ปาฐกถาของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในงานสัมมนาประจำปีของ TDRI เมื่อเร็วๆ นี้ เน้นเรื่อง “บทบาทภาครัฐ” ในภาวะที่กำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย
ผมนำมาอ้างหลายตอนแล้ว แต่วันนี้ขอนำเอาตอนสรุปที่ท่านพูดถึง “ข้อคิดของเต๋า 3 ข้อ” กับการนำมาใช้ปรับบทบาทของภาครัฐได้อย่างน่าสนใจ
ท่านพูดไว้อย่างนี้
1.สรรพสิ่งในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง
ถ้าย้อนมองดูพัฒนาการของประเทศที่ผ่านมา บางช่วงอาจช้า บางช่วงเร็ว บางช่วงพบว่ามีวิกฤติ ซึ่งก็เป็นความปกติธรรมดา เพราะสรรพสิ่งในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง
ที่ผ่านมาภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคมาเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับต้นของภูมิภาคคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวมดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับหลายสิบปีก่อน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เคยเหมาะสมในช่วงเวลาหนึ่งก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด
สำหรับปัจจุบันและอนาคต ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมองบทบาทของรัฐในฐานะกระบวนการที่ต้องมีพลวัต มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (on-going process)
เพราะการขาดการพัฒนาไม่ต่างอะไรจากการ “หยุดนิ่งอยู่กับที่” ในขณะที่บริบททางสังคมและเศรษฐกิจรอบตัวเรากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
อีกทั้งความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายด้าน
ไม่ว่าศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง
ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในแทบทุกพื้นที่
และการที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ
ทำให้การปฏิรูปบทบาทภาครัฐให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นวาระที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระยะต่อไป
เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ กติกา ทิศทางการพัฒนา และแรงจูงใจภาครัฐที่ขาดการพัฒนาก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบประมวลผลที่แสนจะโบราณ ที่ไม่สามารถให้บริการผู้ใช้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
และบทบาทของภาครัฐในระยะต่อไปจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ
(1) ประสิทธิภาพและความยั่งยืน
(2) โปร่งใสและตรวจสอบได้
(3) ความทั่วถึงเป็นธรรม
(4) การประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
และ (5) การสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ประเทศในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น
2.ในขาวมีดำ ในดำมีขาว
ปรัชญาเต๋ากล่าวไว้อย่างลึกซึ้งว่า
“ผู้ที่รู้จักกฎธรรมชาติจะเป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระก็จะไม่มีอคติ เมื่อไม่มีอคติก็จะเข้าใจในสิ่งทั้งปวง เมื่อเข้าใจในสิ่งทั้งปวงก็จะกว้างขวาง และเมื่อกว้างขวางก็จะเข้าถึงความจริง”
ความจริงที่ว่าในดำมีขาว ในขาวมีดำในทุกวิกฤติหรือทุกปัญหา ก็จะมีทางออกและโอกาส
วิกฤติโควิด-19 ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนทั่วโลกก็เช่นเดียวกัน
ในด้านหนึ่งก็ทำให้เห็นข้อจำกัดของภาครัฐในการจัดการกับปัญหาทั้งในมิติความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ความรวดเร็วในการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นโอกาสที่จะสามารถยกเครื่อง และปรับปรุงภาครัฐให้สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถที่จะเห็นขาวในดำ เห็นดำในขาวได้มากแค่ไหน
โจทย์ของงานสัมมนา “แฮกระบบราชการ เปลี่ยนระบบปฏิบัติการประเทศ”
ดร.ประสารตั้งข้อสังเกตว่า “การแฮก” มีลักษณะชั่วคราว
ถ้าแฮกแล้วไม่เกิดการปฏิรูปในส่วนใหญ่ที่ปัจจัยพื้นฐานด้วยแล้ว ผ่านไปไม่นานก็จะกลับสภาพเดิม คล้ายหนังสติ๊กยางที่ถูกทำให้ยืดออกชั่วคราว พอหมดแรงก็กลับไปสู่สภาพเดิม
เพราะฉะนั้น การแฮกต้องตามด้วยการปฏิรูประบบในส่วนใหญ่ด้วย
ตัวอย่าง การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คล้ายกับการแฮกระบบราชการด้านการศึกษา แต่ถ้าระบบใหญ่เขาไม่ปฏิรูป พลังการเปลี่ยนแปลงก็จะน้อยมาก
3.ท่ามกลางความวุ่นวาย มีความเรียบง่าย
ในด้านการปกครอง เล่าจื๊อศาสดาของเต๋าพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ในบริบทสังคมที่มีความหลากหลายซับซ้อน ผู้ปกครองควรคิดถึงหน้าที่ที่จะ ‘ไม่กระทำ’ หรือ ‘ปกครองแบบไม่ปกครอง’ ด้วย
เพราะว่า ความยุ่งยากในโลกนี้มิได้เกิดขึ้น เพราะการที่ยังไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ เท่านั้น แต่เกิดขึ้นเพราะการทำหรือมีสิ่งต่างๆ มากเกินไปด้วย
ยิ่งมีกฎเกณฑ์และข้อบังคับมากเท่าใด ประชาชนก็ยิ่งยากจนลงเท่านั้น
ยิ่งมีอาวุธมากเท่าใด ประเทศก็ยิ่งจะมีความยุ่งยากมากเท่านั้น
ยิ่งมีผู้ชำนาญงานที่ฉ้อฉลมากเพียงใด ก็จะยิ่งมีโครงการที่ร้ายกาจเกิดขึ้นเพียงนั้น
ยิ่งออกกฎหมายมากเท่าใด โจรผู้ร้ายและคนคดโกงก็ยิ่งจะมีมากเท่านั้น”
ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบันที่ซับซ้อนมากขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนบทบาท โดยเปลี่ยนบทบาทจาก operators หรือผู้ให้บริการ มาเป็นผู้สนับสนุนภาคเอกชน หรือ facilitators
โดยภารกิจของภาครัฐควรจะเป็นเรื่องที่ตลาดยังไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ไม่ดี ซึ่งผลจากการแข่งขันโดยเสรีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบในภาพรวม
ปรัชญาของเต๋ายังเห็นว่าควรจะมีการทบทวนให้มีกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้มีเท่าที่จำเป็น
ถ้าในยุคปัจจุบันก็คงเทียบได้กับการทำ Regulatory Guillotine การลดและตัดข้อกฎหมายต่างๆ ลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะลดโอกาสเกิดคอร์รัปชัน และลดปัญหา Red tape ในระบบราชการ
นอกจากนี้ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น
หลังจากที่ได้เตรียมการเรื่องนี้มานับสิบปี การกระจายอำนาจจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและเอื้อเศรษฐกิจเปิดกว้างและเป็นธรรมขึ้น
ในบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนแตกต่างกัน แทบเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลส่วนกลางจะสามารถตอบโจทย์ท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายได้ตรงจุด
คำถามที่มักได้ยินเมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ คือ ต้องกระจายอำนาจแค่ไหน
เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเพียงพอหรือยัง
เป็นการยากที่จะบอกหรือกำหนดเป็นตัวเลขชัดๆ แต่คิดว่าต้องกระจายอำนาจถึงจุดที่ท้องถิ่นและคนในท้องถิ่นจะสามารถตัดสินใจว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอย่างมากมายด้วยตัวเขาเอง
ท่ามกลางความซับซ้อนของโลกในปัจจุบัน การกลับไปหาความเรียบง่ายอาจจะเป็นคำตอบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |