทางออกด้านการเมือง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยอดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ w ww.คนละครึ่ง.com ล่าสุดวันที่ 19 ต.ค.2563 มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 5.8 ล้านคน จากจำนวนสิทธิ์ทั้งหมด 10 ล้านคน ขณะที่ร้านค้าลงทะเบียนแล้ว 2.9 แสนร้านค้า ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นร้านค้า รถเข็น หาบเร่ แผงลอย จำนวน 4.9 หมื่นร้านค้า และเป็นร้านค้าที่มีหน้าร้าน 1.7 แสนราย ทำให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก หลังเปิดให้ลงทะเบียนเพียง 3 วัน
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพื้นที่สำคัญในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ ในขณะนี้เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อคนลงทะเบียน และการใช้สิทธิ์ซื้อสินค้าจากร้านต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าคนยังจำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันอยู่ แม้จะมีการชุมนุมก็ไม่น่าจะลำบากอะไรในการไปใช้สิทธิ์ในโครงการ มั่นใจว่าไม่กระทบการจับจ่ายใช้สอยแน่นอน
“แม้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีคนลงทะเบียนในมาตรการคนละครึ่งเริ่มช้าลง ไม่ได้มากเหมือนวันแรก เพราะมาตรการไม่มีความจูงใจ คลังก็ขอเวลาก่อน เพราะเพิ่งเปิดให้ลงทะเบียนได้ 3 วัน และยอดล่าสุดขณะนี้ก็เกือบ 6 ล้านคนแล้ว ก็ขอรอดูสักระยะหนึ่งว่าคนต้องการอะไร ติดขัดเรื่องนี้ จึงยังไม่มีการพิจารณาปรับเงื่อนไขให้สิทธิ์ต่างๆ ในตอนนี้ ในหลักการ คนที่ลงทะเบียนคนละครึ่ง จะไม่ได้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง” นายกฤษฎากล่าว
ส่วนจะมีการลงทะเบียนไม่ครบ 10 ล้านคนตามเป้าหมายหรือไม่ นายกฤษฎากล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่ติด เพราะเชื่อว่าคนลงทะเบียนยิ่งน้อยยิ่งดี สะท้อนว่าเศรษฐกิจดี คนยังมีเงินจับจ่ายใช้สอย โดยไม่ต้องพึ่งพามาตรการรัฐบาล คนใช้น้อยก็แปลว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ
วันเดียวกัน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย.2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 85.2 จากเดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 84 เป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ การคลายล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมธุรกิจดำเนินไปได้ ภาคการส่งออกและการขนส่งระหว่างประเทศมีสัญญาณดีขึ้น การควบคุมโควิด-19 ทำได้ดี
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบจากการปิดด่านชายแดนที่ติดกับเมียนมา จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออก และปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 93.3 จาก 94.5 ในเดือน ส.ค. เพราะกังวลถึงการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านจึงต้องมีการล็อกดาวน์อีกครั้ง การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจและกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย เงินกู้มากขึ้น
“ดัชนีที่ลดลงเพราะความช่วยเหลือภาครัฐจะหมดลง แต่รัฐก็มีมาตรการอื่นๆ มาเติม เช่น โครงการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ส่วนการชุมนุมทางการเมือง 3-4 วันที่ผ่านมา ก็กังวล เพราะมันกระจายหลายจุด ทุกฝ่ายต้องช่วยแก้ปัญหาว่าจะทำยังไง ควรเปิดสภาสมัยวิสามัญ ให้เขาได้มีเวทีออกมาชี้แจง อย่างการแก้รัฐธรรมนูญ อันไหนเห็นร่วมกันก็แก้ไปก่อน แต่ที่ห่วงตอนนี้คือมือที่ 3”
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐ เอกชนต้องการให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ผ่านโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในและภูมิภาค ออกมาตรการเพิ่มเติมช่วย SMEs หลังใกล้สิ้นสุดมาตรการเดิม และรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศ และจะเห็นได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายใหญ่นั้นกลับลดลง เพราะกังวลการระบาดโควิด-19 รอบ 2 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แอร์ โรงกลั่นน้ำมัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |