“ประธานชวน” ร่อนหนังสือถึง “ประยุทธ์” ให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญอภิปรายตามมาตรา 165 “บิ๊กตู่” ลั่นหนุนเต็มที่ แต่ไม่ได้ทำตามแรงกดดันเพราะมีแนวคิดอยู่แล้ว จ่อชงที่ประชุม ครม. 20 ต.ค. "ฝ่ายค้าน" ยันต้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปล่อยผู้ถูกจับกุม เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดเวทีคุยเรื่องปฏิรูปสถาบัน “สมพงษ์” สบช่องไล่ “นายกฯ” ไขก๊อก เพราะไม่เช่นนั้นเจอยื่นไม่ไว้วางใจคนเดียว ชี้ยังไม่ต้องงัดมาตรา 272 นายกฯ คนนอก "7 พรรคเล็ก" ประสานเสียงยังอยู่รัฐนาวาลุงตู่ไม่หนี
เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในเวลา 09.25 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เรียกตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน เพื่อหาทางออกให้บ้านเมืองจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น
โดยนายชวนให้สัมภาษณ์หลังหารือร่วมว่า ส่วนใหญ่ยืนยันต้องการให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งจะรีบทำหนังสือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แจ้งให้ทราบว่าทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอยากให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ
เมื่อถามถึงกระแสข่าวมีการโทรศัพท์พูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เกี่ยวกับการเปิดประชุม นายชวนยอมรับว่าได้พูดคุยกันตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ นายชวนได้ทำหนังสือด่วนที่สุด สผ 0014/10188 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 โดยได้ระบุถึงผลประชุมช่วงเช้าว่า หลังหารือร่วมกันแล้วได้ข้อสรุปและแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ครม.ควรมีมติเห็นชอบในการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสอภิปรายแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและลดปัญหาข้อขัดแย้ง และ 2.ครม.สมควรให้รับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. โดยขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 165
ต่อมา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ร่วมกันแถลงข่าว
โดยนายวิรัชแถลงว่า ทุกฝ่ายเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดข้องที่จะให้เปิดประชุมสภา แต่ติดอยู่ตรงต้องทำเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอเปิดประชุม เนื่องจากวันเปิดประชุมสภาสมัยสามัญที่สองเหลืออีก 11 วัน ซึ่งนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าต้องมีเหตุและผลในการเสนอ และต้องเสนอวันปิดด้วย เพราะเพิ่งมีคำประกาศพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญออกมาวันที่ 9 ต.ค. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 พ.ย. ดังนั้นหากจะเสนอไปเกรงว่าจะซ้ำซ้อน ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปพิจารณาเรื่องนี้
ด้านนายสุทินกล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือว่าเมื่อเปิดแล้วจะอภิปรายเรื่องใดบ้าง ก็ได้ข้อสรุปว่าจะพูดเรื่องการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่หลายคนเสนอให้ยกเลิก รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะต้องทำพร้อมกับร่างของไอลอว์ ซึ่งเราอยากให้การเปิดวิสามัญครั้งนี้เน้นการพูดจาสาระล้วนๆ เพราะไม่อยากให้สังคมกังวลว่าเปิดแล้วก็มาทะเลาะด่ากัน แต่เปิดเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ หาทางตอบสนองต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้ก็ต้องทำ
หนุนเปิดวิสามัญ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวเรื่องนี้ว่า รู้ว่าทุกคนเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง รัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งทราบว่าวันที่ 19 ต.ค.สภาจะหารือเรื่องการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยรัฐบาลก็มีความคิดนี้อยู่แล้วในขณะนี้เพื่อให้เกิดทำความเข้าใจกันในสภา รัฐบาลจำเป็นต้องทำหน้าที่ตรงนี้ คงไม่ได้ทำตามแรงกดดันของใคร รัฐบาลมีแนวคิดอย่างนี้อยู่แล้ว ซึ่งมี 2 กลไกด้วยกัน โดยกลไกประธานสภาเปิดประชุมสภา และรัฐบาลเป็นอีกส่วนหนึ่ง
"รัฐบาลยืนยันสนับสนุนการเปิดประชุมสภาวิสามัญเพื่อให้พิจารณาร่วมกัน นำข้อเท็จจริงมาพูดจากัน ดีกว่าให้เป็นเรื่องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด และยิ่งวันนี้ปัญหาประเทศไทยมีอยู่หลายประการด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องเหล่านี้และยินดีที่จะใช้กลไกรัฐสภา ผมขอยืนยันตรงนี้วันที่ 20 ต.ค.จะหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมการให้พร้อม" จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบคำถามที่ว่า หากเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญแล้วจะหารือประเด็นใดบ้างว่า "ก็คอยดูแล้วกัน"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุในเรื่องนี้ว่า ไม่สามารถทำได้ง่ายและเร็ว แต่กำลังหาช่องทางอยู่ เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยสามัญออกมาแล้วในวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเหลือเวลาเพียงกว่า 10 วันเท่านั้น แต่หากต้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญแทรกขึ้นมา ก็ทำได้ตามกฎหมายมาตรา 122 และมาตรา 123 ซึ่งเป็นไปได้ทุกทาง เพราะมาตรา 122 รัฐบาลขอเปิดเอง ส่วนมาตรา 123 เป็นเรื่องของสมาชิกสภา 2 สภาเข้าชื่อ 1 ใน 3 ร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภา เป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกำลังคุยกันอยู่
"จะใช้คำว่ารุนแรงก็ไม่เชิง แต่หมายความว่ามันมากขึ้นและหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นการที่จะเอาเรื่องไปพูดคุยกันในสภาก็น่ามีประโยชน์ ซึ่งประโยชน์มีหลายอย่างและมีประโยชน์เยอะ เอาเป็นว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย" นายวิษณุกล่าวถึงการชุมนุมและการเปิดสภา
เมื่อถามว่า มีข้อเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้เจรจากับผู้ชุมนุมเองโดยการเปิดเวทีเจรจา นายวิษณุกล่าวว่า ก็ถือว่าเป็นทางออกทางหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนดำเนินการอยู่ เมื่อถามย้ำว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไหมที่จะไม่ใช้เวทีสภา แต่รัฐบาลเปิดเวทีเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเอง นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ ตอบไม่ถูก เมื่อถามย้ำว่าแรงกดดันมาอยู่ที่รัฐบาลและนายกฯ นายวิษณุกล่าวว่าก็รับทราบ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีม็อบกดดันให้พรรคถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะมาประท้วงที่ สธ.ว่า ไม่ใช่กดดัน การที่เราทำงานร่วมกันในรัฐบาลต้องมีสปิริตทำงานร่วมกัน และเหตุการณ์ความขัดแย้งอะไรต่างๆ เราทุกคนในรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เลยแม้แต่น้อย เราต้องทำงานแต่ละช่วงเวลาอย่างดีที่สุด
“เราแคร์ความรู้สึกประชาชนกันทุกคน ไม่มีใครนอนหลับใน ครม. ตี 1 ตี 2 ยังทำงานกันอยู่เลย ไม่มีใครสบายในเรื่องนี้ ทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ ผมได้บอกให้สมาชิกพรรคทุกคน ส.ส.ให้หาวิธีการที่จะทำความเข้าใจและสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้เร็วที่สุด ไม่ต้องกดดันกัน อย่าไปกดดันกันเลย การกดดันจะทำให้เกิดความเครียด เกิดการคิดอะไรที่ไม่รอบคอบ มีวันหนึ่งผมส่งไลน์ไปหาท่านนายกฯ ตอนตี 5 เพื่อส่งข้อมูลไปให้ดูเฉยๆ ท่านตอบกลับมาในทันทีเลยแล้วบอกว่ายังไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เพราะฉะนั้นไม่มีใครสบายใจกับเหตุการณ์แบบนี้ ทุกคนก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่" นายอนุทินกล่าว
ชทพ.ยึดมั่น 3 สถาบัน
ด้าน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา? (ชทพ.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรคว่า อุดมการณ์ของพรรคสืบทอดมาตั้งแต่สมัยนายบรรหาร? ศิลปอาชา คือยึดมั่นในชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแนวทางนี้พวกเราชาวพรรคชาติไทยพัฒนารับสืบทอดมาอย่างมั่นคง? ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคสนับสนุนการแก้ไขโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบของการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
นายสุทินให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า วันนี้ต้องทำให้สังคมมั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาและหาทางออกได้ เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ ซึ่งเมื่อเปิดประชุมแล้วสาระที่จะหารือกันก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับ หรือต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด ดังนั้นก็เห็นควรที่ต้องเปิดประชุมแบบวิสามัญเพื่อลงมติโหวต และเชื่อว่าหากโหวตผ่านสถานการณ์ก็จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่ผ่านก็จะสามารถยื่นต่อได้ในสมัยประชุมแบบสามัญ
“ต้องหารือเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยว่าออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะก็จะทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้น และควรยกเลิกหรือไม่ รวมถึงการให้คำแนะนำท่าทีรัฐบาลต่อผู้ชุมนุม และควรที่จะเปิดเจรจากัน รวมถึงท่าทีของรัฐบาลที่มีการข่มขู่ ต้องลดท่าทีนี้ด้วยหรือไม่ ทุกวันนี้ต้องตระหนักว่านายกฯ ต้องเป็นผู้แก้ปัญหา หากสภาจะมีมติหรือแนะนำอะไรบางอย่างกับนายกฯ ก็เชื่อว่าจะมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าผู้ชุมนุม" นายสุทินกล่าว
นายสุทินกล่าวถึงการยุบสภาหากเกิดขึ้นว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และต้องนำปัญหานี้ไปแก้ในปีหน้าอีก ทั้งเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเอง และหากยุบสภาขณะนี้ยังต้องใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิมอยู่ ซึ่งจะทำให้ปัญหานั้นวนกลับมาอีก และคำว่าสืบทอดอำนาจก็ยังจะถูกหยิบยกขึ้นมาอีก ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้คือ การทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และจะเอาใครเป็นรัฐบาลในช่วงนี้ก็ต้องมาช่วยกันคิด และต้องเป็นรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับ ต้องถ่วงดุลและตรวจสอบได้
เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นายสุทินกล่าวว่า รัฐสภาไม่สามารถพูดได้โดยตรง แต่หากมีการตั้งเวทีขึ้นมาและเปิดโอกาสให้พูดว่าปฏิรูปนี้คืออะไร ต่างจากการล้มล้างหรือไม่ และต้องการปฏิรูปอะไร ก็เชื่อว่าต้องมีการรับฟังอย่างเป็นเหตุเป็นผลก่อน ซึ่งอะไรทำได้หรือไม่ได้สังคมจะมีคำตอบเอง จึงไม่ควรไปวิตกกับข้อเสนอดังกล่าว หากมีการพูดคุยกันอาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเปิดเวทีดังกล่าวเลย ซึ่งรัฐสภาควรที่จะเป็นผู้หารูปแบบว่าการเปิดเวทีลักษณะนี้ควรเป็นเวทีแบบไหน
เมื่อถามถึงกระแสเริ่มมีการเสนอประเด็นมาตรา 272 ที่ให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 โดยเปิดช่องเสนอนายกฯ นอกบัญชีได้ นายสุทินกล่าวว่า เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทั้ง 700 คนมีวิจารณญาณว่าอะไรสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งมาตราดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ แต่ต้องมาคิดกันว่าสถานการณ์ปัจจุบันนี้เหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ลงรายชื่อแล้ว 211 รายชื่อ ขาดอีก 34 รายชื่อ โดยฝ่ายค้านจะนำญัตติที่ลงชื่อแล้วมาฝากไว้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้มาลงชื่อให้ครบ 245 รายชื่อ โดยญัตติที่จะยื่นก็จะมีทั้งเรื่องการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทันที รวมถึงยกเลิกการจับกุมและปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม ซึ่งในการหารือร่วมกับนายชวนในช่วงเช้า นายชวนก็เห็นด้วยในการแนะนำรัฐบาลให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ยื่นอภิปรายนายกฯ
ขณะที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท.แถลงมติพรรคว่า พรรคจะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร่งด่วนเพื่อให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง และขอให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทุกคน รวมทั้งขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศลาออกไปเสียเลย เพราะในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญเดือน พ.ย.เราจะยื่นอภิปรายนายกฯ เพียงคนเดียว
เมื่อถามว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แล้วจะเสนอใครนั่งตำแหน่งนายกฯ นายสมพงษ์กล่าวว่าต้องเป็นไปตามกติกาก่อน โดยต้องเสนอชื่อตามรายชื่อของแคนดิเดตนายกฯ ที่เคยยื่นไว้ ซึ่งพรรคต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ยังเหลือนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอยู่ ส่วนเรื่องนายกฯ คนนอกนั้น แคนดิเดตจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทยก็มี พรรคเพื่อไทยก็มี 3 คน คิดว่าตัวเลือกมีพอเพียง
ถามว่าหากสภาไม่สามารถหาคนมานั่งในตำแหน่งนายกฯ ได้ ต้องนำไปสู่การใช้มาตรา 272 แก้ปัญหา นายสุทินกล่าวว่าสถานการณ์ยังไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าถึงขั้นต้องใช้มาตรา 272 จริง สมาชิกรัฐสภากว่า 700 คนคงต้องใช้ดุลพินิจ
นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคก้าวไกล (กก.) กล่าวถึงการเปิดสมัยประชุมวิสามัญว่า นอกจากรัฐสภาจะต้องเปิดสมัยประชุมเพื่ออภิปรายตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารแล้ว เราคิดว่าควรนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาด้วย ในเรื่องของการรับหลักการในวาระแรกที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ หากรัฐบาลตั้งใจจริงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะคลี่คลายสถานการณ์ในการเมืองตอนนี้อย่างเป็นรูปธรรม
"ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทันที เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถือว่าเป็นการรัฐประหารเงียบ" นายชัยธวัชกล่าว
วันเดียวกัน กลุ่ม 7 พรรคเล็กซึ่งประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาภิวัฒน์ และพรรคพลเมืองไทย ร่วมกันแถลงถึงจุดยืนต่อสถานการณ์ขณะนี้ โดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพวกเราพร้อมที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ เทิดทูนสถาบันชาติ และศาสนา
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศลุกลามจากไล่นายกรัฐมนตรี แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตอนนี้กลายมาเป็นเปิดหน้าจาบจ้วงสถาบันภายใต้ข้ออ้างการกล่าวว่าปฏิรูปสถาบัน พลังธรรมใหม่จึงมีจุดยืนปกป้องสถาบันซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ
“ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการชุมนุมโดยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง เช่นฝ่ายรัฐบาลต้องพิจารณาทบทวนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ณ วันนั้นอาจจะมีความจำเป็น เพราะมีการจาบจ้วงสถาบันอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่พอมาถึงวันนี้แล้วรัฐบาลต้องทบทวน” นพ.ระวี กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้เมื่อ 7 พรรคเล็กยังร่วมรัฐบาลอยู่ ก็จะช่วยเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา และจะขออยู่ร่วมกับรัฐบาลไม่มีการถอนตัว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |