ผู้ว่า จ.สุพรรณบุรี (ที่ 5 จากซ้าย) มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น
สุพรรณบุรี/ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และขบวนองค์กรชุมชนจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563’ ทั่วภูมิภาค ประเดิมจัดมหกรรม ‘บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ที่ตำบลห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยซ่อมสร้างบ้านให้ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนรวม 269 ครัวเรือน พร้อมทั้งจัดงาน ‘มหกรรมชุมชน คนภาคกลางและตะวันตก...การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน’ โดยมีผู้แทน รมว.การพัฒนาสังคมฯ และ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมงาน ก่อนเคลื่อนขบวนไปจัดงานที่ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ น่าน ขอนแก่น และชุมพร เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบด้าน
องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาคร่วมกับภาคีต่างๆ เช่น สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน คนไร้บ้าน จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ และยื่นหนังสือข้อเรียกร้องด้านที่อยู่อาศัยให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดมหกรรม ‘บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’ ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ทั่วภูมิภาค คือ ภาคกลางและตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี ภาคตะวันออกที่ จ.ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ภาคเหนือที่ จ.น่าน ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น และภาคใต้ที่ จ.ชุมพร
ซ่อมสร้าง ‘บ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น’ 269 ครัวเรือน
โดยในวันนี้ (19 ตุลาคม) มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ตำบลห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เป็นแห่งแรก ภายในงานมีการซ่อมสร้างบ้านตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น’ ให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยและมีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในตำบลห้วยขมิ้น 1 หลังแรกจากทั้งหมด 269 ครัวเรือน โดยมีนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นประธานในพิธียกเสาเอกสร้างบ้าน มีผู้บริหาร พอช. นายอำเภอด่านช้าง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สุพรรณบุรี (พมจ.) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนประมาณ 350 คนเข้าร่วมงาน
นายสมพร สาลีอ่อน ผู้ประสานงาน คณะทำงานบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้น กล่าวว่า ตำบลห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มี 16 หมู่บ้าน ประชากรจำนวน 9,337 คน รวม 2,394 ครัวเรือน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ประมาณ 60% เป็นป่าและภูเขา และ 40% เป็นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ประชาชนประกอบอาชีพเกษตร และรับจ้างทั่วไป มีรายได้น้อย มีหนี้สิน ที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรม ครอบครัวอยู่กันอย่างแออัดแออัด ส่วนที่ดินเป็นที่ดินป่าไม้ ที่ดิน สปก. ที่ดินนิคมสร้างตนเอง และกรมชลประทาน ประชาชนครอบครองมานาน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
“จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน อบต.ห้วยขมิ้น และเครือข่ายที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยภาคกลางและตะวันตกจึงร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจัดตั้งคณะทำงานบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นขึ้นมาในช่วงกลางปี 2563 มีคณะกรรมการ 20 คน เริ่มตั้งแต่การสำรวจครัวเรือนที่เดือดร้อน อาชีพ รายได้ ต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่ เช่น แหล่งน้ำ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหา วางแผนการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ รวมทั้งจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นขึ้นมาเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนจาก พอช.” ผู้ประสานงานบ้านมั่นคงชนบทตำบลห้วยขมิ้นเล่าถึงความเป็นมา
จากการสำรวจข้อมูลดังกล่าว พบชาวบ้านที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมใน 14 หมู่บ้าน รวม 269 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 2,325 ครัวเรือน) จึงเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนการซ่อมสร้างจาก พอช. และได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 7,767,031 บาท (ครัวเรือนละ 8,000-40,000 บาทตามสภาพที่ต้องซ่อมสร้าง) เริ่มซ่อมสร้างบ้านหลังแรกในวันนี้ (19 ตุลาคม) และจะทยอยซ่อมสร้างเสร็จทั้งหมด 269 หลังภายในช่วงต้นปี 2565 โดยมีทีมช่างชุมชนในตำบลจำนวน 14 คนร่วมซ่อมสร้างบ้าน
ทั้งนี้บ้านหลังแรกเป็นของนางทามา ขุนณรงค์ อายุ 73 ปี เดิมอาศัยอยู่กับสามีและลูกหลาน แต่สภาพบ้านทรุดโทรม โดนปลวกกิน จึงต้องสร้างบ้านใหม่เป็นบ้านชั้นเดียวขนาด 4 X 6 ตารางเมตร ได้รับงบสนับสนุนจาก พอช.จำนวน 34,607 บาท ค่าวัสดุก่อสร้างประมาณ 70,000-80,000 บาท ส่วนที่เหลือครอบครัวจะสมทบเอง คาดว่าจะใช้เวลาสร้างประมาณ 1 เดือน
ยกเสาเอกสร้างบ้านหลังแรกตำบลห้วยขมิ้น
ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรีเตรียมขยายผลแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งจังหวัด
นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ในจังหวัดสุพรรณบุรียังมีประชาชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลและจัดทำโครงการเหมือนที่ตำบลห้วยขมิ้น ตนจึงจะนำแนวทางนี้เป็นตัวอย่างและนำไปขยายในอำเภออื่นๆ ต่อไป โดยอยากฝากให้ พมจ.สุพรรณบุรีนำไปขยายผล เพราะเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่สำคัญ
นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่า จ.สุพรรณบุรี
“เมื่อมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว ต่อไปก็จะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น มีอาหารดี มีการศึกษา มีอนามัยถ้วนทั่ว มีรายได้ดี มีการประกอบอาชีพที่สุจริต มีจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยกันปลูกต้นไม้ จัดการขยะ จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และอยู่กันอย่างมีความสุข” ผู้ว่าฯ จ.สุพรรณบุรีกล่าว
นางสาวสมสุข บุญยะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวเรื่อง ‘ทิศทางการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน’ มีใจความโดยสรุปว่า การยกเสาเอกหรือลงเสาเข็มต้นแรกที่บ้านห้วยขมิ้นนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น และจะขยายไปสู่ความร่วมมือกันทั้งจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างรอบด้าน โดยมีประเด็นที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.การได้มาเรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะจะนำไปสู่การจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องการทำมาหากิน และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน นอกจากนี้โครงการบ้านมั่นคงชนบทจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องเศรษฐกิจ การทำมาหากิน เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยเอาชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ทำให้ลูกหลานมีงานทำ ไม่ต้องไปขายแรงงานต่างถิ่น
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา
2.ภาพรวมของการพัฒนาในโลกสมัยใหม่ ชุมชนมีความตื่นตัว มีความพร้อม มีความอยากที่จะพัฒนาตนเอง เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาทั้งเมืองและทั้งจังหวัด เช่นที่ตำบลห้วยขมิ้น แสดงให้เห็นถึงพลังการพัฒนาที่มากมายมหาศาล และทำให้สังคมได้เห็นพลังเหล่านี้ และ 3.ตัวอย่างที่ตำบลห้วยขมิ้นเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยที่กินได้ โดยมีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างโอกาสการพัฒนา
“การลงเสาเอกที่ตำบลห้วยขมิ้นในวันนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ โดยมีหน่วยงานภาคีทุกหน่วยงานมาร่วมกัน และจะขยายไปทั้งจังหวัดต่อไป” นางสาวสมสุขกล่าว
แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่มีฐานะยากจนแล้ว พอช.ยังสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนจำนวน 100,000 บาท นอกจากนี้ในช่วงต่อไป ชาวบ้านตำบลห้วยขมิ้นจะร่วมกันพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ด้านสังคม ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ขณะที่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 269 ครัวเรือนจะออมเงินเพื่อเป็นทุนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างน้อยครัวเรือนละ 50 บาทต่อเดือน
สภาพพื้นที่ตำบลห้วยขมิ้นส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขา
ตัวอย่างการพัฒนาชุมชนในช่วงต่อไป การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 1.สำรวจข้อมูลที่ดินและที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมและพัฒนาข้อมูลให้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 2.หนุนเสริม สนับสนุน เพื่อให้มีติดตามผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดิน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.พัฒนาศักยภาพคณะทำงานหมู่บ้าน องค์กรชุมชนในพื้นที่ด้านกฏหมายที่ดิน กฏหมายสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้อง 4.บูรณาการเชื่อมโยง ข้อมูลที่ดินกับ อบต./ป่าไม้/สปก./นิคมสร้างตนเอง
การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและรายได้เพิ่ม 1.รวบรวมข้อมูลกลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล 2.ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน (ถ่านไม้ไผ่/น้ำตาลอินทรีย์/ผ้าทอ/ย่าม/แหนม/ฯลฯ) 3.ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย เพื่อลดการใช้สารเคมี
การท่องเที่ยวชุมชน 1.ประชุมวิเคราะห์แลกเปลี่ยน สถานการณ์ จุดท่องเที่ยวของแต่ละหมู่บ้าน และแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 2.รวบรวม/จัดทำข้อมูลจุดท่องเที่ยว ของแต่ละหมู่บ้าน / แผนที่ท่องเที่ยว / เส้นทางท่องเที่ยว 3.จัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเชื่อมโยงแผนกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง 4.การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน / คนรุ่นใหม่ในชุมชน ในการมีส่วนร่วมการท่องเที่ยวคู่กับการอนุรักษ์ชุมชน 5.พัฒนาต่อยอดแหล่งท่องเที่ยว โดยบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น
การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1.รวบรวมและจัดทำข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ พัฒนาจิตอาสา โดยให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าชุมชนเป็นคณะทำงานในระดับชุมชน 3.การส่งเสริม และพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์แย้ให้อยู่คู่กับชุมชน 4.ส่งเสริมการสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน เช่น พัฒนาพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สีเขียว และการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในการจัดหาพันธุ์ไม้มาปลูกในพื้นที่ป่าชุมชน /ที่สาธารณะหมู่บ้าน
การแก้ไขปัญหาหนี้สิน 1.สำรวจ รวบรวมข้อมูลหนี้สินรายครัวเรือน 2.ให้ความรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือน 3.จัดเวทีวิเคราะห์หนี้สินครัวเรือน เชื่อมโยงกลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ เด็กและเยาวชนเข้าร่วม พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมาย แนวทางแก้ไข และแผนการแก้ไขหนี้ร่วมกัน ฯลฯ
พอช.และขบวนองค์กรชุมชนร่วมจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 5 ภูมิภาค
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากจะจัดที่ตำบลห้วยขมิ้น อ.ด่านช้าง ในวันที่ 19 ตุลาคมแล้ว ยังมีการจัดงานที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ในระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคมด้วย โดยมีการจัดงาน‘มหกรรมชุมชน คนภาคกลางและตะวันตก ตอน...การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน’ โดยมีผู้แทน รมว.การพัฒนาสังคมฯ นายสากล ม่วงศิริ และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมงาน
ประชาชนที่มาร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ตำบลห้วยขมิ้น
ภายในงานจะมีการเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก การประกาศเจตนารมณ์การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย การจัดนิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในภาคกลางและตะวันตก ตลาดนัดความรู้ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” เวทีเสวนา ฯลฯ และข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่า เพื่อนำเสนอแก่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ
นอกจากนี้ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ จะมีการการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 ทั่วภูมิภาค คือ ภาคกลางและตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี ภาคตะวันออกที่ จ.ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ภาคเหนือที่ จ.น่าน ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น และภาคใต้ที่ จ.ชุมพร
ทั้งนี้ประเทศไทยมีครัวเรือนทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ 21.4 ล้านครัวเรือน แต่ยังขาดแคลนที่อยู่อาศัยและมีความต้องการที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 5 ล้านครัวเรือน โดยรัฐบาลมีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยอาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน และการเคะแห่งชาติประมาณ 2 ล้านครัวเรือน โดยขณะนี้ สถาบันฯ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทุกประเภทไปแล้วกว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ ประมาณ 249,000 ครัวเรือน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |