การประชุมโต๊ะกลม "คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ที่ จ.เชียงใหม่ จัดโดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กับภาคีเครือข่าย
สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงในประเทศไทยช่วงสองปีที่ผ่านมา อันเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ต่อเนื่องจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ชีวิตของผู้คน หลากหลายอาชีพพต้องประสบชะตากรรม ตกงาน ขาดอาชีพ ขาดรายได้ เพราะการล็อกดาวน์ หยุดนิ่งกิจกรรมต่างๆ ในประเทศ และอีกด้านมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน ซึ่งเวลานี้สถานการณ์ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง ประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้ ปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่เพื่อรอดพ้นภาวะวิกฤตินี้ไปให้ได้
จึงเป็นที่มาของโครงการ "คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อศึกษาว่าอุปสรรคอยู่ตรงไหน วิเคราะห์ภาพรวมของไทยก่อนและหลังโควิด-19 ให้เห็นภาพชัดเจนทุกด้าน เพื่อจะมาหาทางรอดไปด้วยกัน มีการเดินสายประชุมโต๊ะกลมรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ อีสานที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ และภาคตะวันออกที่ชลบุรี จัดโดยแปดองค์กร ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและการสหกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสำนักข่าวไทยพับลิก้า เป็นผู้ประสานงานโครงการ
ดร.ณชา อนันต์โชติกุล สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ หนึ่งในผู้ศึกษาของโครงการ บอกว่า โครงการศึกษาด้วยข้อมูลเชิงโครงสร้าง ศึกษาดัชนีอาชีพที่เสี่ยงถูกทดแทนด้วยระบบหุ่นยนต์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมิติอาชีพที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมาก เสี่ยงโควิด และกลุ่มอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ อาชีพที่กระทบมากระยะสั้น เช่น ภาคบริการ เป็นไปได้ยากที่จะ Work From Home ซึ่ง 1 ใน 3 แรงงานไทย ถ้าปรับตัวไม่ทัน กระทบแน่นอน ช่วง 2-3 ปี จะเห็นงานหายไป คนถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี จากเวทีต่างๆ จะได้ผลวิเคราะห์ความพร้อมของสังคมไทยในการเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญได้รูปแบบขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังวิกฤติโควิด และได้ข้อเสนอต่อรัฐบาลปรับปรุงยุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนาประเทศ
จากประชุมโต๊ะกลมที่ จ.เชียงใหม่ ฉายภาพสถานการณ์ในพื้นที่ เศรษฐกิจภาคเหนือ และสภาพปัญหาที่รุนแรง โอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเหนือประกอบด้วย 17 จังหวัด จำนวนประชากร 11.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17 ของประเทศ สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคเหนือต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งประเทศ 7 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP ประเทศ สาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ มี 4 สาขา ได้แก่ เกษตรกรรม สัดส่วนร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจภาค (GRP) มาจากสินค้า 5 ประเภท คือ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำใย และปศุสัตว์ อุตสาหกรรม สัดส่วนร้อยละ 20 ของเศรษฐกิจภาค มาจากสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องดื่ม ภาคบริการ สัดส่วนร้อยละ 59 ของเศรษฐกิจภาค มาจากการท่องเที่ยวร้อยละ 26 ของ GRP ภาคเหนือ
ผอ.อาวุโสแบงก์ชาติกล่าวว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภาคเหนือ 35 ล้านคน เป็นชาวไทย 30 ล้านคน ต่างชาติ 5 ล้านคน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน ร้อยละ 29 รองลงมาคือ ฝรั่งเศส สหรัฐ อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่สำคัญตั้งแต่ พ.ศ.2524 ถึงปัจจุบัน จากการพึ่งพาภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตและภาคบริการมากขึ้น ปี 2524 ภาคเกษตรร้อยละ 40 ภาคการผลิตร้อยละ 9 และภาคบริการร้อยละ 45 ปี 2561 ภาคเกษตรลดลงเหลือร้อยละ 16 ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และภาคบริการเพิ่มเป็นร้อยละ 59 ขยายตัวสูงจากเที่ยวบินภายในประเทศ หนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เติบโต จีนเองส่งเสริมคนออกเดินทางท่องเที่ยว ภาคเหนือไทยได้รับความนิยมมาก ภาคการผลิตเพิ่มจากการสร้างโรงงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำแพงเพชร และขยายการลงทุนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่กระจายความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมในปี 2554
“แรงงานส่วนใหญ่อยู่ภาคเกษตร สะท้อนจากปี 2546-2550 มีร้อยละ 56 แม้ว่าจะเป็นภาคที่มีผลิตภาพต่ำและภาคอุตสาหกรรมโตขึ้น แต่ในปี 2556-2560 ยังมีแรงงานภาคเกษตร ร้อยละ 45 แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถย้ายไปภาคอุตสาหกรรมได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและการศึกษาน้อย สะท้อนถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุในภาคเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 เราต้องดูว่าโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ยังเหมาะสมหรือไม่ เรายังจะพึ่งพาการท่องเที่ยวแบบนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร" โอรสกล่าว
ผอ.อาวุโสแบงก์ชาติกล่าวอีกว่า หลังเกิดโควิด ในภาพรวมทุกภาคเศรษฐกิจหดตัวลงเกือบทั้งหมด ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวหดตัวมาก เพราะกำลังซื้อลดลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำ สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน สินค้าคงทนหมวดยานยนต์ลดลงร้อยละ 16.8 จากรายได้ของผู้บริโภคและสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศจากภาครัฐและการประกาศวันหยุดยาวสนับสนุนการบริโภคได้บางส่วน มีการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการใช้น้ำมันมากขึ้นตัวเลขเดือน ก.ค. ขยายตัวร้อยละ4.3
"ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากมีมาตรการผ่อนคลายในปลายไตรมาสที่ 2ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมาก สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยาน 5 แห่งในภาคเหนือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ลดลงร้อยละ 90 ภายหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังลดลงอยู่ร้อยละ 59.5 ส่วนรายได้เกษตรกรหดตัว เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวเช่นกัน ภัยแล้งทำให้ภาคเกษตรมีผลผลิตต่ำ อีกทั้งคำสั่งซื้อน้อยลงจากสถานการณ์โควิด แต่หมวดอาหารมีความต้องการเพิ่มขึ้นบ้าง การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา" โอรสกล่าว
อนุวัตร ภูวเศรษฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ หอการค้าไทย
ด้านอนุวัตร ภูวเศรษฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน เราผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่จะมองอนาคตกันอย่างไรเป็นความท้าทายที่หอการค้าไทยและทุกภูมิภาคได้หารือกันตลอด แต่มีความเชื่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นและรายได้ของผู้ประกอบการจะปรับตัวดีขึ้น แต่มีความกังวลการระบาดซ้ำระลอกที่ 2 เหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการคาดการณ์ว่าจะมีวัคซีนในช่วงปลายปี 2564 ต้องอยู่ในสภาวะหวาดระแวงไปอีกหนึ่งปีครึ่ง หลังจากมีวัคซีนจะต้องใช้เวลาอีก 1 ปี กว่าที่ทุกอย่างจะกลับเข้าที่ นักท่องเที่ยวจะกลับมา คนใช้ชีวิตปกติ เราจะผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไร
“ที่ผ่านมาแม้ธนาคารจะมีมาตรการลดต้นลดดอกเบี้ย แต่หลายโรงแรม หลายธุรกิจยังไม่กลับมาเปิด สะท้อน บางกิจการไปต่อไม่ได้ ที่น่าห่วงสุดประชาชนจะอยู่รอดได้อย่างไร คำตอบจะอยู่ได้ ถ้ามีรายได้ มีงานทำ ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยเงินเยียวยา ไม่ใช่รัฐโปรยเงินให้แต่ละเดือน ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือ SME หรือผู้ประกอบการที่พอจะไปได้แต่ขาดทุนหมุนเวียนให้อยู่ได้ จะช่วยให้เกิดการจ้างแรงงาน แทนที่รัฐบาลจะต้องใช้เงิน 4 เท่า เพื่อจุนเจือคนว่างงาน 1 คน ถ้ามีการจ้างพนักงาน 100 คน จะมีอย่างน้อย 300 คน ที่ได้รับรายได้จากการทำงานมาจุนเจือครอบครัว ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการไปต่อไม่ได้ คือ ค่าจ้างแรงงานและดอกเบี้ย ถ้ารัฐสนับสนุนค่าจ้างแรงงานร้อยละ 30-40 จะช่วยให้ดำเนินการต่อไปได้ มาตรการล่าสุดที่สนับสนุนค่าจ้างแรงงานจบใหม่ครึ่งหนึ่ง ก็ช่วยแบ่งเบานายจ้างได้ แต่ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบจะทำอย่างไร จะรักษาแรงงานเดิมไว้ได้อย่างไร” อนุวัตรกล่าว
บนเวทีโต๊ะกลม เลขาธิการสภาพัฒน์ภาคเหนือ เสนอทางรอดของคนที่ได้รับผลกระทบว่า แม้ลดการใช้จ่าย แต่หนี้สินไม่ลดและอาจมีการกู้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทุกคนต้องตระหนักรู้ตัวว่าจะประคองตัวเองให้รอดพ้นวิกฤติได้อย่างไร ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังสะเปะสะปะ อยากเห็นทิศทางที่ชัดเจน เช่น ภาคเหนือ มี 2 ปัญหาที่สำคัญ คือ สังคมผู้สูงอายุและสิ่งแวดล้อมรัฐบาลอาจจะชี้ทิศทางว่า ธุรกิจหรือกลุ่มที่สร้างงานตอบสนอง 2 ประเด็นดังกล่าว จะสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ธุรกิจหรือกลุ่มที่สร้างคนมารองรับสังคมผู้สูงอายุ เราต้องเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ การฟื้นฟู อาหาร การออกกำลังกาย และหลักสูตรดูแลผู้สูงวัยมีการเรียนการสอนสร้างทักษะ สร้างบุคลากรขึ้นมา หรือกระตุ้นการรักษาสิ่งแวดล้อม ถ้ารัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจนจะมีภาคธุรกิจพร้อมจะทำตาม งบประมาณที่ใช้จ่ายจะเห็นผลมากขึ้น
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้มาพร้อมโควิด โควิดจบ สิ่งแวดล้อมยังไม่จบ ฉะนั้น เมื่อมีงบประมาณ และทรัพยากรที่ว่างจากภารกิจด้านอื่น ก็ชี้เป้า ตั้งธงให้ชัด มาฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อม หลังโควิดจบ อาจมีนักท่องเที่ยวกลับมาจำนวนมาก ซึ่งกระทบสิ่งแวดล้อมแน่นอน รัฐต้องมีแผนงานฟื้นฟูเรื่องน้ำ อากาศ ป่าไม้ ฝุ่นพิษ และขยะ มีการจ้างงานที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างขยะเชียงใหม่ ฝังกลบ 90% บ่อขยะเต็ม ต้องย้ายที่ สร้างปัญหาที่ใหม่ ต้องส่งเสริมภาคธุรกิจทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดอุตสาหกรรมพลาสติก โฟม เปลี่ยนมาหนุนแพ็กเกจสีเขียว ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตร จะช่วยลดขยะ สร้างรายได้ภาคเกษตร" อนุวัตรย้ำสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้โควิด
โสภณ แท่งเพ็ชร์ ผอ.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ
โสภณ แท่งเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือมีประเด็นทางสังคมที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนมากที่สุด และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าภาคอื่น 10 ปี จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ที่มีแผนให้คุมกำเนิด นอกจากนี้ ภาคเหนือมีคนยากจน 6.68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.85 ของประเทศ แม่ฮ่องสอนยากจนมากที่สุด ร้อยละ 49 รองลงมาคือตากและน่าน รัฐบาลควรกำหนดแนวทางการพัฒนาเลย เช่น ภาคอีสานหลุดพ้นจากความยากจน อีกปัญหาคือ แรงงานปกติสัดส่วนผู้ว่างงานประมาณร้อยละ 0.8-1.0 หรือประมาณ 5 หมื่นคน แต่ในไตรมาสที่ 2 สัดส่วนผู้ว่างงานก้าวกระโดดไปเป็นร้อยละ 2.1
อนาคตหลังโรคระบาดโควิด-19 (Post Covid-19) โสภณกล่าวว่า ต้องมองเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับเกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน จะเสริมศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นชุมชนอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ ในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงเกษตร และกรมพัฒนาชุมชนในการทำโคกหนองนาโมเดลประมาณ 1 หมื่น 4 พันล้าน เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืน ต้องหันกลับมามองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของการมีภูมิคุ้มกัน นี่คือ สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและอยากเห็นทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย
ส่วนที่สองคือการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ และเรื่องสุขภาพ ซึ่งภาคเหนือตอนบนเคยประสบความสำเร็จเรื่อง Medical Hub แล้ว วันนี้ภาคเอกชนอยากให้ สศช. ร่วมกับภาคีต่างๆ ขับเคลื่อนเรื่อง Wellness ปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่กระบวนการแผน 13 และแผนฯ ภาครอบใหม่ จังหวัด กลุ่มจังหวัดต้องเริ่มกระบวนการการจัดทำแผนรอบใหม่ โดยต้องทำภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโรคโควิด-19 อีกประเด็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูงเน้นการท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้สูง อาจเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ รัฐบาลมีนโยบายกระจายความเจริญลงสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ ในภาคเหนือ เน้นเชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน และเชียงราย เรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor - NEC) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative LANNA) ตรงนี้เป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโต(Growth Center) เพื่อไม่ให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศกระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ภาคตะวันออกเปิดประชุม "โต๊ะกลมคิดใหม่ ไทยก้าวต่อ" ที่ จ.ชลบุรี
สำหรับภาคตะวันออกเปิดประชุมโต๊ะกลม “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ที่ จ.ชลบุรี มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ร่วมแลกเปลี่ยนเข้มข้น
ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประชาชนไทยจะสามารถรับมือหรือปรับเปลี่ยนในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจหลังโควิด โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในทุกภาค อย่างที่ภาคตะวันออก ภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับหรือสร้างแบรนด์ให้มั่นคง การหดตัวด้านท่องเที่ยวมีผลต่อแรงงานหรือผู้ประกอบการบางธุรกิจ ส่วนภาคเกษตรกระทบไม่มาก เป็นสิ่งที่เราเน้นในการนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ หลังรับฟังครบทุกภาคจะสรุปแนวทางและหารูปแบบที่น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ต่อยอดไปในระดับนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันปิดทองหลังพระฯ
ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ผู้แทนแบงก์ชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 สร้างความไม่แน่นอนต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน และอาจกระทบศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและส่งออกในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับเดิม ทำให้มีผู้ว่างงานจำนวนมาก การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มมาตรการภาครัฐ และธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง และสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูงและไม่ทราบว่าจะจบลงเมื่อไร ควรใช้ policy spread หรือภาวะดอกเบี้ยต่ำ ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด และเตรียมสำรองเงินไว้เผื่อเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้าย
“ดังนั้น นโยบายภาครัฐจะต้องประสานกันเพื่อลดผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจ รักษาศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้เกิดการปรับตัวไปสู่โลกใหม่หลัง โควิด-19 เช่น นโยบายการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์จะมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสนับสนุนการจ้างงานและช่วยธุรกิจ รวมถึงรักษาระดับศักยภาพการเติบโต นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง และดำเนินมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเพิ่มเติมและนโยบายด้านอุปทานปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งธุรกิจ ทุน และแรงงาน ให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่หลังการระบาด” ดร.จิตเกษมกล่าว
พยัพ แจ้งสวัสดิ์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาคตะวันออกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นกลุ่ม EEC และกลุ่มที่ 2 คือ จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว ทำให้มีที่แตกต่างจากกลุ่มที่ 1 ภาคอุตสาหกรรม มีผลต่อการจ้างงาน การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่กลับประเทศเพราะโควิด-19 และแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง ยังส่งผลถึงโครงการลงทุนของภาครัฐที่เป็นการลงทุนใหม่ ต้องเลื่อนระยะเวลาการเบิกจ่ายออกไป และบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ จนทำให้ภาคเอกชนบางส่วนชะลอการลงทุนออกไปก่อน ดังนั้น ข้อเสนอในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ การเดินหน้าต่อเนื่องในโครงการเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (EEC) เพราะจะทำให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีธุรกิจดำเนินต่อเนื่องและการจ้างงาน การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐต้องให้มีการจัดซื้อจาก SME เฉพาะในไทย ไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งผ่านมติ ครม.เแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC
ด้านธีรินทร์ ธัญญวัฒนากุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ความจริงเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยก่อนช่วงโควิด-19 ตั้งแต่สงครามการค้า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา พอโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจทั้งประเทศได้รับผลกระทบหนัก อย่างพัทยาสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 70-80% นักท่องเที่ยวหาย 100% แต่ในความโชคร้ายก็ยังเป็นความโชคดีของภาคตะวันออก เพราะมีพื้นที่ใกล้กับกรุงเทพฯ พอเปิดล็อกดาวน์ได้ฟื้นตัวทิศทางที่ดีขึ้น โรงแรมทยอยเปิด ร้านอาหารพอได้ขายในวันเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้น บทบาทของหอการค้าในการช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ขับเคลื่อนไปได้ โดยส่งเสริมเรื่องของนวัตกรรม ดิจิตอล เทคโนโลยีให้กับ SME ให้เข้าถึงได้ง่าย และสามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างยั่งยืน แจกทุนคูปองดิจิตอล จำนวน 10,000 บาทให้กับผู้ประกอบรายเล็ก-ขนาดกลาง สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ในการจัดการบริหารร้านให้เป็นระบบ เพื่อเข้าสู่การแข่งขันทางการตลาด ซึ่งจะสร้างสมดุลสภาพเศรษฐกิจให้เข้มแข็งได้
ทางรอดด้านเกษตร พูลลาภ อุไรงาม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้เราเห็นได้ชัดมากขึ้นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ภาคเกษตรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ก่อนโควิดสนับสนุนเกษตรกรให้ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ทั่วประเทศกว่า 2 แสนราย เข้าสู่ช่วงวิกฤติโควิด-19 เกิดโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อรองรับแรงงานที่กลับมายังบ้านเกิด และพัฒนาเกษตรกรเดิมที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ได้เพิ่มศักยภาพและพัฒนาการเกษตรด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากสร้างงาน สร้างรายได้ ยังช่วยรักษาดิน น้ำ ป่า ให้สมบูรณ์ โดยได้มีการเปิดรับสมัครเข้ามาแล้วตั้งแต่สิงหาคมประมาณ 30% และต้องดำเนินการคัดเลือกอีกในขั้นตอนต่อไป
พงษ์อนันต์ จันทร์ไพร ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระยอง แสดงความคิดเห็นว่า กิจกรรมหรือแคมเปญที่ ททท.ได้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่าง กินทุเรียนก่อนใครไประยอง ชวนคนมาเที่ยวสวนผลไม้ เมื่อเราต้องรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดโอกาสในการขายเป็นกินทุเรียนก่อนใคร สั่งออนไลน์จากระยอง ผลตอบรับที่ดีมาก จะประเมินผลเพื่อจัดทำแคมเปญต่อเนื่อง ส่วนปัญหาการท่องเที่ยวชุมชนที่อยากแลกเปลี่ยน ทุกคนมีสมาร์ทโฟน สามารถจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม หรือร้านอาหารต่างๆ ผ่านเอเยนต์ออนไลน์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่ใช่ของคนไทย ผลประโยชน์ไม่เข้าประเทศ เสนอให้ภาครัฐส่งเสริม SME พัฒนาแอปพลิเคชันของคนไทยเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในประเทศ
ทั้งนี้ คณะวิชาการโครงการ "คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” จะรวบรวมงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ ได้เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้คนไทยแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มายังมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ www.pidthong.org อีกช่องทางด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |