เครือข่ายภาคประชาชนยกขบวนร้องบิ๊กตู่ลาออก ชี้เปิดสภาตั้งกรรมาธิการพิเศษก่อนวิกฤตรัฐล้มเหลว


เพิ่มเพื่อน    

18 ต.ค.63-  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน เครือข่ายภาคประชาชนนำโดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกันแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความขัดแย้ง

นายเมธา แถลงข้อเรียกร้อง ครป. และเครือข่ายภาคประชาชน 5 ข้อ 1.เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดความคิดการสลายการชุมนุมและยุติความรุนแรง เนื่องจากการชุมนุมยังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมและรัฐบาลได้ละเมิดหลักการสลายการชุมนุมและกฎการใช้กำลัง โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงซึ่งสร้างความขัดแย้งและทำลายนิติรัฐ โดยใช้วิธีแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยสันติ และอย่าใช้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง

2.การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากล  ขอให้ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมโดยสันติและช่วยกันจัดการปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้เกิดการยั่วยุ การใช้ความรุนแรงและปลุกระดมความเกลียดชัง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข่าวปลอมจากบุคคลที่แฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ หากเกิดเหตุความรุนแรงและสถานการณ์วิกฤตที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปคุกคามจับกุม อันจะขยายความขัดแย้งรุนแรงต่อไปจนยากแก้ไขและเกิดเหตุจลาจลอลหม่านอันเป็นวิกฤตรัฐที่ล้มเหลว 3.รัฐบาลต้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากปฏิบัติการการสลายการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสั่งให้ปฏิบัติการและผลกระทบทางจิตใจ รวมถึงขอให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและให้สิทธิ์เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม 

4.ทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งคือ นายกรัฐมนตรีต้องทบทวนความผิดของตนเองที่ผ่านมาและเสียสละด้วยการลาออกเพื่อความสงบของบ้านเมือง และให้มีการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกวุฒิสภางดออกเสียง โดยขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกและแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน และ 5.ขอให้เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นทางออกในวิกฤตประชาธิปไตย โดยตั้งกรรมาธิการพิเศษ และดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเจตจำนงค์ของประชาชนเพื่อประกาศใช้กติกาที่เป็นธรรมโดยเร็ว 

รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องผิดพลาด ไม่สมเหตุสมผลและฟังไม่ขึ้น เพราะว่าการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบสันติแล้วประกาศยุติการชุมนุมก่อนจะประกาศใช้กฎหมาย ผลกระทบที่ตามมาคือทำให้ผู้ประกาศเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจแล้วก็ทำให้ขาดสติและโอกาสการไตร่ตรองในการใช้อำนาจอย่างมีเหตุผล ซึ่งนำไปสู่การขยายให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการจัดการกับการชุมนุมอย่างที่เราเห็นกันในขณะนี้ การชุมนุมที่เกิดจากกระแสความคิดของคนในสังคมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่จะไปปิดกั้นไม่เกิดการชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การใช้อำนาจตามภาวะฉุกเฉินเพื่อจับกุมแกนนำโดยหวังว่าการชุมนุมจะสงบลงหรือจะว่าไม่เกิดการชุมนุมนั้นเป็นความคิดที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนไม่ได้ไปร่วมชุมนุมเพราะแกนนำแต่เป็นเพราะความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ ในทางกลับกันยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นและทำให้การชุมนุมยิ่งขยายตัว นอกจากนี้การสลายการชุมนุมก็เป็นการสร้างความรุนแรงโดยรัฐเองโดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธ ไม่ได้บุกรุกสถานที่ราชการและไม่มีสัญญาณสร้างความรุนแรงใดๆ และก็เป็นเพียงนักเรียนนิสิตนักศึกษา รัฐบาลจะต้องทบทวนว่าถ้าหากว่ามีการชุมนุมในวันต่อไปข้างหน้าถ้าหากว่ายังใช้การตัดสินใจเช่นนี้มันก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ขยายความรุนแรงยิ่งขึ้น

นายพิชายยังเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็วเพื่อหยิบประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ขึ้นมาพิจารณาแล้วก็ดำเนินการรับหลักการ เพื่อที่จะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ตามท้องถนนเข้าไปสู่เวทีประชุมในสภาเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างมีเหตุผล และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคมและอนาคตของพรรคการเมืองว่าจะตัดสินใจร่วมเดินไปสู่ทางแยกของรัฐบาลทรราชร่วมกัน หรือจะร่วมกันมีส่วนในการยุติความรุนแรงจากรัฐบาล เนื่องเพราะพล.อ.ประยุทธ์คงอยู่ในแวดวงการเมืองอีกไม่นาน แต่พรรคการเมืองจะต้องอยู่ต่อไปในเส้นทางการเมืองและประชาธิปไตยอีกยาวนาน 

นายสมชาย หอมลออ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหลงทางในการใช้กำลังสลายการชุมนุมและไม่ควรใช้ปืนฉีดสีซึ่งจะทำให้มีผู้บาดเจ็บจากสารเคมีเรื้อรัง และยิ่งปราบปรามก็จะยิ่งตอกย้ำความคิดความเชื่อของประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ทางสังคมและการเมืองเพื่ออนาคตของพวกเขาเอง  การที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมรับฟังเสียงของประชาชนทำให้การคลี่คลายปัญหายากขึ้น และคดีการชุมนุมแต่ละคดีล้วนเป็นคดีทางการเมืองที่เกิดจากรัฐบาลเอง ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากประชาชนหรือนักเรียนนิสิตนักศึกษา และมีพื้นฐานความขัดแย้งที่มาจากการรัฐประหาร 2557 โดยครองอำนาจอยู่ 5 ปีโดยไม่มีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้นแล้วสืบทอดอำนาจตนเองโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งทางออกจะต้องแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองเท่านั้น

เมื่อวานนี้มีการประกาศจัดตั้งสถานที่ควบคุมตัวเพิ่มเติมขึ้นมาอีกในค่ายทหารจังหวัดชลบุรี นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะนำพาประเทศไปสู่อีกยุคหนึ่งที่เคยเรียกกันว่ายุคทมิฬภายใต้การปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการสังหารประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ใน 44 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะหาทางออกเพื่อประเทศชาติ โดยการร่วมกันลดอุณหภูมิของความขัดแย้งลงให้มากที่สุดซึ่งเป็นทางออกของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้นายสมชาย ยังเรียกร้องให้ศาลอย่ายึดถือตามตัวบทกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกบังคับใช้โดยมิได้คำนึงว่ากฎหมายฉบับนั้นเป็นกฎหมายที่เป็นธรรมหรือไม่ ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและขัดต่อหลักของนิติธรรมหรือไม่ การยื่นฝากขังในข้อหาละเมิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือข้อหาใดที่มีลักษณะเกี่ยวพันหรือเกี่ยวกับกิจกรรมในทางการเมืองต้องตรวจสอบและอย่างน้อยต้องให้ประกันตัว เหตุผลการไม่ให้ประกันตัวจะอ้างว่าเพราะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปนำชุมนุมต่อไม่ได้ เนื่องจากศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุดและไม่ได้วินิจฉัยว่าการชุมนุมนั้นผิดหรือไม่ การตัดสินล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วยหลักของนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

นางสาวลัดดาวัลย์ กล่าวว่า เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองรู้สึกกังวลและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมถึงนโยบายและวิธีการของรัฐบาลในการสลายการชุมนุมและปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมซึ่งส่วนมากเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชน รวมถึงผู้หญิงและเด็ก ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุ มรัฐบาลควรปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะหลักการใช้การฉีดน้ำแรงดันสูงควรใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่มีการชุมนุมกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ เพราะมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่การเสียชีวิตบาดเจ็บสาหัสหรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง จึงไม่ได้สัดส่วนกับหลักการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามมาตรฐานสากล

เครือข่ายผู้หญิงจึงขอประณามการกระทำของรัฐบาลและเรียกร้องต่อองค์กรและหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และองค์กรอิสระ สถาบันตุลาการ ต้องยืนยันหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติของประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน สุดท้ายขอให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ยุติการจับกุมและควบคุมประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  ปัจจุบันนี้ เราพยายามปฏิรูปการศึกษาโดยเปลี่ยนให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อความพยายามที่จะให้เด็กคิดเองทำเอง มีพฤติกรรมตัวเอง ต้องการแสดงออกด้วยความคิดของตัวเอง แต่กลับถูกมองว่าเด็กไร้เดียงสา ขณะที่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีเรื่องของการสื่อสาร ระบบการศึกษาไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ให้กับสังคมแล้ว การเรียนรู้ในโลกต่างหากที่จะช่วยให้สังคมเราพัฒนาบนความหลากหลาย บนความแตกต่าง ขณะนี้มีการอันเฟรนด์กันมากมายในโลกอินเตอร์เน็ต มีการโต้เถียงมากมาย คิดว่าเราต้องยอมรับว่าเมื่อสังคมไม่เป็นแบบแผนเดียวกันแล้วมีความแตกต่างจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไรโดยสันติและเคารพยอมรับกัน ดังนั้นการพูดคุยการทำความเข้าใจจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

เธอระบุด้วยว่า สังคมต้องเปิดใจนึกว่าต้องฟัง ต้องยอมที่จะพูดคุยแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดเห็นและความคิดของเรา ครอบครัวที่พ่อแม่จะไม่พูดกับลูกจะเป็นปัญหารากฐานสำคัญของสังคมในอนาคต หน้าที่ของรัฐบาลจึงต้องรับฟัง จริงจัง จริงใจกับเสียงเรียกร้องของเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติในเวลานี้ เขาเหล่านั้นเรียนรู้มาเยอะกับสังคมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เขาได้รับทราบข้อมูลข่าวสารมากมาย เขามีวิธีคิดของตัวเอง มีความเป็นตัวเองสูงมีความมั่นใจที่จะแสดงออกเพราะอนาคตของประเทศอยู่ในมือของเขาที่เขาจะต้องเป็นผู้กำหนด

นายบุญแทน ระบุด้วยว่า ตนเองเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักเรียนนิสิตนักศึกษาในเวลานี้ และความรุนแรงทั้งหมดจะเกิดจากรัฐทั้งสิ้นในยุคที่ผ่านมา ทั้งจากการปราบปรามสลายการชุมนุมในเวลากลางคืน การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงขาดความเหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับเหตุการณ์อย่างชัดเจน จนกลายเป็นว่ารัฐเป็นผู้สร้างสถานการณ์และความรุนแรงเสียเอง ทำให้ความศรัทธาต่อรัฐตกต่ำลงอย่างมาก ประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ ทั้งทางการเมือง ทั้งทางเศรษฐกิจ การว่างงานและผลกระทบจากโควิด-19 อาจนำพาประเทศไทยไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลวได้ใน ดังนั้นทางออกในเวลานี้ รัฐสภาจะต้องออกมาแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาระบบนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งรัฐบาลได้กระทำการขัดแย้งแม้กระทั่งต่อรัฐธรรมนูญที่ตนเองร่างขึ้นมาเสียเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"