19 ต.ค.63 - ที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทางเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันออกแถลงการณ์ต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
โดยน.ส.คอรีเยาะ มานุแข ตัวแทนสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่เยาวชนและประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบัน จนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งตั้งแต่วันที่ 13-18 ต.ค. มีการจับกุมผู้ชุมนุมและแกนนำอย่างน้อย 86 คน จำนวนนั้นมีเยาวชน 2 ราย มีผู้ถูกควบคุมตัวไปไว้ที่บก.ตชด. ภาค1 ถึง 7 ราย มีผู้ถูกดำเนินคดี 80 ราย ผู้ถูกคุมขัง 27 ราย ทางองค์กรร่วมจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.การชุมนุมตลอดวันที่ 13-18 ต.ค. เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 และข้อบทที่ 21 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง
น.ส.คอรีเยาะ กล่าวต่อว่า 2.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3.การใช้กำลังสลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อขยายอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการตรวจสอบตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 พร้อมทั้งยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ 4.การจับกุมและดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยเฉพาะมาตรา 110 เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินกว่าความเป็นจริง ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเพื่อคัดค้านการทำหน้าที่ของรัฐบาล และ5.กรณีไม่ว่าบุคคลใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดย่อมต้องการเข้าถึงสิทธิในการกระบวนการยุติธรรม การนำตัวผู้ถูกจับกุมไปบก.ตชด.ภาค 1 เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาส่งผลลิดรอนสิทธิ ทำให้ทนายและบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจเข้าถึงผู้ถูกจับกุมได้ยากลำบาก จึงขอเรียกร้องรัฐบาลดังนี้ ขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กทม. เนื่องจากไม่มีเหตุผลเพียงพอ ขอให้ปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทันที เนื่องจากผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การปฏิบัติการของรัฐบาลที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่มีการใช้ความรุนแรงจากผู้ชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง เป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีภัยร้ายแรงนั้นก็ยังไม่ปรากฏว่าจะมีภัยร้ายแรงคุกคามเกิดขึ้น ทั้งนี้นานาประเทศ สหประชาชาติ และประชาคมโลกจับตาและห่วงใยต่อสานการณ์ที่รัฐบาลใช้กำลังเข้าจับกุมและใช้รถฉีดน้ำสลายการชุมนุม โดยเรียกร้องทางการไทยห้ามใช้กำลังกับผู้ประท้วงอย่างสงบ
ด้านน.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คดีการเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะต้องได้รับการประกันตัว และไม่ควรถูกควบคุมตัว เพราะเป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพที่มีความคิดเห็นต่าง เมื่อรัฐใช้อำนาจไม่ชอบจำกัดสิทธิเสรีภาพ ศาลจึงต้องเป็นองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบและคุ้มครองประชาชน เมื่อรัฐมีความเข้มข้นใช้กฎหมายยกระดับทุกวัน แสดงว่าจะมีการจับกุมประชาชนเพิ่มเติม อยากเสนอให้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องประชาชน เพราะการชุมนุมทำได้ตามสิทธิ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่รัฐใช้กฎหมายมาปราบปรามประชาชน และขอเรียกร้องศาลว่าการออกหมายฉฉ.ต้องระมัดระวัง นอกจากนี้การใช้ค่ายทหารควบคุมตัวประชาชนไม่ได้เป็นประโยชน์ แต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ขณะที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 รองลงมาคือมาตรา 116 ที่แกนนำโดน นอกนั้นก็เป็นข้อหาเล็กน้อย แต่ทางเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกจับเป็นนักเรียน เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วจำเป็นต้องมีทนายความและนักกฎหมายเข้าไปให้คำปรึกษา และจะมีการเปิดรับสมัครทนายความเพิ่มเติม เพราะเชื่อว่าเรื่องไม่จบเท่านี้ และรัฐบาลจะกวาดจับผู้เห็นต่างอีก ทั้งนี้การออกคำสั่งการจับกุมคุมขังตามประมวลกฎหมายต้องนำตัวไปที่โรงพักหรือสน.พื้นที่ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับออกกฎเกณฑ์ให้นำตัวไปบก.ตชด. ทำให้ตัดโอกาสและกีดกันทนายความไม่ให้พบกับผู้ต้องหา ดังนั้นเราต้องคุยกับผู้มีอำนาจคือรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไป ส่วนเรื่องการใช้ค่ายทหารในจ.ชลบุรีนั้นก็ทำให้ทนายความมีความวิตกกังวล เพราะไม่รู้ว่าลูกความจะเป็นอย่างไร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |