จ่อยื่นศาลสั่งเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


เพิ่มเพื่อน    

 

"บิ๊กตู่" ระบุรัฐบาลประนีประนอมการชุมนุมมากที่สุดแล้ว ยันยังไม่ยกระดับใช้เคอร์ฟิวควบคุม "ผบ.ทบ." ประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ย้ำเทิดทูนสถาบันฯ "กอร.ฉ." แจงประกาศฉบับ 4 ไม่มีการสั่งปิดสื่อ "รมว.ดีอีเอส" ปัดจอดำ 4 สื่อ-1 เพจ บอกแค่เชิญคุย "ตร." เล็งออกหมายจับม็อบทุบป้อมแยกบางนา "สมาคมทนายความ-เพื่อไทย" ยื่นศาลสั่งเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "ศาลอุทธรณ์" ให้ประกันตัวเพนกวิน-รุ้ง-ณัฐชนน "หมอทศพร" ก็เฮ "ไมค์-เอกชัย" ไม่ได้ประกันนอนคุกต่อ "ม็อบดาวกระจาย" ย้ายวิกไป 3 จุดย่านเกษตรฯ-หน้าเรือนจำ-นนทบุรี มวลชนร่วมคึกคัก
    เมื่อวันที่ 19 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า รัฐบาลประนีประนอมมากที่สุดแล้ว โดยขอไม่กี่อย่างเอง คืออย่ากระทำความผิด ทำลายทรัพย์สินราชการ ทรัพย์สินประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดต้องระมัดระวังการกระทบกระทั่งกันในกลุ่มผู้ชุมนุม และเมื่อวันที่ 18 ต.ค.จะเห็นว่ามีเหตุขึ้นมาแล้ว ทะเลาะกันตีกันเอง เหล่านี้ก็ขอให้ระมัดระวังให้มากที่สุด แต่ประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำคือในเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนั้นเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลขอร้องกันไม่กี่เรื่อง ฉะนั้นขอให้ชุมนุมกันโดยสงบ รัฐบาลก็ผ่อนคลายไปบ้างแล้ว การใช้กำลังต่างๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด แต่ขออย่าให้มีการสร้างสถานการณ์ให้นำไปสู่จุดนั้นก็แล้วกัน ซึ่งการปฏิบัติงานเป็นเรื่องของฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานตามประกาศพิจารณาอยู่
    ถามว่ามีการพูดถึงการประกาศใช้เคอร์ฟิวแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ยังไม่ได้พูดถึงอะไรเลยสักอย่าง ถามกันไปตลอด บอกแล้วว่ายังไม่มีก็จะถามให้มันมีอยู่ได้ เข้าใจตรงนี้เสียบ้าง"
    ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้  ผบ.ทบ. ในฐานะรอง ผอ.รมน. จัดประชุมหน่วยขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. (นขต.กอ.รมน.) วาระพิเศษ เพื่อรับฟัง ชี้แจง สั่งการ และรับแนวทางการปฏิบัติงาน ในโอกาสที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์เข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผบ.นขต.กอ.รมน. (ส่วนกลาง), กอ.รมน.ภาค และรอง ผอ.รมน.จังหวัดทั่วประเทศ
    พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์มีข้อเน้นย้ำประเด็นที่สำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่สร้างคุณูปการและความสำคัญยิ่งต่อประเทศ ด้วยการเสริมสร้างให้ประชาชนได้ตระหนักและเทิดทูนพิทักษ์รักษาพระบรมเดชานุภาพด้วยความจงรักภักดี ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    มีรายงานว่า ตลอดทั้งวันจันทร์ที่ผ่านมา มีการส่งต่อคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 ที่ให้ตรวจสอบและระงับการนำเสนอข่าวของ Voice TV,  ประชาไท, The Reporters, THE STANDARD, เยาวชนปลดแอก Free YOUTH ซึ่งคำสั่งลงนามโดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.)   
    พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงชี้แจงถึงคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 ที่ให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  2548 ที่มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เหตุผลที่ออกประกาศฉบับที่ 4 เนื่องจากได้รับการแจ้งจากหน่วยข่าวว่าได้มีการนำเสนอข้อมูลอันจะเกิดสับสนและปลุกปั่นก่อให้เกิดความไม่สงบได้ จึงประกาศออกมา
แจง 4 สื่อ-1 เพจแค่เชิญคุย
    พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวว่า การประกาศนั้นเป็นประกาศที่ต้องให้ทั้ง กสทช.และกระทรวงดีอีเอสไปพิจารณาในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ได้รับว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำผิดกฎหมายก็ให้หน่วยงานนั้นๆ ไปดำเนินการพิจารณาตามการบังคับใช้กฎหมายในสภาวะปกติ ถ้าต้องการถอดข้อความออกบางช่วงหรือระงับการออกอากาศต้องไปขออำนาจศาล ประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้บังคับใช้ เพราะจำเป็นต้องมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
    "กอร.ฉ.ยังไม่มีนโยบายหรือคำสั่งที่จะกำจัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่มีการสั่งปิดสื่อ เป็นเพียงการจัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้นๆ หรือเป็นช่วงๆ เวลาไป ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนสถานการณ์รุนแรงขึ้นได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องออกมาในลักษณะนี้ก่อน" ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว  
    ส่วน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนก่อความวุ่นวายบริเวณสี่แยกบางนา โดยขว้างปาสิ่งของและทุบตีป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจรว่า สน.บางนาได้รับคำร้องทุกข์และวันนี้ (19 ต.ค.) จะขอศาลออกหมายจับผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
    ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการตรวจสอบเพื่อระงับการเผยแพร่-ลบข้อมูลบางส่วนของ 4 สื่อและ 1 เพจว่า คำสั่งที่ออกมาเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ก็คงต้องไปเชิญสถานีต่างๆ มาหารือ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่ได้เห็นคำสั่งครบถ้วนก็คิดว่าจะไปปิดจอดำ ซึ่งความจริงยังไม่ถึงขนาดนั้น
    "เบื้องต้น กสทช.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงเชิญมาคุย ว่าเนื้อหาอะไรที่ไม่เหมาะสมก็ควรจะระมัดระวัง ข้อความไหนที่ขึ้นไปแล้วยังค้างอยู่ก็ลบไป อย่าให้ไปเป็นรูปแบบของการยุยง ปลุกปั่นหรือทำอะไรที่มันผิดกฎหมาย แต่เนื้อหาอะไรที่สามารถทำได้ การสื่อสารปกติ การรายงานข่าวปกติ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ทั้งนี้ในเบื้องต้นช่องที่เป็นสำนักงานข่าวต่างๆ ที่รายงานข่าว ถ้าระมัดระวังเนื้อหาที่ออกมา เพราะที่ผ่านมาเราก็อะลุ่มอล่วยเยอะมาก อะไรที่พอไปได้เราก็ไม่ได้ไปลบหรือไม่ได้ไปขอความร่วมมือ เนื่องจากมีคำสั่งมาแล้วก็อยากให้ดำเนินการให้รอบคอบ จะนำเสนออะไรก็ขอให้ระมัดระวังอย่าให้ไปเข้าข้อกฎหมาย ไม่เช่นนั้นผู้ที่รับปฏิบัติเขาก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าพิจารณาแล้วก็ระมัดระวังหน่อย ซึ่งก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ในบางส่วน ก็ดูเนื้อหาหน่อย" นายพุทธิพงษ์กล่าว
    ถามว่าในโซเชียลมีเดียอย่าง The Reporters หรือ THE STANDARD ที่บอกว่าจะมีการปิดเว็บเหล่านี้สามารถทำได้หรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ตนคิดว่าก็ต้องดูตามคำสั่ง เพราะทุกอย่างเราก็ทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและตามกฎหมาย ซึ่งในส่วนของดีอีเอสก็รับปฏิบัติพิจารณาดูตามสมควร
    รมว.ดีอีเอสกล่าวว่า ขณะนี้มีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.2548 ซึ่งในวันนี้ (19 ต.ค.) จะมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงดีอีเอสไปแจ้งความดำเนินคดีผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย อาจจะมีทั้งคนที่แชร์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเราได้ทยอยดูว่าจะสามารถระบุได้ว่าเป็นใครบ้าง ถือเป็นวันแรกที่จะไปแจ้งความ และหลังจากนี้จะทยอยแจ้งความ จึงอยากเตือนประชาชนว่าการใช้โซเชียลมีเดียใช้ได้ แต่ต้องระมัดระวังเพราะขณะนี้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีข้อจำกัดมากขึ้นในเรื่องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก
ยื่นศาลเพิกถอนฉุกเฉิน
    ด้าน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านคำสั่งการตรวจสอบ-ระงับสื่อมวลชนในการสถานการณ์การชุมนุม
    ที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันออกแถลงการณ์ต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เรียกร้องให้รัฐบาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม. เนื่องจากไม่มีเหตุผลเพียงพอ ขอให้ปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทันที เนื่องจากผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
    ที่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 20 ต.ค.63 เวลา 10.00 น. ตนพร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศคำสั่งและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากเห็นว่าการที่นายกฯ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องมีสถานการณ์บ้านเมืองที่เกี่ยวกับความร้ายแรงทางความมั่นคง แต่การชุมนุมของเด็กนักเรียนนักศึกษาสุจริต อ้างนำเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาใช้แล้วนำมาสลายการชุมนุม โดยใช้รถฉีดน้ำที่มีสารเคมี มีต้นตออาศัยอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวทั้งสิ้น
    ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานสอบสวนนำตัว นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ มายื่นผัดฟ้องฝากขังคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีร่วมชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.63
    นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กล่าวว่า ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหา ส่วนที่ผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราวนั้น ศาลพิจารณาแล้วก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยให้ทำสัญญาประกันวงเงิน 2 หมื่นบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ แต่หากผู้ต้องหาผิดสัญญาประกันดังกล่าวจะถูกปรับตามวงเงิน 2 หมื่นบาท
    ส่วนที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม คุมตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก  หรือไมค์ แกนนำคณะราษฎร 2563 อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดระยอง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 2  สำนวน มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกต่อศาลอาญาเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-30 ต.ค.63 โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้ง 2 สำนวน
    ต่อมาศาลอาญาได้พิเคราะห์คำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายภาณุพงศ์แล้ว เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งยังกระทบต่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมโดยรวม ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว จึงน่าเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง หรือก่อเหตุร้ายประการอื่นอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหา  
    โดยภายหลังที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนายภาณุพงศ์ทั้งสองสำนวน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้นำตัวนายภาณุพงศ์ไปคุมขังยังเรือนจำในชั้นฝากขังต่อไป
ให้ประกัน 'เพนกวิน-รุ้ง'
    ส่วนกรณีผู้รับมอบอำนาจจากนายเอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องหาคดีร่วมกันพยายามกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวเป็นสลากออมสิน มูลค่า 1 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง อีกทั้งยังกระทบต่อความมั่นคงและสังคมโดยรวม ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการให้ประกันตัว  กรณีน่าเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแล้ว อาจไปก่อให้เกิดความไม่สงบ ยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหา
    ที่ศาลแขวงดุสิต กรณีพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหา 19 รายเมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 จากกรณีร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 13 ต.ค.63 อาทิ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ ซึ่งต่อมาผู้ต้องหาทั้ง 19 รายได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ให้ประกันตัวดังกล่าว ซึ่งวันนี้ (19 ต.ค.) ศาลแขวงดุสิตได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 19 คนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมดในระหว่างสอบสวน โดยตีราคาประกันคนละ 2 หมื่นบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาทั้ง 19 คนไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
    ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายบุญเลิศ? วิเศษปรีชา? คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา พร้อมด้วย นายประจักษ์? ก้องกีรติ? ผศ.ดร.คณะรัฐศาสตร์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้เดินทางมาเพื่อขอเข้าเยี่ยมนางสาวปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล, นายณัฐชนน หรือณัฐช ไพโรจน์ และนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ ที่ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่เมื่อวันที่ 15  ต.ค.ที่ผ่านมา
    ต่อมาศาลจังหวัดธัญบุรีอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคำร้องฝากขัง คดีหมายเลขดำที่ ฝ500/2563 ที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนยื่นคำร้องฝากขัง น.ส.ปนัสยา, นายณัฐชนน และนายพริษฐ์ ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ และข้อหาอื่น กรณีชุมนุมที่ลานพญานาค ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ต.ค.63 ศาลธัญบุรีมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสาม
    ทนายความผู้ต้องหาทั้งสามยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ต่อมาเวลาประมาณ 14.20 น. ศาลธัญบุรีส่งคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ผู้ต้องหาทั้งสามเป็นนักศึกษา ผู้ขอประกันผู้ต้องหาทั้งสามเป็นอาจารย์ ผู้ต้องหาทั้งสามระบุในอุทธรณ์ว่า ขอให้คำมั่นจะไม่หลบหนีและจะปฏิบัติตามนัดของศาลโดยเคร่งครัด น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสามจะไม่หลบหนี อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสามในระหว่างสอบสวน ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป
    มีรายงานว่า ภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว ยังไม่มีการยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวในวันนี้ จึงคาดว่าจะมีการยื่นวางหลักทรัพย์ต่อศาลในวันที่ 20 ต.ค.63
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 9  นายเข้าไปที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พร้อมแสดงหมายศาลตรวจยึดหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษา เพื่อนำไปตรวจสอบทั้งหมด 3 ปก คือ 1.ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง-ธงชัย วินิจจะกูล 2.ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี-ณัฐพล ใจจริง 3.ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ-ณัฐพล ใจจริง
ม็อบดาวกระจาย 3 จุด
    วันเดียวกัน กลุ่มเราคือราษฎรยังคงจัดชุมนุมแบบดาวกระจายตามจุดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (19 ต.ค.) ในพื้นที่ กทม.และนนทบุรีมีการชุมนุม 3 จุด คือ 1.นนทบุรี MRT กระทรวงสาธารณสุข  2.หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และ 3.แยกเกษตร
    จุดแรก บริเวณหน้ากระทรวงสาธารณสุข ฝั่งสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีกระทรวงสาธารณสุข  กลุ่มมวลชนนำโดยเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และนนทบุรีปลดแอก เริ่มทยอยเดินทางมาปักหลักตั้งแต่เวลา 15.00 น.ที่ผ่านมา โดยในเวลา 16.50 น. บริเวณถนนติวานนท์ขาเข้ามุ่งหน้าแยกติวานนท์  ก่อนถึงกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มแกนนำได้นำรถมอเตอร์ไซค์และแผงเหล็กมากั้นเส้นทางการจราจร 2  ช่องทางเป็นระยะทาง 500 เมตร หนึ่งช่วงสถานีรถไฟฟ้า โดยเปิดให้ประชาชนสัญจรได้เพียง 1 ช่องทาง  ขณะที่ถนนติวานนท์ขาเข้า มุ่งหน้าแยกแครายยังเปิดให้สัญจรได้ตามปกติ ขณะที่แกนนำเองก็ได้เริ่มขึ้นปราศรัย พร้อมขอให้มวลชนที่มาร่วมการชุมนุมนั่งลงบนพื้นเพื่อฟังการปราศรัยด้วยความเรียบร้อย
    เวลา 17.30 น. มวลชนเริ่มทยอยเดินเท้าจากหน้ากระทรวงสาธารณสุขไปที่ สภ.เมืองนนทบุรี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง อายุ 28 ปี แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่และนนทบุรีปลดแอก และส่งไปที่ ตชด.ภ.1 จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเวลา 18.25 น. แกนนำสั่งให้มวลชนนั่งปักหลักอยู่บนถนนราชพฤกษ์?-?นนทบุรี 1
    จุดที่สอง บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 17.00 น. คณะราษฎรทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรม "กินลาบ กินก้อย กับผองลาบฎร" บริเวณหน้าทางเข้าเรือนจำ โดยระบุว่าที่ต้องเป็นลาบก้อย เนื่องจากเป็นอาหารที่เพื่อนแกนนำซึ่งถูกจับกุมตัวไปชอบทาน
    ขณะที่บริเวณหน้าประตูมีการแสดงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ พร้อมย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ปล่อยตัวแกนนำ 2.หยุดคุกคามผู้ชุมนุม 3.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีการใช้อำนาจไปในทางมิชอบ ทั้งนี้ระหว่างทำกิจกรรมมีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ มาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจผู้ทำกิจกรรมด้วย
    หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม กลุ่มนักศึกษาและมวลชนได้วางดอกกุหลาบที่หน้าเรือนจำเพื่อเป็นกำลังใจส่งต่อไปให้เพื่อนที่ถูกจับกุม โดยเวลา 18.00 น.ได้ร่วมกันร้องเพลงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว จากนั้นจึงถือว่าเสร็จสิ้นกิจกรรมและเดินทางไปร่วมชุมนุมบริเวณแยกเกษตรต่อ
    จุดที่สาม บริเวณสี่แยกเกษตร เวลา 17.30 น. แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้นัดหมายให้มวลชนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับ โดยมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมหนาตา  บริเวณนี้มีนักเรียนและนักศึกษาผลัดกันขึ้นปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล พร้อมตะโกนด่า นายกฯ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ขณะที่การจราจรถนนพหลโยธินถูกปิดทั้งขาเข้าและขาออก
    ส่วนภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งอยู่ติดกับสถานที่ชุมนุม พบว่านักศึกษาได้ตั้งเต็นท์ให้บริการผู้มาชุมนุม โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมที่เข้าร่วมชุมนุมมีบริการเทปกาวปิดชื่อ ปิดสถาบัน  นอกจากนี้ยังแจกน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย ยาดม และนมเกษตร
    เวลา 18.30 น. กลุ่มมวลชน นักเรียน นักศึกษาได้เข้ามาจนล้นพื้นที่ จากบริเวณใจกลางผู้ชุมนุมแยกเกษตร ถนนพหลโยธิน กลุ่มผู้ชุมนุมขยายไปจนถึงสถานีบีทีเอสหน้ากรมที่ดิน มุ่งหน้าบางเขนท้ายขบวนยาวถึงเกือบกรมป่าไม้ ส่วนการจราจรมุ่งหน้าถนนประดิษฐ์มนูธรรมและมุ่งหน้างามวงศ์วานยังสามารถใช้ได้โดยการลอดอุโมงค์
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลชนสลับกันขึ้นกล่าวโจมตี แต่สามารถสื่อสารกันได้ในวงแคบเพราะมีเพียงโทรโข่งเท่านั้น แต่เมื่อมีการชู 3 นิ้วหรือตะโกนด่านายกฯ จะตะโกนเป็นคลื่นกันอย่างพร้อมเพรียง
    กระทั่งเวลา 19.10 น. แกนนำแยกเกษตรได้ประกาศยุติชุมนุม จากนั้นผู้ชุมนุมต่างทยอยเดินทางกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ
    ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แจ้งว่าบริษัทมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่ง โดยจะปิดบริการชั่วคราว 3 สถานี ได้แก่ สายสุขุมวิท-สถานีเสนานิคม สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีกรมป่าไม้ ตั้งแต่เวลา  17.30 น.เป็นต้นไป ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกว่าจะมีประกาศการเปลี่ยนแปลง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"