'ตำรวจเป็นขี้ข้ากฎหมาย' 'บิ๊กปั๊ด' ย้ำเราไม่ทำไม่มีคนอื่นทำ


เพิ่มเพื่อน    

     สถานการณ์การเมืองสุกงอม นับตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 63 ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกไปจากการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงทุกองคาพยพด้วย, เปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชนทั้งฉบับ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาอยู่ตามครรลองภายใต้รัฐธรรมนูญระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง

            โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง "ปฏิรูปสถาบัน" ที่มี อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โหมโรงให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย หยั่งกระแสกันตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. นำมวลชนบุกสนามหลวง ปักหมุดคณะราษฎร ยื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรี เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

            อิงประวัติหน้าการเมือง กลุ่มมวลชนเคลื่อนขบวนเข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล แต่จุดเปลี่ยนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามขวางขบวนเสด็จพระราชินีและแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่ บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐและแยกนางเลิ้ง กระทั่งมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ ระบุว่า มีการระดมก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันเชื่อได้ว่ามีการกระทำความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ ต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติโดยเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมแบบเบ็ดเสร็จก่อนฟ้าสาง ควบคุมตัวทนายอานนท์ เพนกวิน และรุ้ง แกนนำไม่เอาสถาบัน

            กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินร้ายแรง (กอร.ฉ.) ถูกตั้งขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี "บิ๊กปั๊ด" พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีอำนาจเต็มในการควบคุมสั่งการ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แค่เสือกระดาษ กลุ่มมวลชนเมินไม่ให้ค่า เดินหน้าชุมนุมรายวัน ปิดแยกราชประสงค์ ปิดแยกปทุมวัน ใจกลางพื้นที่แหล่งเศรษฐกิจของเมืองหลวง การจราจรเป็นอัมพาต "บิ๊กปั๊ด" ในฐานะ ผอ.กอร.ฉ. ตัดสินใจใช้ไม้แข็ง สั่งสลายการชุมนุมหลังจากการชุมนุมผ่านเพียง 3 ชั่วโมง

            กองกำลังควบคุมฝูงชน 3 กองร้อย พร้อมโล่ กระบอง รถฉีดน้ำความดันสูง เข้ากระชับพื้นที่ตามยุทธวิธีจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่ประกาศแจ้งให้เลิกการชุมนุม ให้เวลาออกจากพื้นที่ กลุ่มมวลชนฝ่าฝืนคำประกาศตั้งแผงเหล็กกั้น จนถึงวินาทีสุดท้ายการสลายการชุมนุมเดินหน้าฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ฉีดน้ำผสมสีเพื่อระบุตัวบุคคล ต่อด้วยฉีดน้ำผสมสารเคมีทำให้แสบตา ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง จนผู้ชุมนุมต้องล่าถอยใช้กว่า 4 ชม.จึงควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมด ภาพที่ปรากฏถูกประณามการกระทำที่รุนแรงต่อนักศึกษาที่ต่อสู้อุดมการณ์ด้วยมือเปล่า แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ "ตำรวจ" เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจึงถูกมองเป็น "ศัตรู" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            จากสถานการณ์การเมืองที่มีสารพัดม็อบ สารพัดกลุ่มก้อนที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มีมาก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการหาตัวว่าที่ "ผบ.ตร." คนที่ 12 ต่อจาก "บิ๊กแป๊ะ" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่เกษียณ "บิ๊กปั๊ด" มือขวาอดีต ผบ.ตร.ที่ช่วยค้ำรัฐบาลทหารมากว่า 7 ปี จึงได้รับความไว้วางใจจาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ กตช. ขึ้นเป็น ผบ.ตร.

