เปิดรัฐสภาวิสามัญ ลดดีกรี...ม็อบเดือด


เพิ่มเพื่อน    

 

         เหนือความคาดหมายของหลายคน ในการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา เยาวชน ที่ไม่มั่นใจว่าการประกาศนัดชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค.จะสมราคาคุยหรือไม่

                แต่เมื่อถึงเวลาจริงผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลไปยังถนนราชดำเนิน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าม็อบเหล่านั้นตั้งใจแต่แรก หรือเป็นเพราะการดำเนินการของรัฐ ในการเรียกแขกจากทั่วสารทิศ จับกุมตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" เมื่อวันที่ 13 ตุลา เป็นเหตุให้ม็อบยิ่งตบเท้าไปร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น และจากนั้นเรื่อยมาก็มีการนัดชุมนุมทุกวัน

                โดยเมื่อไล่เรียงวิธีการรับมือของรัฐบาล เริ่มในช่วงมืดของวันที่ 13 ตุลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบกับมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หวังที่จะควบคุมสถานการณ์ความรุนแรง

                แต่ดูเหมือนจะล้มเหลว 

                มีการออกหมายจับบรรดาหัวโจกแบบเหี้ยนเตียน จนกลายเป็นม็อบไร้หัวก็แล้ว กลับไม่ได้ทำให้มวลชนเสียกำลัง ในทางตรงกันข้าม เมื่อมีการเรียกชุมนุม มวลชนก็ออกมากันทันทีทันใจ และเหนียวแน่น 

                อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ยิ่งตอกย้ำให้แย่ลงกว่าเดิม ในค่ำวันที่ 16 ต.ค. คือการสลายการชุมนุมด้วยการใช้สายฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดใส่ม็อบ นับได้ว่ารัฐบาลเสียแต้ม หลายฝ่ายออกมาต่อต้านโจมตีการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลที่เกินความจำเป็น 

                เนื่องจากในวันดังกล่าวไม่มีสัญญาณใดที่สื่อให้เห็นว่าจะมีการชุมนุมยืดเยื้อหรือเป็นอันตราย 

                และที่น่าเป็นกังวลคือ การด่าทอ จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถควบคุมกับปัญหาเหล่านั้นได้เลย 

                นอกจากนี้ เกมสกัดความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมในโลกโซเชียลมีเดีย ภาครัฐก็ยังเดินตามหลังอยู่มาก ได้แต่ตามปิด ซึ่งหากรัฐปิด มวลชนก็ย้ายไปเปิดกลุ่มใหม่ได้เรื่อยๆ แบบว่า ปิดได้ก็เปิดใหม่ได้เหมือนกัน 

                ทั้งนี้ หากประเมินจากข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.แก้รัฐธรรมนูญ 2.นายกรัฐมนตรีลาออก และ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จะพบว่าสิ่งที่สามารถทำได้ดีที่สุดในขณะนี้ เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติที่เกิดขึ้น

                คือ การตราพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลดระดับความรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ได้เปิดช่องไว้ให้แล้ว 

                ล่าสุด “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ภายหลังจากที่ทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันให้เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสอภิปรายแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อเท็จจริง

                อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่ส่งถึงนายกฯ ยังระบุว่า ภายใต้การเปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญนี้ คณะรัฐมนตรีควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. โดยขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 อีกด้วย 

                หากไม่มีอะไรผิดพลาด การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น่าจะมีการอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป 

                ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตามคือ จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญกี่วัน ที่สำคัญคือต้องจับตาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่สามารถทำได้มากที่สุดในตอนนี้ว่าจะลงมติรับหลักการในช่วงสมัยวิสามัญนี้ได้เลยหรือไม่ 

                หรือหากสมัยวิสามัญเปิดไม่กี่วันก็ต้องปิด แล้วจะต้องไปลงมติในการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ส.ว.ยังจะดึงเกมยื้อเวลายั่วอารมณ์ผู้ชุมนุมอีกหรือไม่?.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"