เก่า 'ตะกายใหม่' ไทยโพสต์


เพิ่มเพื่อน    

 

ป๊อบแป๊บ "ไทยโพสต์" ๒๕ ปี

            ไม่ถือว่านาน

            แต่การที่ต้องอีโหลกโขลกเขลกกว่าจะผ่านในแต่ละปี นั่นแหละ ทำให้รู้สึกว่า ๒๕ ปี โอ้โห...นานเหลือเกิน!

            ก็ช่างมันเถอะ

            "อดีต" คืออนาคตของ "ปัจจุบัน" และปัจจุบันคืออนาคตที่จะเป็น "อดีต" ไปสู่ปัจจุบัน มันเป็นวัฏฏะ         มีรอยต่อ รับรู้ได้ แต่มองไม่เห็น

            แล้วอนาคตไทยโพสต์ปัจจุบัน จะเป็นไงในอนาคต คือต่อจากนี้?

            อย่าว่าแต่หลายคนถาม ผมเองก็ยังถามตัวเองอยู่บ่อยๆ แต่หาคำตอบที่ลงตัว (ยัง) ไม่ได้ซักที

            บอกตรงๆ "อยากเลิก"!

            ไม่ใช่ "พอแล้ว" แต่เพราะ "มันไม่ไหวแล้ว" ยิ่งรุ่นใหม่เขาตะโกนไล่ รุ่นเก่าหลีกไป ประเทศไทย "อนาคต" เป็นของรุ่นใหม่พวกเขา

            เออ...มันก็จริงของเขา

            "ไทยโพสต์" ในความเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ "๒๕ ปี" ยังไม่นับว่าเก่า ส่วนคนทำ แก่บ้าง หนุ่มบ้าง สาวบ้าง คละๆ กันไป ถือว่า "กลางใหม่" ยังไม่ตกรุ่นซะทีเดียว

            ผมคนเดียว ทั้ง "ตกรุ่น" และ "ตกกระ" เมื่อรุ่นใหม่ยื่นโนติส เก่าหลบไป ประเทศไทยอยู่ในกำมือรุ่นเขา ผมก็ต้องเจียม

            -รุ่นเก่า เป็นรุ่นกระดาษ

            -รุ่นใหม่ เป็นรุ่นเว็บเพจ

            ก็หมายความว่า สื่อสารประเภทกระดาษทั้งหลาย ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม เอกสารหนังสือรูปแบบต่างๆ ถูกจัดอยู่ในคำจำกัดความว่า "หมดยุค"

            ทู่ซี้อยู่ ก็อยู่หมวด "ธุรกิจตกยุค"

            ต้องสื่อระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งภาพ ทั้งตัวหนังสือ ทั้งเสียง ทั้งเคลื่อนไหวได้ผ่านจอ เป็น "ข้อมูลสื่อประสม" เท่านั้น

            จึงจะเป็น "สื่อยุคใหม่" "ไฮเทค-แฮชแท็ก"!

            ผมมัน "รุ่นเก่าท่อกแท่ก" ไม่ยอมก็ต้องยอม เพราะดูแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี สื่อกระดาษ โดยเฉพาะ "หนังสือพิมพ์" คนอ่านยังพอมี

            แต่คนซื้อ แทบไม่มี ถึงมี ก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

            เท่าที่สังเกต......

            "ขาจร" ที่เช้าขึ้นมา ต้องแวะแผง ไม่ซื้อ ก็ขอให้ได้ดู ว่าวันนี้ ฉบับไหน พาดหัวว่ายังไง เรื่องอะไร           ถ้ากระชากใจได้ ก็จะซื้อซักฉบับ-สองฉบับ

            เดี๋ยวนี้ ไม่มีแล้ว

            เหลือ "ขาประจำ" เป็นส่วนใหญ่ ที่ยังผูกพัน อุดหนุนกันเหนียวแน่น ชนิดว่า จนกว่าตายจากกันไปข้าง

            ก่อนๆ วงจรประจำวัน คนต้องเดินถนน สุดทางที่ป้ายรถเมล์ รายทางผ่านแผงขายหนังสือพิมพ์ ถึงไม่แวะ ก็ชะแง้ซะหน่อย

            เมื่อมีรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดิน และระบบ work from home วิถีประจำวันคนก็เปลี่ยน ไม่ออกบ้าน ถึงออก ก็มุ่งหน้าไปสถานี ไม่แวะโน่น-ดูนี่ อย่างตะก่อน

            หนังสือพิมพ์ จึงเป็น "ดอกหญ้า" ไร้คนเด็ดแซมผม!

            รุ่นพ่อ-รุ่นแม่, รุ่นอาม้า-อากง เลิกขายหนังสือ เพราะไม่มีคนซื้อ ยิ่งถึง "รุ่นลูก-รุ่นหลาน" มีแต่อยากโละแผง

            "ขายตึก" ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปทำคอนโดฯ ติดสถานีรถไฟฟ้า รวยเป็นกอบเป็นกำ ดีกว่านั่งแคะหัวตะปู

            ทุกเกจิฟันธงตรงกัน ยุคไอที เป็นยุค "ดิสรัปต์" ธุรกิจสื่อกระดาษ โดยเฉพาะ "หนังสือพิมพ์"

            ดิสรัปต์ ไม่ได้หมายความว่าทำลาย ในความเห็นผม สื่อกระดาษ ที่ไม่ "ปรับตัว-ปรับสภาพ" นั่นแหละ ทำลายตัวเอง

            ตามความหมายไอที เท่าที่พินิจ "ดิสรัปต์" คือ หมากฝรั่งที่เคี้ยวในปาก

            เคี้ยวอมไว้ เป็นขยะ

            เอาที่อม เป่าลูกโป่ง เป็นนวัตกรรม!

            ผมก็ตั้งใจจะเป่าไทยโพสต์เป็นลูกโป่งเหมือนกัน แต่ลมในปอดไม่พอ

            หนังสือพิมพ์ไม่ได้อยู่ที่แรงลมคน แต่อยู่ที่ความคิดคน

            แต่ละคนมีคิด......

            แต่ที่จะให้คิดของแต่ละคน ทะลุเปลือก "งานแลกเงิน" ไปถึง "งานเพื่อสังคม" นำองค์กรจากหนอนเป็นผีเสื้อ

            หาเงิน ง่ายกว่า หาคน!

            ยุคดิสรัปต์ ทุกองค์กรล้วนเจอปัญหานี้ โลกไป แต่คนไม่ไป

            ดิสรัปต์ จึงถูกตีความหมายหนักไปทางเดียว คือทางทำลาย

            ส่วนอีกทาง คือ "บูรณาการ" จากเก่าเป็น "นวัตกรรม" ไม่ถูกใช้มากนัก เพราะมันยากไปถึง

            สังคมยุคเก่า สร้างวิมานบนดิน

            แต่ยุคใหม่ สร้างวิมานในอากาศ

            สร้างวิมานบนดิน หมายถึง คนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย การทำมาหากิน การประกอบธุรกิจ-อาชีพ และการสร้างใดๆ จะ "ยึดดิน"

            คือ ทุกอย่าง ลงหลัก-ปักฐาน แน่นหนาอยู่กับดิน ฉะนั้น โลกทุกวันนี้ ที่บอก มหัศจรรย์ เก่าแก่ เป็นหมื่น-เป็นพันปี ไม่รู้ว่า สมัยนั้น ทำกันได้อย่างไร เป็นมรดกตกทอด ให้คนแต่ละรุ่นได้สืบต่อ ทางท่องเที่ยว ทัศนา นั้น

            นั่นคือนิยาม "วิมานดิน" ที่ "รุ่นเก่า" สร้างและบุกเบิกเป็นมรดกตกทอด ทั้งที่เป็นธุรกิจ อาชีพการงาน และวัตถุสถานสะท้อนศิลปวิทยาการ เป็นศาสตร์ให้รุ่นใหม่เรียนรอยตีน

            ตรงข้าม "ยุคไอที" ครองโลก วันนี้

            ไอที สอนให้คนรุ่นใหม่ใช้ "อากาศ" แทน "ดิน" ในการสร้างวิมาน และอากาศทั้งโลก ผูกขาดโดยโลกตะวันตกในฐานะผู้ค้นคิดระบบ

            คน ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ ล้าน ทั้งโลก ไม่ว่าเป็นผู้สร้างหรือผู้ใช้ นอกจากต้องซื้อฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์แล้ว

            ยังต้องซื้อหรือเช่า "อากาศ" ที่เรียกแพลตฟอร์ม ในการดำรงอยู่ และการทำธุรกิจยุคใหม่

            ร้อยทั้งร้อย ทุกวันนี้ ทุกคน ทุกธุรกิจ ทุกรัฐบาล ไม่ว่าก่อการดี ก่อการร้าย พระ โจร

            ล้วน "สร้างวิมานในอากาศ" ในสภาพคลื่น ไม่มีตัวตนให้จับต้อง หมายถึง สิ่งที่คน "ยุคใหม่-ไอที" สร้าง

            จะไม่มีอะไรเหลือปรากฏเป็น "มรดกวัตถุ" ตกทอด ให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้อาศัยสืบต่อในทางจับต้องในพันปี-หมื่นปีได้เลย

            ตลอดถึงด้านศิลปวิทยาการผ่านวัตถุที่เป็นรากแห่งร่องรอยให้ชีวิตใหม่ได้เรียนรู้ พึ่งพาอาศัย เหมือนที่รุ่นสร้างวิมานบนดินเขาสร้าง ก็จะไม่มี

            ในเมื่อ ธุรกิจ-อาชีพ-การงานทุกวันนี้ ไม่มีราก-ไม่มีฐาน เพียงลอยๆ อยู่ในอากาศที่เป็น "พื้นที่เช่า" เฟซบุ๊ก

            จะมีอะไรตกทอดได้ล่ะ อากาศก็คืออากาศ ไม่คงที่ ไม่มีสภาพวัตถุสถิตถาวร เทคโนโลยี คือสินค้าทางธุรกิจ เปลี่ยนรุ่นไปเรื่อยๆ "วัตถุสถาน" ที่ปรากฏ คือขยะ

            ที่พูดนี้ ไม่ได้พูดในทางต่อต้าน-ปฏิเสธ

            พูดเพื่อให้ "รุ่นใหม่-รุ่นเก่า" ได้ถอนความ "คิดหลง-คิดเหลิง" กับความเป็น "รุ่นใหม่" เตลิดไปกับไอที กลายเป็นรุ่นใหม่ "ทาสวัตถุไอที" อย่างที่เป็น

            "อยู่กับมัน-หมุนตามไปกับมัน" ได้

            แต่ต้องรู้ทันมัน อย่าไปหลงเป็น "รุ่นใหม่-ไอที" แล้วไล่ล้าง-ไล่ล่า กระทั่งพ่อแม่ ชาติบ้านเมือง และสถาบัน

            "สตาร์ทอัพ" เป็นสาขาอาชีพของคนรุ่นใหม่ ขายของออนไลน์ เป็นอาชีพใหม่ยุคนี้

            เฟื่องฟู รวยฟุ่บฟั่บ รุ่นก่อน จะได้ห้าพัน-หนึ่งหมื่น ก็ต้องทั้งเดือน แต่อาชีพใหม่ในอากาศ บางทีวัน-สองวัน เด็กอายุ ๑๐ ขวบ ๒๐ ขวบ

            ทำเงินได้เป็นแสน!

            เพราะ "ทำเงินในอากาศ" มันง่ายและสบายอย่างนี้ สังคมโลก จึงเทไปหูเดียว คือหู "ทุกอย่างต้องไอที"

            ก็ไม่ได้ค้าน-ต้านต่อ แต่อยากให้มุมคิด

            วิมานในอากาศคือ "วิมานลอย" มันเกิดขึ้น-ตั้งอยู่ "ขณะหนึ่ง" เท่านั้น แล้วมันก็จะ "สลายไป"

            ไม่มีอะไรเหลือปรากฏใน "ทางยาว" เลย รากแห่งความยั่งยืน มันไม่หยั่งในอากาศได้หรอก

            อย่าว่าแต่ไม่เหลืออะไรให้รุ่นต่อๆ ไปได้พึ่งพาอาศัยเลย

            "รุ่นใหม่" ที่ผยองวันนี้ก็เถอะ

            รุ่นพ่อ-รุ่นแม่ สะสมบุญเก่า ไว้ให้เหยียบยืน จนมีแรงชู ๓ นิ้ว บุญนี้ "หมดไป" ในรุ่นนี้แหละ นอกจากดุ้นที่ซมซานหากัน ก็จะไม่มีอะไรให้ยึดหา เพื่อพึ่งพาได้

            ในเมื่อ พ่อ-แม่ ก็ไม่เอา สถาบันก็ไม่เอา ประเทศชาติก็ไม่เอา

            เอาแต่ "ทวิตเตอร์"

            หอนหา "เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ" ตามศาสดา "ธนาธร-ปิยบุตร"!

            ไอที นั้น ดี ถ้าใช้แบบรู้ทัน ใช้เป็นเครื่องมือเรา ถ้ารู้ไม่ทัน จะเป็นทาสให้มันใช้ ไม่ว่ารุ่นใหม่-รุ่นเก่า

            นี่ผมก็คิดเรื่อย แล้วจิ้มแป้นเขียนไปเรื่อย

            เพราะวันนี้ ๒๑ ตุลา เป็นวันครบรอบปีที่ ๒๔ ขึ้นปีที่ ๒๕ ของไทยโพสต์

            เขาบอกว่า วันดีๆ ต้องคิดดีๆ พูดดีๆ แล้วจะดี ผมอยากดี และดีต่อเนื่องตลอดไป ก็เลยปิดโทรทัศน์

            ไม่ดูข่าว เพื่อไม่ต้องเล่าว่า วันนี้ ใครม็อบกันที่ไหน แล้วจะทำให้เผลอ ให้เกิดภาวะ "เหม็นคาวใจ" ตัวเอง

            เออ....

            "อวยพรตัวเอง" ก็ได้ นิ

                รู้งี้ น่าจะทำมาซะตั้งนาน ไม่งั้น ป่านนี้ ดีไปนานแล้ว!             


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"