                "บิ๊กปั๊ด" ในฐานะหัวหน้าควบคุมสั่งการ กอร.ฉ. และผู้นำองค์กรตำรวจ จึงเป็นหนังหน้าไฟ ถูกสังคมประณาม โจมตีใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน นักศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปกติภาพลักษณ์ของตำรวจก็มีต้นทุนต่ำทางสังคมอยู่ การใช้กำลังสลายการชุมนุมครั้งนี้ยิ่งถูกมองในแง่ลบมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ทางโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออกมาระบุ เป็นการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ ตามที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนด ขั้นตอนการปฏิบัติเป็นไปตามหลักสากล เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง

            มองย้อนกลับไปเมื่อม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ตำรวจยืนอยู่ตรงกลาง ถูกผลักเป็นฝ่ายตรงข้ามกับมวลชน ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญกับมวลชนในพื้นที่ สถานการณ์ความรุนแรงที่แตกต่างกันไป จวบจนถึงขั้นใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติในภาคสนามล้วนเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใช่มีแต่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติก็ได้รับบาดเจ็บ พิการตลอดชีวิตก็มีกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนก็เป็นคนไทยด้วยกัน เพียงแต่อยู่คนละหน้าที่

            เช่นเดียวกันกับครั้งนี้ วันสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บหลายนาย ความในใจของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ. ส.ต.อ.ราชันย์ โยธานัก ผบ.หมู่ กก.ตชด.34

            “ผมก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน..ไม่มีใครอยากมาทำร้ายกันหรอก ท่ามกลางความขัดแย้งไม้ได้อยู่ฝ่ายไหน ฝั่งหนึ่งเป็นตำรวจ อีกฝั่งเป็นพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้เกิดการปะทะ อยากให้ประชาชนทุกคนรักกันปรองดองกัน บ้านเมืองเราจะได้เดินต่อไปข้างหน้า อยากให้ทุกคนรักกันไว้จะได้เดินหน้าต่อไป”

            พล.ต.อ.สุวัฒน์ ในฐานะผู้นำองค์กรตำรวจ สื่อถึงตำรวจชั้นผู้น้อยที่ถูกเกณฑ์มาปฏิบัติหน้าที่ “เชื่อว่าตำรวจส่วนใหญ่ที่เขามา เขาเชื่อว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาทำในสิ่งที่ถูกต้อง มาทำหน้าที่ เขาไม่รู้ว่าใครเห็นด้วยกับใครอะไรยังไง เขามาทำหน้าที่รักษากฎหมายตามหน้าที่ของเขา เขาไม่ได้มาสู้รบกับใคร เราไม่ได้ตั้งเป้าให้ลูกน้องไปสู่รบปรบมือกับใคร แต่อยากให้เขาเข้าใจผู้บังคับบัญชา เมื่อมีหน้าที่ต้องทำเราก็ต้องทำ เราทำไปตามอำนาจหน้าที่ เป็นไปตามกรอบกฎหมายให้ ผมเชื่อว่าลูกน้องเราต้องไปสู้รบกับใคร ตำรวจเป็นขี้ข้าของกฎหมายที่บังคับให้เราทำอยู่ ของกฎกติกาบ้านเมือง วันนี้เราถือกฎกติกานี้อยู่ เรามีกฎกติกาอื่นให้เลือกไหม หรือเราไม่ต้องการระบอบการปกครองแบบนี้เหรอ วิธีการบริหารราชการปัจจุบันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องยึดถือ เราไม่ยึดถือแล้วใครจะยึดถือ เราเป็นคนรักษากติกา เรารักษากติกาของคนทั้งประเทศ ของคน 2 ฝั่ง 3 ฝั่งมันก็ต้องทำ ถ้าเราไม่ทำไม่มีคนอื่นทำ”

            นี่เป็นครั้งแรกที่ ผบ. "ปั๊ด" ออกมาชี้แจงในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ที่ถูกสังคมโจมตี รุมประณามใช้ความรุนแรงกับนักเรียน นักศึกษา เมื่อมองอีกด้านตำรวจหลายๆ คนที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นลูกหลานหรือเครือญาติของฝั่งมวลชน ไม่มีตำรวจคนไหนที่อยากเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน แค่ต่างคนต่างทำหน้าที่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"