ผมไปตั้งวงเวทีไหนที่ถกประเด็นการแก้ไขปัญหาของประเทศ ส่วนใหญ่จะสรุปลงตรงที่ว่าระบบราชการเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด
เพราะระบบราชการไทยยังเทอะทะและมีขั้นตอนมากเกินควร อีกทั้งยังมีเรื่องสินบนใต้โต๊ะอย่างเป็นระบบ
ไม่ว่าจะมีความพยายามปฏิรูประบบราชการมากี่ครั้งกี่หนกี่รัฐบาล ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
อาจเป็นเพราะการขาด "ความกล้าหาญทางการเมือง" ของผู้นำ
หรือเพราะระบบราชการฝังลึกจนเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศได้มากกว่านักการเมืองและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม
ถึงวันนี้เราก็ยังมองไม่เห็นทางสว่างที่ปลายอุโมงค์ในอันที่จะยกเครื่องระบบราชการอย่างจริงจัง
เชื่อหรือไม่ว่า ประสิทธิภาพของระบบราชการไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเลย
แต่ไม่มีใครทำอะไรให้เปลี่ยนแปลงได้
ความหวังของผมอยู่ที่ "ความป่วน" หรือ disruption ทางเทคโนโลยีในทุกๆ ด้านที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะยอมหรือไม่ยอมก็ตาม
เพราะหากคนในระบบราชการไม่ยอมปรับไม่ยอมเปลี่ยนก็จะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง หมดความหมายไปเอง
ยุค digital นั้นคนที่ไม่เปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้บริการอยู่ไม่ได้ เพราะมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทน
ไม่มียุค analog ที่ไม่มีอะไรมาท้าทายหรือคุกคามของเก่าได้
ในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2563 หัวข้อคือ "แฮ็กระบบราชการ เปลี่ยนระบบปฏิบัติการประเทศ: จากบทเรียนการรับมือวิกฤติโควิด-19 สู่ความพร้อมรับมือความท้าทายในโลกใหม่" ผมได้อ่านความเห็นและข้อเสนอของ ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ ที่น่าสนใจมาก
ท่านเปรียบระบบราชการเทียบได้กับระบบปฏิบัติการ (Operating System-OS) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะดึงทรัพยากรทั้ง hardware และ software ของประเทศมาใช้ให้บริการสาธารณะ
หากสมรรถนะของ OS ไม่ทันสมัย หรือไม่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะไม่สามารถประมวลผลออกมาเป็นบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
อาจารย์บุญวราบอกว่า ตัวชี้วัดคุณภาพของระบบราชการ (Quality of bureaucracy/institutional effectiveness and excessive bureaucracy) ที่จัดทำโดย The Economist แสดงให้เห็นว่าคุณภาพและประสิทธิผลของระบบราชการไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
โดยได้ยกตัวอย่าง โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ที่เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19
ซึ่งมีปัญหาจากวิธีการช่วยเหลือที่ไม่ได้นำความต้องการหรือความสะดวกของประชาชนเป็นตัวตั้ง และโครงการช่วยเหลืออื่นๆ ของภาครัฐก็สะท้อนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและแยกส่วนกัน เช่น บริการ e-Service ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มความสะดวกผ่านบริการออนไลน์
แต่ก็ยังเป็นบริการแยกส่วน ส่งผลให้ประชาชนต้องกรอกข้อมูลเดิมซ้ำๆ ที่รัฐเองเคยมีเก็บอยู่แล้ว และได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.ลดกำลังคนด้วยการลดงานที่รัฐทำ ซึ่งงานไม่จำเป็น ไม่สามารถ ไม่คุ้มค่า ก็อย่าได้ทำ
-โดยงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสาร ควรยกเลิกหรือใช้เทคโนโลยีทำแทน
-งานไม่สามารถ คือ งานที่ต้องปรับตัวเร็วให้เอกชนทำ โดยรัฐอำนวยความสะดวก
-งานไม่คุ้มค่า คือ งานที่รัฐทำด้วยต้นทุนที่แพงกว่า ให้คนอื่นทำ
2.ออกแบบและดำเนินการให้บริการดิจิทัลของภาครัฐ (Digital government) ตามความต้องการของประชาชน ประหยัดเวลาด้วยการเชื่อมข้อมูลเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องกรอกซ้ำ
3.เพิ่มอำนาจการตัดสินใจ และถ่ายโอนทรัพยากรแก่ท้องถิ่น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของบริการสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชนและพื้นที่ได้ตรงจุด
4.ทดลองการทำงานแบบใหม่ใน Sandbox เพื่อลองแก้ปัญหาบางประเด็นก่อนที่จะมีการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ใหญ่ขึ้น การทำงานใน Sandbox จะต้องประกอบไปด้วย
-ใช้ประเด็นปัญหาเป็นตัวตั้ง
-ยกเว้นกฎระเบียบเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนรู้
-ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรม ตัวชี้วัด และเป้าหมาย
-รับรองการทำงานใน Sandbox เพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงทางการเมือง และปกป้องคนของรัฐที่เข้ามาร่วม ไม่ให้ถูกเอาผิดจากการทดลองเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานใหม่
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม....อยู่ที่รัฐไทยจะยอมลงมือยกเครื่องอย่างจริงจังเพื่อให้ระบบราชการยังมีความหมายอะไรสำหรับคนไทยบ้างหรือไม่
หากยังช้าหรือลังเลก็เตรียมเก็บกระเป๋ากลับบ้านได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |