คณาจารย์คณะวารสารฯ มธ. จี้รัฐบาลยุติการแทรกแซงและปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชน


เพิ่มเพื่อน    

19 ต.ค.63 - คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอให้ยุติการแทรกแซงและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน" มีเนื้อหาดังนี้ ตามที่มีเหตุการณ์การชุมนุมของประชาชน เยาวชน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งโดยภาพรวมเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามได้มีการใช้กำลังของรัฐต่อผู้ชุมนุมในการกระชับพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ข้อ 2 (ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือ ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร)

โดยมีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 ให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อ 4 แห่ง ได้แก่ Voice TV ประชาไท The reporters และThe STANDARD รวมถึงเพจของนักกิจกรรมคือ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH นั้น

คณาจารย์ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระชับพื้นที่ของรัฐ และต่อประกาศและคำสั่ง ดังกล่าว จึงขอเรียกร้องดังนี้

1. ขอให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งใดที่เป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภท เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในเชิงเปรียบเทียบด้วยตนเอง ดังนั้นการออกกฎระเบียบใดๆ เพื่อระงับหรือจำกัดสิทธิในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งไม่สมควรในการกำกับดูแลสื่อในระบอบประชาธิปไตย

2. ขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพสื่อได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ การเลือกปฏิบัติในการสั่งระงับหรือจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อบางราย ไม่อาจเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยแก่รัฐ แต่ยิ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการคัดกรองช่องทางการนำเสนอจากรัฐมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในทางปฏิบัติหากรัฐพบว่าสื่อใดนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง รัฐควรชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ ส่วนสื่อที่ละเมิดกฎหมาย รัฐสามารถใช้กฎหมายพื้นฐานที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในการดำเนินคดี

3. ขอให้สื่อนำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมอย่างรอบด้าน ขอให้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสถาบัน นำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ปราศจากการชี้นำต่อประชาชน เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การเพิ่มความขัดแย้งและใช้ความรุนแรง

4. ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงและอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุมจากการที่รัฐใช้กำลังเข้ากระชับพื้นที่กับผู้ชุมนุม จนเกิดการบาดเจ็บทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในทุกกรณี รวมทั้งแสดงการรับทราบข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุมโดยด่วน ในส่วนของผู้ชุมนุม เมื่อรัฐรับทราบข้อเสนอของผู้ชุมนุมแล้ว ขอให้ผู้ชุมนุมพิจารณาชะลอการชุมนุมไว้ชั่วคราว และเข้าร่วมเวทีการเจรจากับฝ่ายรัฐ เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธีร่วมกัน

คณาจารย์ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทน และร่วมมือกันอย่างที่สุด เพื่อพัฒนาสังคมประชาธิปไตยของไทยให้เติบใหญ่มั่นคงต่อไป

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
19 ตุลาคม 2563


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"