19 ต.ค. 2563 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวสุนทรพจน์ ในการร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 102 ว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวติดลบ 7.5% ก่อนจะขยายตัวดีขึ้นในปี 2564 ที่ 4-5% โดยในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ซึ่งแนวทางหลักคือการมุ่งเน้นการลดการระบาด และลดผลกระทบ รวมถึงกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น
"ผลการดำเนินงานของ ศบค.และ ศบศ.ประสบผลสําเร็จอย่างมากจนทําให้ไทยเป็นประเทศที่มีจํานวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก" นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ ในระยะยาวรัฐบาลจะมุ่งที่การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างทั่วถึง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพิ่มเพิ่มศักยภาพการเติบโตของประเทศ
สำหรับสภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2563 กระทรวงการคลังมองว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 และแม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ คลี่คลายลง แต่กลุ่มประเทศยากจนและประเทศขนาดเล็ก (SmallStates) ซึ่งมีข้อจํากัดในการด้านทรัพยากรจะถูกกระทบค่อนข้างมาก ในมุมมองจึงขอให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือประเทศเหล่านี้เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ในระยะต่อไป มองว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำและความล่าช้าของการพัฒนาวัคซีน ดังนั้น ไทยจึงขอให้ประชาคมโลกร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาด ร่วมกันพัฒนาวัคซีนโดยเร็วและกระจายอย่างทั่วถึง
นายอาคม กล่าวอีกว่า ไทยชื่นชมธนาคารโลกในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็วซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อผู้ที่ยากจน และผู้เปราะบางได้เป็นอย่างดี ขอให้ธนาคารโลกร่วมมือกับประชาคมนานาชาติในการลดผลกระทบและฟื้นฟู สภาพเศรษฐกิจโลก ชื่นชมความพยายามของธนาคารโลกในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน 43 ประเทศผ่านกลไกการริเริ่มการพักชําระหนี้ (Debt Service Suspension Initiative: DSSI) รวมทั้งสนับสนุน การสร้างความยั่งยืนทางการคลังโดยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการบริหารจัดการหนี้
นอกจากนี้ สนับสนุนการทบทวนโครงสร้างการถือหุ้นของ International Bank for Reconstruction and Development (IBRD) และชื่นชมความคืบหน้าในการทบทวนสิทธิออกเสียงของ International Development Association (IDA) ซึ่งจะทําให้โครงสร้างการถือหุ้นและสิทธิออกเสียงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานะ ของประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ดี มุมมองสําหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศนั้น กระทรวงการคลังเห็นว่าในปัจจุบัน ความสามารถการชําระหนี้ของภาครัฐและเอกชนในโลกค่อนข้างน่ากังวล คลังสนับสนุนความพยายามของไอเอ็มเอฟในการลดความเปราะบางและสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รวมตลอดจนการพักชําระหนี้ โดยผ่านกลไก DSSI
และยังสนับสนุนให้ไอเอ็มเอฟเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการคิดค้นมาตรการทางการเงินเพื่อช่วย สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไทยรับทราบถึงการตอบสนองอย่างรวดเร็วของไอเอ็มเอฟในการให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินแก่ประเทศต่างๆ ที่ประสบวิกฤต และสนับสนุนการทบทวนทั่วไปของโควตา (General Review of Quatas: GRQ) ภายในเดือน ธ.ค. 2566 เพื่อให้ไอเอ็มเอฟมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |